ZiS-3 (M1942) ปืนใหญ่สนามของโซเวียตที่ถูกผลิตออกมามากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพปืนใหญ่สนาม ZiS-3 ขนาด 76 มิลลิเมตรของสหภาพโซเวียต (Torin/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

ช่วงปลายปี ค.ศ.1940 วาซีลี กราบิน (Vasiliy Gavrilovich Grabin) วิศวกรนักออกแบบปืนใหญ่ สังกัดโรงงานผลิตปืนใหญ่หมายเลข 92 ของสหภาพโซเวียตได้เริ่มออกแบบปืนใหญ่สนามขนาด 76 มิลลิเมตรรุ่นใหม่ โดยนำลำกล้องปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตรของปืนใหญ่สนาม F-22USV ซึ่งกองทัพโซเวียตใช้อยู่เดิม มาติดปลอกลดแสงและติดตั้งบนแคร่ปืนของปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง ZiS-2 ขนาด 57 มิลลิเมตร ส่งผลให้ได้ปืนใหญ่สนามขนาด 76 มิลลิเมตรรุ่นใหม่ที่มีแรงถีบลดลง มีน้ำหนักเบา และราคาถูกลง อย่างไรก็ตามเนื่องจากกราบินได้ลอบออกแบบปืนใหญ่รุ่นใหม่นี้โดยพลการ จึงต้องเก็บแบบไว้เป็นความลับ ไม่ได้นำเสนอต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพในทันที

ต่อมาเมื่อเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1941 กองทัพโซเวียตสูญเสียปืนใหญ่สนามขนาด 76 มิลลิเมตรที่ใช้งานอยู่ไปจำนวนมาก ต้องรีบผลิตของใหม่มาทดแทนให้เร็วที่สุด กราบินจึงได้โอกาสนำ ZiS-3 เข้าสู่สายการผลิต แทนที่จะผลิต F-22USV ตามที่ได้รับคำสั่งมา ZiS-3 ตัวต้นแบบถูกผลิตออกมาภายในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1941 ทำการทดสอบในเดือนกรกฎาคม และเข้าสู่สายการผลิตจำนวนมากในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน อย่างไรก็ตามแม้ ZiS-3 จะมีขีดความสามารถเหนือกว่า F-22USV แต่ในช่วงแรกๆ กองทัพโซเวียตก็ปฏิเสธที่จะรับมอบปืนใหญ่รุ่นนี้เข้าประจำการเพราะถือว่าผลิตออกมาโดยพลการ หลังจากเจรจากันอยู่นาน สุดท้ายกราบินจึงต้องทดสอบ ZiS-3 ให้อิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) ผู้นำโซเวียตดูด้วยตัวเอง สตาลินประทับใจมากเรียกปืนใหญ่รุ่นนี้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของการออกแบบปืนใหญ่ (a masterpiece of artillery systems design) กองทัพโซเวียตจึงต้องยอมนำ ZiS-3 มาทดสอบอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1942 และรับมอบเข้าประจำการในที่สุด

ทหารโซเวียตประทับใจขีดความสามารถของ ZiS-3 มาก เพราะมีความแม่นยำสูง บำรุงรักษาง่าย น้ำหนักเบา (ประมาณ 1.1 ตัน) สามารถเคลื่อนย้ายที่ตั้งได้ด้วยรถบรรทุก รถจี๊ป หรือแม้แต่ให้พลประจำปืนช่วยกันลากก็ได้ สามารถใช้ได้ทั้งในภารกิจยิงสนับสนุนและต่อสู้รถถัง โดย ZiS-3 สามารถเจาะเกราะรถถังเบาและรถถังกลางของเยอรมันในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สองได้ทุกรุ่น จนกระทั่งเยอรมันนำรถถังกลาง Panther และรถถังหนัก Tiger I ออกมาใช้งาน ZiS-3 ถึงเริ่มประสบปัญหา จนกองทัพโซเวียตต้องนำปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง ZiS-2 ขนาด 57 มิลลิเมตรมารับมือรถถังรุ่นใหม่ของเยอรมันแทน แต่กองทัพโซเวียตก็ยังใช้งาน ZiS-3 ต่อไปจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยผลิตออกมามากกว่า 103,000 กระบอก ปัจจัยสำคัญที่โซเวียตสามารถผลิตปืนใหญ่รุ่นนี้ออกมาได้มาก เกิดจากการที่กราบินออกแบบ ZiS-3 ให้มีความซับซ้อนน้อย ส่งผลให้สามารถใช้แรงงานไร้ฝีมือผลิตปืนใหญ่รุ่นนี้ออกมาจำนวนมาก โดยที่คุณภาพไม่ลดลงแต่อย่างใด สามารถใช้ฝึกฝีมือแรงงานก่อนจะป้อนให้โรงงานอื่นๆได้ด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง กองทัพโซเวียตก็ทยอยปลดประจำการ ZiS-3 ทดแทนด้วยปืนใหญ่สนาม D-44 ขนาด 85 มิลลิเมตร ซึ่งมีขีดความสามารถในการเจาะเกราะรถถังได้สูงกว่า แต่ความคล่องตัวน้อยกว่าเพราะน้ำหนักมาก

สวัสดี

12.04.2021

แสดงความคิดเห็น