สตาลินกราด จุดเปลี่ยนของสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่ 1 แผนน้ำเงิน Case Blue

หลังความล้มเหลวของปฏิบัติการไต้ฝุ่น (Operation Typhoon) และการสู้รบอย่างดุเดือดในช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ.1941 – 1942 กลุ่มกองทัพภาคกลาง (Army Group Center) ของเยอรมันสูญเสียอย่างหนัก ไม่อยู่ในสถานะที่จะปฏิบัติการรุกใหญ่ในปี ค.ศ.1942 ได้ ประกอบกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ยอมรับแล้วว่ากองทัพเยอรมันไม่มีโอกาสเผด็จศึกสงครามโลกครั้งที่สองอย่างรวดเร็วได้แล้ว จำเป็นต้องมีการหาแหล่งทรัพยากรสำหรับการทำสงครามยืดเยื้อ กลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) จึงได้รับมอบหมายภารกิจให้บุกยึดแหล่งน้ำมันบริเวณเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) ชื่อแผนน้ำเงิน (Case Blue)

ตามแผนน้ำเงิน กำลังพลของกลุ่มกองทัพภาคใต้จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน กลุ่มกองทัพ A ซึ่งมีหัวหอกคือกองทัพที่ 17 (17th Army) และกองทัพยานเกราะที่ 1 (1st Panzer Army) จะบุกลงใต้ไปยังเทือกเขาคอเคซัส เพื่อยึดแหล่งน้ำมัน ขณะที่กลุ่มกองทัพ B ซึ่งมีกองทัพที่ 6 (6th Army) และกองทัพยานเกราะที่ 4 (4th Panzer Army) เป็นหัวหอกจะมุ่งหน้าไปทางตะวันออก ไปยังแม่น้ำโวลกา (Volga) และเมืองสตาลินกราด เพื่อคุ้มกันปีกให้กลุ่มกองทัพ A จะเห็นได้ว่าตามแผนน้ำเงินต้นฉบับนั้น เป้าหมายหลักของกองทัพเยอรมันคือแหล่งน้ำมันในเทือกเขาคอเคซัส ไม่ใช่เมืองสตาลินกราดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แม้กองทัพเยอรมันจะเป็นหัวหอกหลักของแผนน้ำเงิน แต่เนื่องจากพื้นที่ปฏิบัติการตั้งแต่แม่น้ำโวลกาไปจนถึงเทือกเขาคอเคซัสกว้างขวางมาก ลำพังกองทัพเยอรมันมีกำลังพลไม่พอ จึงต้องนำกองทัพของประเทศพันธมิตรฝ่ายอักษะได้แก่กองทัพที่ 3 และ 4 ของโรมาเนีย, กองทัพที่ 2 ของฮังการี และกองทัพที่ 8 ของอิตาลีมาสมทบด้วย แม้จะช่วยให้เยอรมันมีกำลังพลให้ใช้งานมากขึ้น แต่กองทัพประเทศเหล่านี้ขาดแคลนอาวุธหนักทั้งยานเกราะและปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง

ภาพทหารเยอรมันใช้รถกึ่งสายพาน Sd.Kfz. 250 และซากรถถัง T-70 ของโซเวียตเป็นที่กำบังในช่วงฤดูร้อน ค.ศ.1942
(Bundesarchiv, Bild 101I-218-0503-19 / Klintzsch / CC-BY-SA 3.0)

ช่วงเช้าตรู่วันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1942 เครื่องบินตรวจการณ์ของเยอรมันลำหนึ่งประสบอุบัติเหตุตกที่แนวหน้า หนึ่งในผู้โดยสารเป็นนายทหารฝ่ายยุทธการของกองพลยานเกราะที่ 23 (23rd Panzer Division) ซึ่งมีเอกสารรายละเอียดบางส่วนของแผนน้ำเงินติดตัวมาด้วย ทหารโซเวียตสามารถยึดเอกสารดังกล่าวได้แล้วส่งไปกรุงมอสโก แต่ผู้นำโซเวียต อิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) กลับไม่มั่นใจว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่ เนื่องจากกองบัญชาการโซเวียตเชื่อว่ากองทัพเยอรมันจะพยายามบุกยึดกรุงมอสโกอีกครั้งหนึ่ง กำลังเสริมจึงถูกส่งไปที่กรุงมอสโกเป็นหลัก ไม่มีการเตรียมตัวรับมือกลุ่มกองทัพภาคใต้ของเยอรมันเท่าที่ควร

วันที่ 28 มิถุนายน กองทัพเยอรมันเริ่มการรุกตามแผนน้ำเงิน กองทัพโซเวียตถูกตีแตกถอยร่นอย่างรวดเร็ว จนแม้แต่กองบัญชาการโซเวียตก็ไม่รู้ว่าทหารของตัวเองถอยร่นไปที่ไหนบ้างแล้ว สตาลินสั่งปลดจอมพลเซมยอน ทิโมเชงโก (Semyon Timoshenko) แทนที่ด้วยนายพลวาซิลี กอร์ดอฟ (Vasily Gordov) แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ กองทัพโซเวียตพยายามรวบรวมกำลังพลเข้าตีโต้กองทัพเยอรมันหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ กองทัพเยอรมันจับทหารโซเวียตเป็นเชลยได้นับแสนนาย

