ปฏิบัติการไต้ฝุ่น (Operation Typhoon) กองทัพเยอรมันบุกกรุงมอสโก

ภาพหน่วยยานเกราะเยอรมันมุ่งหน้าสู่กรุงมอสโก เดือนตุลาคม ค.ศ.1941
(Wikimedia Commons/ Public Domain)

ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1941 หลังจากเริ่มปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) ได้ไม่กี่สัปดาห์ กลุ่มกองทัพภาคกลางของเยอรมันใต้บังคับบัญชาของจอมพลเฟดอร์ ฟอน บอค (Fedor von Bock) ก็ยึดเมืองสโมเลนสค์ (Smolensk) ห่างจากกรุงมอสโก เมืองหลวงของสหภาพโซเวียตประมาณ 300 กิโลเมตรได้ นายทหารเยอรมันต่างรบเร้าให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) อนุมัติให้ทุ่มกำลังบุกยึดกรุงมอสโก ทว่าฮิตเลอร์มีความคิดต่างออกไป แม้กองทัพเยอรมันจะทุ่มกำลังมากกว่า 3,000,000 นาย เปิดปฏิบัติการบุกสหภาพโซเวียตตลอดแนวชายแดนเหนือจรดใต้ตั้งแต่ทะเลบอลติกถึงทะเลดำ แต่เยอรมันก็รู้ตัวดีว่าไม่มีกำลังพลและทรัพยากรมากพอจะบุกเข้าไปยึดครองสหภาพโซเวียตทั้งประเทศได้ แผนการของเยอรมันจึงเน้นไปที่การใช้สงครามสายฟ้าแลบโอบล้อมทำลายกองทัพโซเวียตให้ได้มากที่สุด โดยหวังว่าเมื่อกองทัพโซเวียตถูกทำลายแล้ว ฐานอำนาจรัฐบาลโซเวียตจะสั่นคลอนจนล้มไปเองในที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งเดือน แม้กองทัพเยอรมันจะโอบล้อมจับเชลยศึกและยึดยุทโธปกรณ์ของโซเวียตได้จำนวนมาก ก็ไม่เห็นแนวโน้มว่าโซเวียตจะแพ้สงครามเสียที ขณะที่นายทหารเยอรมันรบเร้าให้บุกยึดกรุงมอสโก ฮิตเลอร์กลับหันไปให้ความสำคัญกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจมากกว่า จึงออกคำสั่งให้กลุ่มกองทัพภาคกลางหยุดการรุก แล้วส่งหน่วยยานเกราะของกลุ่มกองทัพภาคกลางไปสนับสนุนกลุ่มกองทัพภาคเหนือ (Army Group North) และกลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) บุกล้อมเมืองเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) และบุกยึดเมืองเคียฟและยูเครน อู่ข้าวอู่น้ำของโซเวียต

แม้การรุกเข้าสู่กรุงมอสโกจะหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่กองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe) ก็เริ่มปฏิบัติการทิ้งระเบิดกรุงมอสโกตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม กองทัพเยอรมันยังคงประมาท ดูถูกและประเมินขีดความสามารถของโซเวียตต่ำ กองทัพอากาศเยอรมันเชื่อว่าน่านฟ้าเหนือกรุงมอสโกนั้นเปิดโล่ง มีปืนต่อสู้อากาศยานป้องกันอยู่ไม่มีกระบอก ไม่มีไฟฉายส่องเป้า ไม่มีบอลลูนกั้น รวมถึงไม่มีเครื่องบินขับไล่กลางคืน ต่างจากกรุงลอนดอนของอังกฤษใน Battle of Britain ครั้งนี้เยอรมันเชื่อว่าจะสามารถปฏิบัติการทางอากาศได้อย่างสะดวก แต่เมื่อฝูงบินทิ้งระเบิดของเยอรมันมาถึงกรุงมอสโกจริงๆกลับพบปืนต่อสู้อากาศยานขนาดต่างๆนับพันกระบอกรอต้อนรับอยู่ เครื่องบินขับไล่กลางคืนของโซเวียตก็ปฏิบัติการร่วมกับหน่วยไฟฉายส่องเป้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีบอลลูนกั้นสูงกว่า 4,500 เมตร สูงกว่าที่กรุงลอนดอนอีก ส่งผลให้เครื่องบินรบเยอรมันต้องทิ้งระเบิดจากเพดานบินสูง ขาดความแม่นยำ แม้เยอรมันจะทิ้งระเบิดสร้างความเสียหายให้สถานที่สำคัญในกรุงมอสโกได้หลายแห่ง แต่กองทัพอากาศเยอรมันก็สูญเสียอย่างหนักเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นในวันที่ 29 ตุลาคม เยอรมันส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดกว่า 300 ลำมาทิ้งระเบิดกรุงมอสโก ในจำนวนนี้ถูกยิงตกถึง 47 ลำ

