กองพลน้ำเงิน (Blue Division): อาสาสมัครสเปนช่วยเยอรมันรบสงครามโลกครั้งที่สอง

ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง สเปนประกาศวางตัวเป็นกลาง แม้ผู้นำสเปนคือนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) จะขึ้นสู่อำนาจได้เพราะได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีและอิตาลีสมัยสงครามกลางเมืองสเปนก็ตาม แต่เขาก็ต้องการรอดูสถานการณ์สงครามไปก่อน ไม่ผลีผลามประกาศสงครามในทันที อย่างไรก็ตามเมื่อเยอรมนีชนะฝรั่งเศสได้อย่างรวดเร็วในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1940 นายพลฟรังโกก็เริ่มมีแนวคิดที่จะเข้าร่วมสงคราม เป็นพันธมิตรกับเยอรมนี เขาไปพบกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ระหว่างวันที่ 23 – 24 ตุลาคม ค.ศ.1940 เพื่อเจรจาเกี่ยวกับเงื่อนไขที่สเปนจะเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ โดยนายพลฟรังโกต้องการให้ฮิตเลอร์ยกอาณานิคมของฝรั่งเศสในแอฟริกาเหนือให้สเปนเป็นการแลกเปลี่ยน แต่ฮิตเลอร์ไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขนี้ได้เพราะจะส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมของรัฐบาลฝรั่งเศสวีชี (Vichy France) ซึ่งเป็นหุ่นเชิดของเยอรมนี แผนการเข้าร่วมสงครามของสเปนจึงถูกระงับไป

ภาพฮิตเลอร์ (ซ้าย) พบกับนายพลฟรังโก (ขวา) วันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1940 (Public Domain)

ต่อมาเมื่อเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตในวันที่ 22 มิถุนายน ปี ค.ศ.1941 กระแสที่จะให้สเปนเข้าร่วมสงครามก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง เพื่อแก้แค้นที่สหภาพโซเวียตเคยแทรกแซงสงครามกลางเมืองสเปน กระทรวงการต่างประเทศสเปนเสนอแนวคิดที่จะให้การสนับสนุนเยอรมนีต่อนายพลฟรังโกแทบจะทันที และต่อมานายทหารบางส่วนในกองทัพบกสเปนก็เห็นชอบด้วย นายพลฟรังโกจึงมีคำสั่งให้กองทัพบกสเปนจัดตั้งหน่วยทหารเพื่อสนับสนุนเยอรมนีอย่างไม่เป็นทางการ เยอรมนีตอบรับข้อเสนอของสเปนในวันที่ 24 มิถุนายน แม้จะผิดหวังที่สเปนไม่ได้ประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการก็ตาม

สเปนเริ่มประกาศรับอาสาสมัครในวันที่ 27 มิถุนายน ใช้เวลาเพียง 5 วันก็มีผู้สมัครมากกว่า 18,000 คน (ตลอดสงครามโลกครั้งที่สองมีอาสาสมัครเข้าร่วมมากกว่า 47,000 คน) จากทั้งทหารในกองทัพสเปนซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาพักร้อน ทหารผ่านศึกจากสงครามกลางเมือง กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ และนักศึกษา อย่างไรก็ตามเนื่องจากอาสาสมัครเหล่านี้ไม่สามารถใช้เครื่องแบบของกองทัพสเปนได้ เพราะสเปนไม่ได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ จึงมีการคิดเครื่องแบบสำหรับอาสาสมัครเหล่านี้โดยเฉพาะ ใช้สีที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มการเมืองในสเปนมาประกอบกัน หนึ่งในนั้นคือเสื้อสีน้ำเงินของกลุ่มฟาลังจิสต์ (Falangists) เป็นที่มาของชื่อกองพลน้ำเงิน (Blue Division หรือในภาษาสเปนคือ División Azul)

กำลังพลของกองพลน้ำเงินชุดแรกออกเดินทางโดยรถไฟไปยังเยอรมนีในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ.1941 เพื่อเข้ารับการฝึกเป็นเวลา 5 สัปดาห์ ช่วงแรกๆกองพลน้ำเงินยังจัดกำลังตามแบบของสเปนคือกองพลหนึ่งมี 4 กรม แต่เมื่อกองพลนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเยอรมันอย่างเป็นทางการ ใช้ชื่อว่ากองพลทหารราบที่ 250 ก็มีการจัดกำลังใหม่เป็น 3 กรมตามแบบของเยอรมัน (กรมทหารเยอรมันหนึ่งกรมมีกำลังพลมากกว่ากรมทหารสเปน) ตั้งชื่อกรมตามเมืองสำคัญของสเปนได้แก่มาดริด วาเลนเซีย และเซวิลล์ แต่ละกรมประกอบด้วยทหารราบ 3 กองพัน แต่ละกองพันมี 4 กองร้อย และกองร้อยอาวุธหนัก 2 กองร้อย นอกจากนี้ยังมีกรมทหารปืนใหญ่อีก 1 กรม ประกอบด้วยกองพันปืนใหญ่ 4 กองพัน หลังจากจัดหน่วยตามนี้แล้ว ปรากฏว่ายังมีกำลังพลเหลืออีก 1 กองพันจึงจัดตั้งขึ้นเป็นกองพันจู่โจมพิเศษใช้ปืนกลมือเป็นอาวุธหลัก แต่ต่อมากองพันนี้ประสบความสูญเสียอย่างหนักจึงถูกยุบไปในที่สุด นอกจากกองทัพบกแล้ว ยังมีนักบินสเปนอาสาสมัครมาด้วย จัดตั้งเป็นฝูงบินน้ำเงิน (Blue Squadron หรือภาษาสเปนคือ Escuadrilla Azul) ใช้เครื่องบินขับไล่ Messerschmitt BF-109 และ Focke-Wulf 190 ฝูงบินนี้สามารถยิงเครื่องบินรบโซเวียตตกมากกว่า 160 ลำภายในเวลา 2 ปี โดยสูญเสียนักบินไปเพียง 20 นาย ก่อนจะถอนตัวในปี ค.ศ.1943

