Totenkopf มีมาก่อนนาซี: ความเป็นมาของตรากะโหลกไขว้ในกองทัพเยอรมัน

ภาพเครื่องบินทิ้งระเบิด Junkers Ju-88 ของกองทัพอากาศเยอรมันในฝรั่งเศส เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1940
(Bundesarchiv, Bild 101I-405-0593-36 / Striemann / CC-BY-SA 3.0)

เมื่อพูดถึงหน่วย SS (Schutzstaffel) ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากเครื่องแบบสีดำแล้ว หลายคนก็จะนึกถึงตรากะโหลกไขว้ (Totenkopf) ขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ ตราดังกล่าวถูกมองเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของนาซีทำนองเดียวกับสวัสดิกะ แต่ความจริงแล้วตรากะโหลกไขว้มีประวัติความเป็นมาในกองทัพเยอรมันก่อนหน้ายุคนาซีหลายร้อยปี

ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ เยอรมนีมีการใช้งานตรากะโหลกไขว้อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ในสงครามสามสิบปี (Thirty Years’ War) ระหว่างปี ค.ศ.1618 – 1648 โดยหน่วยทหารจากรัฐบาวาเรีย (สมัยนั้นเยอรมนียังไม่รวมประเทศ) ซึ่งสวมเครื่องแบบสีดำและติดตรากะโหลกไขว้สีขาวไว้บนหมวกเหล็ก

ต่อมาในสมัยพระเจ้าเฟรเดอริกมหาราช (Frederick the Great) แห่งปรัสเซีย ช่วงศตวรรษที่ 18 ทรงก่อตั้งหน่วยทหารม้าฮุสซาร์ (Hussar) ใช้เครื่องแบบสีดำ ติดตรากะโหลกไขว้บนหมวกเพื่อข่มขวัญข้าศึก แสดงให้เห็นว่าผู้สวมใส่มีความจงรักภักดี พร้อมจะเสียสละทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตเพื่อปรัสเซีย มีบทบาทในสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (War of the Austrian Succession) ระหว่างปี ค.ศ.1740 – 1748 และสงครามเจ็ดปี (Seven Years’ War) ระหว่างปี ค.ศ.1756 – 1763

ระหว่างสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) เมื่อชาร์ล วิลเลียม เฟอร์ดินันด์ ดยุกแห่งบรุนส์วิค (Charles William Ferdinand,Duke of Brunswick ) สิ้นพระชนม์ระหว่างรบกับฝรั่งเศสในสมรภูมิเยนา–เอาเออร์ชเต็ท (Battle of Jena–Auerstedt) ในปี ค.ศ.1806 สามปีต่อมาในปี ค.ศ.1809 รัชทายาทของพระองค์คือเฟรเดอริก วิลเลียม (Frederick William) ทรงจัดตั้งหน่วยทหารอาสาสมัครเพื่อแก้แค้นนโปเลียน กำลังพลในหน่วยนี้ทั้งทหารม้าและทหารราบสวมเครื่องแบบสีดำ ติดตรากะโหลกไขว้ ส่งผลให้หน่วยนี้ได้รับฉายาว่าบรุนส์วิคดำ (Black Brunswickers) มีบทบาทในสงครามคาบสมุทร (Peninsular War) และในสมรภูมิวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)

ทหารเยอรมันหลายหน่วย โดยเฉพาะทหารม้า ใช้ตรากะโหลกไขว้ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงที่เยอรมนีรวมประเทศในปี ค.ศ.1871 กลายเป็นจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire หรือ Kaiserreich) และในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระหว่างปี ค.ศ.1914 – 1918

ภาพเจ้าหญิงวิคตอเรีย หลุยส์ แห่งปรัสเซียทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบพันเอกกิตติมศักดิ์หน่วยทหารม้าฮุสซาร์
(Wikimedia Commons/ Public Domain)

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นอกจากหน่วยทหารที่ใช้ตรากะโหลกไขว้อยู่เดิมแล้ว หน่วยจู่โจม Stormtroopers ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อแทรกซึมแนวสนามเพลาะของฝ่ายตรงข้ามในสงครามสนามเพลาะก็ใช้ตรากะโหลกไขว้เช่นกัน นอกจากนี้ในกองทัพอากาศเยอรมัน (Luftstreitkräfte) ก็มีนักบิน 2 นายคือ Georg von Hantelmann และ Kurt Adolf Monnington ใช้ตรากะโหลกไขว้เป็นสัญลักษณ์บนเครื่องบินขับไล่