ภาพปืนต่อสู้อากาศยานของโซเวียตป้องกันกรุงมอสโก
(RIA Novosti archive, image #887721 / Knorring / CC-BY-SA 3.0)

กลุ่มกองทัพภาคใต้ของเยอรมัน สมทบด้วยหน่วยยานเกราะของกลุ่มกองทัพภาคกลางสามารถยึดเมืองเคียฟได้ในเดือนกันยายน จับทหารโซเวียตเป็นเชลยศึกได้มากกว่า 600,000 นาย แต่ก็ไม่มีแนวโน้มว่าโซเวียตจะยอมแพ้สงครามแต่อย่างใด ฮิตเลอร์ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องยึดกรุงมอสโกให้ได้ แต่กว่าหน่วยยานเกราะของเยอรมันจะเคลื่อนกำลังกลับไปสมทบกับกลุ่มกองทัพภาคกลางได้ก็ต้องรอถึงวันที่ 30 กันยายน

วันที่ 2 ตุลาคม กลุ่มกองทัพภาคกลางของเยอรมันเริ่มปฏิบัติการไต้ฝุ่น (Operation Typhoon) บุกกรุงมอสโก โดยทุ่มกำลังจากกองทัพที่ 2, 4 และ 9 กับกลุ่มยานเกราะที่ 2, 3 และ 4 รวมมีทหารราบมากกว่า 1,000,000 นาย ปืนใหญ่ 14,000 กระบอก รถถังและปืนใหญ่อัตตาจร 1,000 – 2,470 คัน อย่างไรก็ตามแม้กองทัพบกเยอรมันจะทุ่มกำลังแบบหมดหน้าตัก แต่ถึงตอนนี้กำลังรบของกองทัพอากาศเยอรมันร่อยหรอไปมาก สามารถจัดเครื่องบินรบมาสนับสนุนปฏิบัติการไต้ฝุ่นได้ประมาณ 500 ลำเท่านั้น