วันที่ 31 กรกฎาคม กองพลน้ำเงินปฏิญาณตนต่อฮิตเลอร์และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเยอรมันอย่างเป็นทางการ ก่อนจะเดินทางโดยรถไฟไปยังโปแลนด์ในวันที่ 28 สิงหาคม และเดินเท้าเข้าไปในสหภาพโซเวียต ถือว่าน่าผิดหวังไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้กำลังพลหลายนายเคยดูโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพเยอรมันว่ามีการใช้งานรถกึ่งสายพานทำการรุกคู่กับรถถังอย่างแพร่หลาย จึงมีความหวังว่าอย่างน้อยก็น่าจะได้รถบรรทุกมาใช้งานบ้าง แต่สุดท้ายกลับได้รับเพียงม้ามาแบกสัมภาระแทน

ภาพอาสาสมัครสเปนสังกัดกองพลน้ำเงินในสนามเพลาะในแนวรบด้านตะวันออก (Public Domain)

แม้จะขาดแคลนยานพาหนะและอาวุธหนัก แต่อาสาสมัครสเปนก็ทำการรบอย่างกล้าหาญ ในช่วงฤดูหนาวระหว่างปี ค.ศ.1941 – 1942 เมื่อกองทัพเยอรมันถูกโซเวียตตอบโต้กลับจนต้องถอยทัพออกจากกรุงมอสโก มีทหารเยอรมันหลายหน่วยตกอยู่ในวงล้อม กองบัญชาการเยอรมันก็เรียกใช้งานทหารจากกองพลน้ำเงินฝ่าวงล้อมโซเวียตเข้าไปช่วยทหารเยอรมันออกมา แสดงผลงานเป็นที่ประจักษ์ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1942 กองพลน้ำเงินก็เคลื่อนพลขึ้นเหนือ ไปวางกำลังทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเลนินกราด (ปัจจุบันคือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ซึ่งกองทัพเยอรมันล้อมเมืองอยู่ ในช่วงแรกๆสถานการณ์ค่อนข้างสงบ แต่เมื่อกองทัพเยอรมันพ่ายแพ้ในสมรภูมิสตาลินกราด ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1943 ทหารเยอรมันจำนวนมากก็ถูกเคลื่อนย้ายจากแนวรบเลนินกราดไปเสริมกำลังทางใต้ ส่งผลให้วงล้อมที่เลนินกราดบางลง โซเวียตฉวยโอกาสนี้ทำการรุกเพื่อทลายวงล้อมเลนินกราด กองทัพที่ 55 ของโซเวียตบุกโจมตีที่มั่นของกองพลน้ำเงินอย่างรุนแรง แม้ฝ่ายโซเวียตจะมีกำลังพลมากกว่าถึง 7 เท่าและมีอาวุธหนักรวมถึงรถถังด้วย แต่อาสาสมัครสเปนก็ยังรักษาแนวรบไว้ได้

เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มเป็นฝ่ายได้เปรียบ ก็เริ่มมีกระแสกดดันให้สเปนถอนกำลังพลที่ส่งไปช่วยเยอรมนีกลับประเทศ นายพลฟรังโกสั่งถอนกำลังในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1943 แต่อาสาสมัครสเปนบางส่วนปฏิเสธที่จะกลับประเทศ รัฐบาลสเปนจึงต้องมีคำสั่งย้ำอีกครั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน แต่ทว่าสุดท้ายก็ยังมีคนสเปนที่ไม่ยอมกลับประเทศเกือบ 3,000 คน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเยอรมัน ทำการรบต่อจนถึงที่สุด นอกจากนี้ยังมีคนสเปนอีกจำนวนหนึ่งที่ลักลอบข้ามชายแดนฝรั่งเศส-สเปนเพื่อมาเข้าร่วมกับกองทัพเยอรมันด้วย ฮิตเลอร์ยกย่องกองพลน้ำเงินว่ามีขีดความสามารถเทียบเท่ากองพลทหารที่ดีที่สุดของเยอรมันเลยทีเดียว

ภาพกำลังพลของกองพลน้ำเงินในแนวหน้าเลนินกราด ค.ศ.1943 (Public Domain)

ตลอดช่วงเวลาประมาณสองปีครึ่งที่กองพลน้ำเงินปฏิบัติการในแนวรบด้านตะวันออก มีคนสเปนอาสาเข้าร่วมกองพลนี้สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมากกว่า 47,000 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 4,954 คน บาดเจ็บ 8,700 คน ถูกจับเป็นเชลย 372 คน ในจำนวนนี้ 286 คนพึ่งจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 2 เมษายน ค.ศ.1954 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงไปแล้วถึง 9 ปี

สวัสดี

08.04.2021

แสดงความคิดเห็น