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง จักรวรรดิเยอรมันล่มสลายกลายเป็นสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) ซึ่งขาดเสถียรภาพทางการเมือง กลุ่มคอมมิวนิสต์ก่อการลุกฮือพยายามจะยึดอำนาจ รัฐบาลไวมาร์จำเป็นต้องใช้กองกำลังกึ่งทหารขวาพิฆาตซ้ายไฟรคอร์ (Freikorps) เข้าปราบปรามการลุกฮือของคอมมิวนิสต์ กองกำลังไฟรคอร์มีการใช้ตรากะโหลกไขว้เป็นสัญลักษณ์ นอกจากนี้ทหารม้าเยอรมันหลายหน่วยก็ยังคงใช้ตรากะโหลกไขว้เป็นสัญลักษณ์เช่นกันตามธรรมเนียมของปรัสเซีย

ภาพกำลังพลและรถหุ้มเกราะของไฟรคอร์ในกรุงเบอร์ลิน ค.ศ.1919 สังเกตตรากะโหลกไขว้บนรถหุ้มเกราะ
(Ehrenbuch des deutschen Heeres)

ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งพรรคนาซี ยูลีอุส เชร็ค (Julius Schreck) ผู้ก่อตั้งหน่วยบอดี้การ์ด (Stabswache) ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ซึ่งต่อมาหน่วยนี้จะกลายเป็นหน่วย SS ได้เริ่มใช้ตรากะโหลกไขว้เป็นสัญลักษณ์ของหน่วย โดยไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler) ให้ความหมายของตรานี้ว่าเป็นการย้ำเตือนให้ผู้สวมใส่พร้อมจะเสี่ยงชีวิตเพื่อสังคมส่วนรวม

หน่วย SS ใช้ตรากะโหลกไขว้เป็นสัญลักษณ์จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างสงครามมีการจัดตั้งกองพลยานเกราะ SS ที่ 3 ซึ่งใช้ตรากะโหลกไขว้เป็นสัญลักษณ์โดยเฉพาะขึ้นมาด้วย (3rd SS Panzer Division Totenkopf) อย่างไรก็ตามแม้ตรากะโหลกไขว้จะถูกใช้อย่างแพร่หลายและถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของหน่วย SS ก็ตาม แต่ความจริงแล้ว หน่วยยานเกราะของทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศเยอรมัน เช่นกองพลยานเกราะพลร่มที่ 1 แฮร์มัน เกอริ่ง (1st Fallschirm-Panzer Division Hermann Göring) ก็ใช้ตรากะโหลกไขว้เช่นกัน โดยพลประจำยานเกราะของกองทัพเยอรมันจะติดตรากะโหลกไขว้ไว้ที่ปกเสื้อสองด้าน ส่วนพลประจำยานเกราะของหน่วย SS จะติดตรากะโหลกไขว้ไว้บนหมวก ส่วนที่ปกเสื้อจะติดเครื่องหมาย SS อย่างไรก็ตามทหารฝ่ายตรงข้ามมักไม่รู้ความแตกต่างข้อนี้ ส่งผลให้หลายครั้งพลประจำยานเกราะของกองทัพเยอรมันถูกตัดสินเหมารวมว่าเป็นหน่วย SS ไปโดยปริยาย

ภาพ มิคาเอล วิทท์มาน สังกัดกองพันรถถังหนักเอสเอสที่ 501 หนึ่งในเสือรถถังที่มีชื่อเสียงที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง แต้มสังหารรถถังข้าศึก 138 คัน สังเกตสัญลักษณ์กะโหลกไขว้บริเวณหมวก (Bundesarchiv, Bild 101I-299-1802-09 / Scheck / CC-BY-SA 3.0)
ภาพพลประจำรถถัง Panzer IV ของเยอรมันในสมรภูมิฝรั่งเศส วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.1940 สังเกตสัญลักษณ์กะโหลกไขว้จะอยู่ที่ปกเสื้อสองด้าน ต่างจากของหน่วย SS (Bundesarchiv, Bild 101I-246-0743-03 / Mees / CC-BY-SA 3.0)

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ตรากะโหลกไขว้ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของนาซี กองทัพเยอรมันจึงเลิกใช้งานตรากะโหลกไขว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สวัสดี

27.04.2021

แสดงความคิดเห็น