กองทัพโซเวียตเชื่อว่าเยอรมันจะบุกมาทางเมืองเวียซม่า (Vyazma) และบรืย์อันสค์ (Bryansk) ซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดจากสโมเลนสค์ไปยังกรุงมอสโก จึงทุ่มกำลังส่วนใหญ่ไปป้องกันเส้นทางดังกล่าว แต่กลุ่มยานเกราะที่ 2 ของนายพลไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) กลับบุกมาจากทางทิศใต้ซึ่งโซเวียตไม่ได้คาดคิดมาก่อน ภายในเวลาเพียง 3 วันเมืองบรืย์อันสค์ก็ถูกล้อม และยานเกราะของกูเดเรียนก็มุ่งหน้าต่อไปยังเมืองโอเรล (Orel) และตูลา (Tula) โซเวียตรีบทุ่มกำลังเสริมมารับมือยานเกราะของกูเดเรียน จนสามารถหยุดการรุกของเยอรมันทางด้านนี้ได้ชั่วคราว แต่แล้วกำลังหลักของกลุ่มกองทัพภาคกลางซึ่งมีกลุ่มยานเกราะที่ 3 ของนายพลแฮร์มาน โฮธ (Hermann Hoth) และกลุ่มยานเกราะที่ 4 ของนายพลเอริช เฮิปเนอร์ (Erich Hoeppner) เป็นหัวหอก ก็เข้าตีแนวป้องกันตอนกลางของโซเวียตอย่างรุนแรง จนสามารถล้อมเมืองเวียซม่าได้อย่างรวดเร็ว ทหารโซเวียตมากกว่า 580,000 นายตกอยู่ในวงล้อมของเยอรมัน แม้จะดูเหมือนว่ากองทัพเยอรมันได้ชัยชนะยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งและขยับเข้ามาอยู่ห่างจากกรุงมอสโกเพียง 205 กิโลเมตร แต่การที่มีทหารโซเวียตตกอยู่ในวงล้อมจำนวนมาก ก็ส่งผลให้เยอรมันต้องทุ่มกำลังจำนวนมากในการล้อมทหารโซเวียตเช่นกัน ส่งผลให้เหลือกำลังพลสำหรับบุกกรุงมอสโกแค่ไม่กี่กองพลเท่านั้น นำโดยกองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ดาส ไรช์ (2nd SS Panzer Division Das Reich) ฝ่ายโซเวียตก็รีบทุ่มกองหนุนที่เหลืออยู่เข้าสกัดการรุกของเยอรมันอย่างเต็มที่ ใช้อาวุธทุกอย่างที่หาได้ โดยไม่สนใจว่าจะสูญเสียเท่าไหร่ ยกตัวอย่างพลร่มหน่วยหนึ่งเหลือกำลังพลเพียง 29 นายจากทั้งหมด 450 นาย สุดท้ายโซเวียตก็สามารถหยุดการรุกของเยอรมันได้ชั่วคราวห่างจากกรุงมอสโก 180 กิโลเมตร

ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดนี้เอง สตาลิน (Iosif Stalin) ตัดสินใจเรียกนายพลเกออร์กี ชูคอฟ (Georgy Zhukov) กลับจากเลนินกราดมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพโซเวียตป้องกันกรุงมอสโก

ภาพนายพลเกออร์กี ชูคอฟในปี ค.ศ.1941 (Mil.ru)

ชูคอฟประเมินสถานการณ์ของโซเวียตแล้วเห็นว่าวิกฤตมาก เส้นทางสู่กรุงมอสโกนั้นเปิดโล่ง แม้จะระดมประชาชนมากกว่า 250,000 คนไปช่วยกันสร้างแนวป้องกันแล้วก็ตาม แต่โซเวียตแทบไม่มีทหารกองหนุนเหลืออยู่ในเมืองแล้ว มีเพียงนักเรียนเตรียมทหารและทหารเกณฑ์สดใหม่จากพื้นที่โดยรอบจำนวน 7 กองพลเท่านั้น ต้องระดมกองหนุนจากไซบีเรียและภาคตะวันออกไกลมาเสริม นอกจากนี้โซเวียตยังยกเลิกปฏิบัติการรุกเพื่อทลายวงล้อมเลนินกราด เพื่อจะได้นำกำลังพลส่วนนี้มาป้องกันมอสโกด้วยซึ่งส่งผลให้เลนินกราดตกอยู่ในวงล้อมเยอรมันนานขึ้นโดยปริยาย ก่อนที่กองหนุนเหล่านี้จะมาถึงกรุงมอสโกได้ต้องใช้เวลา โชคดีที่ทหารโซเวียตในวงล้อมเวียซม่ายังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ส่งผลให้กำลังรบของเยอรมันจำนวนมากติดแหง็กอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ยังไม่สามารถทุ่มกำลังมาที่กรุงมอสโกได้ เยอรมันต้องใช้อาสาสมัครจากประเทศในยุโรปเช่นฝรั่งเศสมาเสริมกำลังให้กองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ดาส ไรช์ แต่ก็ประสบความสูญเสียอย่างหนักจากทหารโซเวียตที่สู้ยิบตาเพื่อถ่วงเวลาให้นานที่สุดจนกว่ากองหนุนจะมาถึงมอสโก