แม้กองทัพเยอรมันจะได้รับชัยชนะงดงาม แต่ก็เริ่มประสบปัญหาการส่งกำลังบำรุง โดยเฉพาะเชื้อเพลิงสำหรับยานเกราะ สาเหตุหนึ่งเพราะเส้นทางคมนาคมทางใต้ของโซเวียตยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร สภาพภูมิประเทศเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่หรือสเตปป์ (Steppe) หน่วยส่งกำลังบำรุงของเยอรมันซึ่งใช้รถม้าเป็นพาหนะหลัก ไม่สามารถติดตามหน่วยยานเกราะได้ทัน กองทัพอากาศเยอรมันใช้เครื่องบินลำเลียงเชื้อเพลิงให้หน่วยยานเกราะเยอรมันในแนวหน้าวันละกว่า 200 ตันแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ทหารเยอรมันต้องสูบเชื้อเพลิงจากยานเกราะหรือยานพาหนะที่ถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายมาเติมให้คันที่เหลือ ยานเกราะและยานพาหนะบางส่วนต้องถูกทิ้งไว้ตามรายทาง เนื่องจากเชื้อเพลิงไม่พอ

สถานการณ์ของเยอรมันซับซ้อนมากขึ้นเมื่อฮิตเลอร์เปลี่ยนรายละเอียดในแผนน้ำเงินกะทันหัน สั่งให้กองทัพยานเกราะที่ 4 วกลงใต้ไปสนับสนุนกองทัพยานเกราะที่ 1 บุกคอเคซัส ส่งผลให้เส้นทางคมนาคมต่างๆแออัดมากขึ้น รวมถึงทำให้กองทัพที่ 6 ขาดการสนับสนุนจากยานเกราะจนทำการรุกไปยังสตาลินกราดได้ช้าลง กว่าฮิตเลอร์จะยอมรับความผิดพลาดแล้วสั่งให้กองทัพยานเกราะที่ 4 วกกลับขึ้นเหนือ ก็เสียเวลาไป 2 สัปดาห์

วันที่ 17 กรกฎาคม กองทัพที่ 6 ของเยอรมันซึ่งมีกำลังพลประกอบด้วยทหารราบ 270,000 นาย ปืนใหญ่ 3,400 กระบอก และรถถัง 350 คัน สนับสนุนโดยเครื่องบินรบ 1,100 ลำ เข้าตีกองทัพโซเวียตทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดอน (Don) ที่มีกำลังทหารราบ 300,000 นาย ปืนใหญ่ 5,500 กระบอก รถถัง 230 คัน และเครื่องบินรบ 1,000 ลำ แม้โซเวียตจะมีกำลังพลมากกว่า แต่ต้องกระจายกำลังออกเป็นแนวยาวกว่า 500 กิโลเมตร ในขณะที่กองทัพเยอรมันรวมกำลังเข้าตีที่จุดเดียว กองทัพเยอรมันเจาะแนวป้องกันของโซเวียตเข้าไปได้ แต่ทหารโซเวียตก็ต่อต้านอย่างหนัก กว่าทหารเยอรมันจะยึดครองฝั่งตะวันตกของแม้น้ำดอนได้อย่างเด็ดขาดก็เสียเวลาไปเกือบหนึ่งเดือน นายทหารบางส่วนมองว่าถ้าฮิตเลอร์ไม่เข้าแทรกแซง แล้วกองทัพที่ 6 ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพยานเกราะที่ 4 เยอรมันจะสามารถข้ามแม่น้ำดอนได้เร็วกว่านี้และยึดเมืองสตาลินกราดได้ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม

ภาพยานเกราะเยอรมันมุ่งหน้าสู่สตาลินกราด
(Bundesarchiv, Bild 101I-218-0510-22 / Thiede / CC-BY-SA 3.0)

วันที่ 28 กรกฎาคม สตาลินออกคำสั่งหมายเลข 227 ห้ามถอยแม้แต่ก้าวเดียว (Order No.227 Not a step back!) ห้ามไม่ให้ทหารโซเวียตถอยทัพโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่อย่างนั้นจะถูกลงโทษโดยส่งไปอยู่ใน penal battalion ซึ่งต้องรับภารกิจอันตรายต่างๆเช่นการเคลียร์ทุ่งกับระเบิด การลาดตระเวณหรือการเข้าตีในแนวหน้าสุด เป็นต้น แม้จะมีทหารหนีทัพบางส่วนถูกยิงเป้า แต่โซเวียตไม่ได้ยิงทหารของตัวเองทิ้งเป็นว่าเล่นแบบที่ Hollywood พยายามโฆษณาชวนเชื่อในหนัง Enemy at the Gates แต่อย่างใด ในช่วงเวลาเดียวกับที่สตาลินพยายามฟื้นขวัญกำลังใจของทหารโซเวียตในแนวหน้า กองทัพโซเวียตก็รีบเกณฑ์ทหารกองหนุนส่งมาแนวหน้าอย่างเต็มที่

วันที่ 21 สิงหาคม กองทัพที่ 6 ของเยอรมันข้ามแม่น้ำดอน อยู่ห่างจากเมืองสตาลินกราดเพียง 60 กิโลเมตร ขณะเดียวกันกองทัพยานเกราะที่ 4 ก็รุกคืบขึ้นมาจากทางใต้ กองทัพโซเวียตพยายามใช้จรวดหลายลำกล้อง BM-13 Katyusha ยิงสกัดกองทัพยานเกราะที่ 4 แต่ก็หยุดทหารเยอรมันไว้ได้ไม่นาน การรบในเมืองสตาลินกราดกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

โปรดติดตามตอนต่อไป

สวัสดี

02.05.2021

แสดงความคิดเห็น