
(Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
ในปี ค.ศ.1930 กองทัพโซเวียตมีแผนจะจัดหาปืนใหญ่รุ่นใหม่สำหรับทดแทนปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตรรุ่น M1909 และ M1910 ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยตอนแรกโซเวียตได้นำปืนใหญ่ทั้งสองรุ่นมาอัพเกรดเป็น M1909/37 และ M1910/30 ตามลำดับ แม้จะช่วยให้มีความทันสมัยมากขึ้น สามารถใช้งานได้จนถึงช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในระยะยาวโซเวียตก็มองว่าแค่อัพเกรดปืนใหญ่รุ่นเก่านั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการพัฒนาปืนใหญ่รุ่นใหม่มาใช้งานอยู่ดี
ในปี ค.ศ.1934 กองทัพโซเวียตรับมอบปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตร รุ่นปี 1934 ผลิตโดยโรงงาน KB-2 เข้าประจำการ แม้ปืนใหญ่รุ่นนี้จะมีข้อเสียหลายอย่าง แต่ก็ยังมีขีดความสามารถสูงกว่ารุ่น M1910/30 อย่างไรก็ตามหลังจากกองทัพโซเวียตรับมอบปืนใหญ่รุ่นใหม่เข้าประจำการได้เพียง 8 กระบอก ในปี ค.ศ.1935 โรงงาน KB-2 ก็ถูกยุบ และสายการผลิตก็ถูกปิดไปโดยปริยาย
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้โซเวียตก็เริ่มศึกษาอาวุธจากต่างประเทศมากขึ้น มีผู้เสนอแนวคิดให้โซเวียตเลิกใช้งานปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตร เปลี่ยนไปใช้ปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตรเหมือนประเทศอื่นๆ ข้อดีของปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตรคือกระสุนมีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักเบากว่า ส่งผลให้มีความคล่องตัวมากกว่า แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีข้อเสียคือกระสุนมีความรุนแรงน้อยกว่า แม้กระสุนทั้งสองขนาดจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน แต่ปัจจัยชี้ขาดสำคัญคือก่อนหน้านี้โซเวียตไม่มีประสบการณ์ในการผลิตกระสุนขนาด 105 มิลลิเมตรมาก่อน ในขณะที่กระสุนขนาด 122 มิลลิเมตรนั้น โซเวียตมีสายการผลิตรองรับอยู่รับ และในคลังก็มีกระสุนขนาดนี้สำรองไว้จำนวนมากอยู่แล้ว สุดท้ายโซเวียตจึงตัดสินใจใช้กระสุนขนาด 122 มิลลิเมตรต่อไป ไม่เปลี่ยนไปใช้ขนาด 105 มิลลิเมตรเหมือนประเทศอื่นๆ
ต่อมาระหว่างปี ค.ศ.1938 – 1939 โซเวียตได้ทำการทดสอบปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตรรุ่นใหม่ 3 รุ่น รุ่นที่ชนะการประกวดและได้เข้าประจำการในกองทัพโซเวียต ออกแบบโดยฟิโอดอร์ เปตรอฟ (Fyodor Petrov) ชื่อรุ่น M-30 หรือ M1938 ตามปีที่ออกแบบ เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1939 มีน้ำหนัก 2.45 ตัน ใช้พลประจำปืน 8 นาย ระยะยิงไกลสุด 11.8 กิโลเมตร อัตราการยิง 5 – 6 นัดต่อนาที
เมื่อเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1941 กองทัพโซเวียตพึ่งรับมอบปืนใหญ่ M-30 เข้าประจำการประมาณ 1,667 กระบอกเท่านั้น เมื่อเทียบกับปืนใหญ่รุ่นอื่นๆถือว่าเป็นเพียงส่วนน้อย แต่เมื่อสงครามดำเนินไป โซเวียตก็สูญเสียปืนใหญ่รุ่นเก่าๆไปจำนวนมาก สัดส่วนของปืนใหญ่ M-30 จึงค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นปืนใหญ่หลักของกองทัพโซเวียตไปในที่สุด ภารกิจหลักของ M-30 คือเป็นปืนใหญ่วิถีโค้งยิงสนับสนุน ทำลายที่มั่นและสิ่งกีดขวางของข้าศึก และในกรณีจำเป็นก็สามารถใช้ต่อสู้รถถังได้ โดยกระสุนขนาด 122 มิลลิเมตรมีความรุนแรงพอจะทำลายรถถังเบาและยานเกราะอื่นๆของเยอรมันที่มีเกราะบางได้ แม้แต่รถถังหนัก Tiger I ถ้าถูกยิงเข้าจริงๆก็อาจเสียหายหนักได้เช่นกัน ต่อมาในปี ค.ศ.1943 โซเวียตได้พัฒนากระสุนเจาะเกราะ HEAT รุ่นใหม่สำหรับปืนใหญ่ M-30 ส่งผลให้สามารถใช้ในภารกิจต่อสู้รถถังได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฝ่ายเยอรมันก็ประทับใจในขีดความสามารถของปืนใหญ่รุ่นนี้เช่นกัน เมื่อยึดได้ก็จะนำไปใช้งานต่อ ใช้ชื่อว่า sFH-396(r)
กองทัพโซเวียตใช้งานปืนใหญ่ M-30 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อยู่ในสายการผลิตถึงปี ค.ศ.1960 ผลิตออกมาทั้งหมดกว่า 19,266 กระบอก ก่อนจะทดแทนด้วยปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตรรุ่น D-30 ระหว่างสงครามเย็น โซเวียตส่งปืนใหญ่ M-30 ให้ประเทศพันธมิตรทั่วโลกใช้งาน เป็นหนึ่งในอาวุธที่แพร่หลายที่สุด ปัจจุบันยังคงมีใช้งานในหลายสิบประเทศทั่วโลก รัสเซียเองก็ยังเก็บปืนใหญ่รุ่นนี้สำรองไว้ในคลัง และมีการส่งบางส่วนไปสนับสนุนกองทัพรัฐบาลซีเรียด้วย
สวัสดี
12.04.2021