กองทัพเยอรมันยึดเมืองคาลูกา (Kaluga) ได้วันที่ 13 ตุลาคม อีก 3 วันต่อมาก็ยึดเมืองโบรอฟสค์ (Borovsk) บีบให้โซเวียตต้องถอยทัพไปใช้แม่น้ำนารา (Nara) เป็นแนวรับแห่งใหม่ เข้าใกล้กรุงมอสโกเข้าไปทุกที แต่ฝ่ายเยอรมันก็สูญเสียอย่างหนักเช่นกัน นอกจากนี้ทหารโซเวียตในวงล้อมเวียซม่าและบรืย์อันสค์ก็ยังไม่ยอมแพ้ ส่งผลให้ทหารเยอรมันมากกว่า 24 กองพลยังคงติดแหง็กอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว การกวาดล้างทหารโซเวียตในวงล้อมเป็นไปอย่างยากลำบาก ทหารเยอรมันบางหมวดสูญเสียหนักจนเหลือกำลังพลแค่นายเดียว ต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่ากองทัพเยอรมันจะกวาดล้างทหารโซเวียตในวงล้อมเวียซม่าและบรืย์อันสค์ได้หมด จากจำนวนทหารโซเวียตประมาณ 580,000 นายที่ตกอยู่ในวงล้อม เสียชีวิตประมาณ 130,000 นาย ตกเป็นเชลยประมาณ 370,000 นาย ฝ่าวงล้อมหลบหนีออกมาได้ประมาณ 80,000 นาย

แม้กองทัพเยอรมันจะกวาดล้อมทหารโซเวียตในวงล้อมเวียซม่าและบรืย์อันสค์ได้ในที่สุด แต่ยังไม่ทันที่จะเริ่มการรุกต่อไป ฝนก่อนฤดูหนาวก็เริ่มตกลงมาส่งผลให้พื้นดินกลายเป็นโคลนเลน เรียกว่ารัสปูติซ่า (Rasputisa) ถนนหนทางใช้งานไม่ได้ ส่งผลให้สงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) ของเยอรมันหยุดชะงักทันที โซเวียตฉวยโอกาสนี้เสริมกำลังเข้าแนวหน้าอย่างเต็มที่ กว่ากองทัพเยอรมันจะเริ่มการรุกได้อีกครั้งก็ต้องรอถึงช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว แล้วโคลนเลนเริ่มจับตัวเป็นน้ำแข็ง แต่ตอนนั้นเยอรมันก็เผชิญอุปสรรคใหม่เพราะไม่ได้เตรียมเครื่องแบบและอุปกรณ์สำหรับการรบในฤดูหนาวเอาไว้ นอกจากนี้การสู้รบอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมายังส่งผลให้กำลังพลของกองทัพเยอรมันร่อยหรอไปมาก ยานพาหนะเหลือใช้งานได้ไม่ถึงหนึ่งในสาม กองทัพเยอรมันไม่มีทางเลือกต้องหาทางเผด็จศึกให้ได้โดยเร็วที่สุด

ภาพถนนหนทางของโซเวียตกลายเป็นโคลนเลนในฤดูรัสปูติซ่า เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1941
(Bundesarchiv, Bild 183-B15500 / Britting / CC-BY-SA 3.0)

วันที่ 7 พฤศจิกายน เป็นวันครบรอบการปฏิวัติรัสเซีย สตาลินจัดงานสวนสนามที่จัตุรัสแดงเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนเรียกว่า March of the Defenders of Moscow

