
วันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1916 รถถังถูกใช้งานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยกองทัพอังกฤษระหว่างสมรภูมิแม่น้ำซอมม์ (Battle of the Somme) ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จุดประสงค์หลักเพื่อทำลายเครื่องกีดขวางเช่นรั้วลวดหนาม เปิดทางให้ทหารราบในสงครามสนามเพลาะซึ่งยืดเยื้อมานาน อย่างไรก็ตามการใช้งานรถถัง Mark I จำนวน 32 คันเป็นครั้งแรกนั้นไม่ประสบความสำเร็จมากนัก รถถังหลายคันชำรุดเสียหาย บ้างก็ติดหล่มหรือตกลงไปในคู มีเพียงไม่กี่คันเท่านั้นที่ฝ่าแนวสนามเพลาะของเยอรมันเข้าไปได้ แต่รถถังไม่กี่คันนี้เองก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อขวัญกำลังใจของทหารเยอรมันที่พึ่งเผชิญหน้ากับอาวุธชนิดใหม่นี้เป็นครั้งแรก รถถังเปรียบเสมือนปีศาจที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามาอย่างเชื่องช้า โดยที่อาวุธทั้งปืนไรเฟิล ปืนกล และสะเก็ดระเบิดจากปืนใหญ่ทำอะไรมันไม่ได้เลย ทหารเยอรมันต้องใช้ปืนใหญ่ยิงใส่ตรงๆเท่านั้น จึงจะหยุดรถถังอังกฤษได้ กองทัพเยอรมันต้องหาวิธีรับมืออาวุธชนิดใหม่นี้อย่างเร่งด่วน
เยอรมันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการคิดค้นกระสุน Reversed bullet คือใช้กระสุนปกติแต่ติดหัวกระสุนกลับด้าน และบรรจุดินปืนมากขึ้น ในภารกิจต่อสู้รถถัง และต่อมาก็มีการพัฒนากระสุนเจาะเกราะ K bullet ขนาด 7.92 x 57 มิลลิเมตร สามารถเจาะเกราะหนา 12 – 13 มิลลิเมตรได้ที่ระยะ 100 เมตร นำมาใช้เป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1917 กระสุนสองชนิดนี้มีขีดความสามารถพอรับมือรถถัง Mark I ของอังกฤษได้ แต่ต่อมาอังกฤษได้พัฒนารถถังรุ่น Mark IV ซึ่งหุ้มเกราะหนาขึ้น ส่งผลให้ต้องพัฒนากระสุนรุ่นใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นคือขนาด 13.2 x 92 มิลลิเมตรมาใช้งาน กระสุนชนิดนี้สามารถเจาะเกราะหนา 26 มิลลิเมตรได้ที่ระยะ 100 เมตร แน่นอนว่าเมื่อมีกระสุนขนาดใหม่ ก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาปืนรุ่นใหม่มาใช้ควบคู่กันด้วย ซึ่งก็คือปืนไรเฟิลต่อสู้รถถัง Mauser 1918 T-Gewehr (ตัว T ย่อมาจาก Tank) หรือ M1918 นั่นเอง เข้าประจำการในปี ค.ศ.1918

ปืนไรเฟิลต่อสู้รถถัง T-Gewehr มีน้ำหนัก 18.5 กิโลกรัม ถูกออกแบบอย่างง่ายๆโดยการนำปืนไรเฟิลประจำกายของทหารราบมาขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น ติดด้ามจับและขาทรายเพิ่มเข้าไป แต่ทว่ากลับไม่มีการติดตั้งระบบลดแรงสะท้อนของปืนที่เพิ่มขึ้นมาตามขนาดแต่อย่างใด แม้แต่ยางรองพานท้ายก็ไม่มี ส่งผลให้เมื่อทำการยิงติดต่อกันได้ไม่กี่นัด ก็ต้องมีการเปลี่ยนตัวพลยิง และถ้าพลยิงประทับปืนไม่ถูกท่า ก็อาจได้รับบาดเจ็บถึงขั้นไหล่หลุดเลยทีเดียว
แม้ T-Gewehr จะเข้าประจำการในปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่เยอรมันก็สามารถผลิตปืนรุ่นนี้เข้าประจำการได้มากกว่า 15,800 กระบอก เป็นปืนไรเฟิลต่อสู้รถถังรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่ถูกใช้งานในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สวัสดี
20.04.2021