วันที่ 15 พฤศจิกายน กลุ่มยานเกราะที่ 2 ของกูเดเรียนเริ่มการรุกเข้าหากรุงมอสโกจากทางใต้ ขณะที่โฮธและเฮิปเนอร์โอบมาจากทางเหนือ การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บ ทั้งกองทัพเยอรมันและโซเวียตต่างก็สูญเสียอย่างหนัก ทหารบางกรมเหลือกำลังพลแค่ 150 – 200 นายเท่านั้น พอถึงช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน หน่วยลาดตระเวณของเยอรมันก็มาถึงชานกรุงมอสโก จนสามารถมองเห็นสถานที่สำคัญภายในเมืองได้ด้วยกล้องส่องทางไกล แต่แล้วก็ถูกทหารโซเวียตผลักดันกลับไป กองทัพเยอรมันไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว ส่งผลให้การรุกหยุดชะงักลงในที่สุด กูเดเรียนยอมรับว่าการบุกยึดกรุงมอสโกล้มเหลว ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของทหารเยอรมันที่เคยได้รับชัยชนะมาตลอดมาก ท่ามกลางอุณหภูมิติดลบ 30 – 45 องศา ทหารเยอรมันจำนวนมากถูกหิมะกัด อาวุธปืนไม่ทำงานเนื่องจากน้ำแข็งเกาะรังเพลิงและลูกเลื่อน น้ำมันโชลมปืนก็กลายเป็นน้ำแข็ง ยานเกราะและยานพาหนะติดเครื่องไม่ได้ เนื่องจากน้ำมันเครื่องก็กลายเป็นน้ำแข็งเช่นกัน ทหารเยอรมันไม่มีทางเลือกนอกจากต้องติดเครื่องยนต์ของยานพาหนะต่างๆไว้ตลอดเวลา รวมถึงใช้น้ำมันในการก่อกองไฟ ส่งผลให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก

ช่วงต้นเดือนธันวาคม ชูคอฟก็ขอไฟเขียวจากสตาลิน ใช้กองหนุนที่ซ่องสุมไว้กว่า 1,100,000 นาย เปิดฉากตีโต้กองทัพเยอรมันตลอดแนวรบ นายทหารเยอรมันเห็นพ้องกันว่าไม่มีทางที่กองทัพเยอรมันจะรักษาแนวรบปัจจุบันไว้ได้ เห็นสมควรให้ถอยทัพ แต่ฮิตเลอร์กลับออกคำสั่งหมายเลข 39 ให้ทหารเยอรมันปักหลักสู้จนถึงที่สุด ต่อให้ต้องใช้กระสุนปืนใหญ่ขุดสนามเพลาะก็ต้องทำ แต่ไม่ว่าฮิตเลอร์จะยืนกรานขนาดไหน สุดท้ายกองทัพเยอรมันก็ถอยร่นไม่เป็นขบวนออกจากพื้นที่รอบกรุงมอสโกเป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร ภาพเชลยศึกเยอรมัน, ซากยานพาหนะและยุทโธปกรณ์จำนวนมากถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ฮิตเลอร์โทษคณะนายทหารว่าเป็นต้นเหตุแห่งความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ฮิตเลอร์ปลดจอมพลวัลเทอร์ ฟอน เบราคิทช์ (Walther von Brauchitsch) ผู้บัญชาการทหารบกออกจากตำแหน่งแล้วเข้าดำรงตำแหน่งแทน จอมพลฟอน บอคถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพภาคกลาง แทนที่ด้วยจอมพลกึนเทอร์ ฟอน คลูเกอ (Günther von Kluge) กูเดเรียนขัดแย้งกับฮิตเลอร์และถูกปลดออกจากตำแหน่ง เฮิปเนอร์ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งเช่นกัน เนื่องจากสั่งถอยทัพโดยไม่ได้รับอนุญาต ในปี ค.ศ.1944 เฮิปเนอร์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนลอบสังหารฮิตเลอร์ ส่งผลให้ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

สมรภูมิกรุงมอสโกถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของเยอรมัน กองทัพเยอรมันสูญเสียทหารไป 400,000 นาย รถถัง 1,300 คัน ปืนใหญ่ 2,500 กระบอก ขณะที่ฝ่ายโซเวียตเสียทหารไป 1,280,000 นาย แม้ฝ่ายเยอรมันจะสูญเสียน้อยกว่าโซเวียต แต่ความสูญเสียของเยอรมันนั้นไม่สามารถทดแทนได้ ต่อมาเมื่อจอมพลวิลเฮล์ม ไคเทล (Wilhelm Keitel) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมันถูกถามระหว่างการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg trials) ว่าเขารู้ตัวเมื่อไหร่ว่าการบุกโซเวียตล้มเหลว ไคเทลตอบสั้นๆคำเดียวว่า “มอสโก”

สวัสดี

02.05.2021

แสดงความคิดเห็น