ขณะที่กองทัพที่ 6 ของเยอรมันใต้บังคับบัญชาของนายพลฟรีดริช เพาลุส (Friedrich Paulus) สมทบด้วยกองทัพยานเกราะที่ 4 (4th Panzer Army) ใต้บังคับบัญชาของนายพลแฮร์มาน โฮธ (Hermann Hoth) ทุ่มกำลังเข้ายึดเมืองสตาลินกราดให้ได้ ปิกของกองทัพเยอรมันก็ถูกคุ้มกันด้วยกองทัพจากประเทศพันธมิตรอักษะได้แก่กองทัพที่ 2 ของฮังการี กองทัพที่ 8 ของอิตาลี และกองทัพที่ 3 ของโรมาเนีย ป้องกันปีกด้านเหนือ ส่วนปีกด้านใต้ป้องกันโดยกองทัพที่ 4 ของโรมาเนีย กองทัพของประเทศเหล่านี้ขาดแคลนอาวุธหนักทั้งยานเกราะและปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง เช่นกองพลยานเกราะที่ 1 ในสังกัดกองทัพที่ 3 ของโรมาเนียมีกำลังรบหลักเป็นรถถังเบา Panzer 35(t) ประมาณ 100 คัน ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรซึ่งเทียบไม่ได้กับรถถังกลาง T-34 ของโซเวียต โรมาเนียพยายามขอการสนับสนุนอาวุธหนักจากเยอรมัน แต่เยอรมันก็จัดปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง PaK-40 ขนาด 75 มิลลิเมตรให้ทหารโรมาเนียใช้งานกองพลละ 6 กระบอกเท่านั้น นอกจากอาวุธหนักจะไม่เพียงพอแล้ว กองทัพอักษะเหล่านี้ยังต้องกระจายกำลังออกเป็นระยะทางยาว กองทัพที่ 3 ของโรมาเนียต้องป้องกันแนวหน้ายาวถึง 140 กิโลเมตร ขณะที่กองทัพที่ 4 ของโรมาเนียก็ต้องป้องกันแนวหน้ายาวกว่า 270 กิโลเมตร เยอรมันก็รู้ตัวว่ากองทัพอักษะเหล่านี้เป็นจุดอ่อน แต่กองทัพเยอรมันก็แทบไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว มีเพียงกองพลยานเกราะที่ 22 (22nd Panzer Division) ในสังกัดกองทัพน้อยยานเกราะที่ 48 (XXXXVIII Panzer Corps) เพียงกองพลเดียว (กองพลยานเกราะอื่นๆถูกส่งเข้าไปในสตาลินกราดหมดแล้ว) ที่พอจะสนับสนุนกองทัพโรมาเนียในสถานการณ์ฉุกเฉินได้
แม้ปีกสองข้างของกองทัพเยอรมันจะง่อนแง่นเต็มทน แต่กองบัญชาการเยอรมันเชื่อว่ากองทัพโซเวียตใกล้จะแตกพ่ายเต็มทีแล้วเหมือนกัน ไม่มีกำลังเหลือพอจะทำการรุกตอบโต้เยอรมันได้แล้ว การเสริมกำลังป้องกันปีกของกองทัพเยอรมันที่สตาลินกราดจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญเร่งด่วนแต่อย่างใด

(Bundesarchiv, Bild 101I-218-0501-27 / Lechner / CC-BY-SA 3.0)
ในช่วงเวลาที่เยอรมันพยายามยึดเมืองสตาลินกราดให้ได้ กองบัญชาการโซเวียตโดยนายพลเกออร์กี ชูคอฟ (Georgy Zhukov) และอเล็กซานเดอร์ วาซิเลฟสกี (Aleksandr Vasilevsky) ได้เริ่มวางแผนตอบโต้กองทัพเยอรมันมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน ค.ศ.1942 ชื่อปฏิบัติการยูเรนัส (Operation Uranus) ตามแผนโซเวียตจะใช้กำลังพลประกอบด้วยทหารราบ 1,100,000 นาย รถถัง 804 คัน ปืนใหญ่ 13,400 กระบอก และเครื่องบินรบ 1,000 ลำ เข้าตีปีกสองข้างของกองทัพเยอรมันซึ่งป้องกันโดยกองทัพที่ 3 และ 4 ของโรมาเนีย แล้วทำการรุกไปบรรจบกันที่เมืองคาลาช (Kalach) ริมฝั่งแม่น้ำดอน ปิดล้อมวงกองทัพที่ 6 และกองทัพยานเกราะที่ 4 ของเยอรมันในสตาลินกราด
ตอนแรกโซเวียตวางแผนจะเริ่มปฏิบัติการยูเรนัสช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน แต่ทหารหลายหน่วยมาถึงแนวรบล่าช้าส่งผลให้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน โซเวียตจึงประกาศเลื่อนปฏิบัติการยูเรนัสออกไป เป็นวันที่ 17 พฤศจิกายน ก่อนที่จะต้องเลื่อนอีกไปอีก 2 วันเนื่องจากกองทัพอากาศโซเวียตยังไม่พร้อม ระหว่างที่กำลังรอเวลา นายทหารโซเวียตบางคนก็เริ่มวิตกกังวลว่าปฏิบัติการยูเรนัสจะล้มเหลว แต่หลังจากปรึกษากับสตาลินแล้ว สตาลินก็สั่งให้เดินหน้าต่อ
คืนวันที่ 18 พฤศจิกายน มีพายุหิมะ ส่งผลให้ทัศนวิสัยย่ำแย่ เครื่องบินรบไม่สามารถออกปฏิบัติการได้ สตาลินกังวลว่าถ้ากองทัพโซเวียตไม่ได้รับการสนับสนุนทางอากาศอย่างเพียงพอ ปฏิบัติการยูเรนัสจะล้มเหลว แต่จะมายกเลิกปฏิบัติการตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว เนื่องจากทหารหลายหน่วยได้เริ่มข้ามแม่น้ำโวลกาแล้ว ช่วงเช้าวันที่ 19 พฤศจิกายน ปืนใหญ่โซเวียตหลายพันกระบอกพร้อมจรวดหลายลำกล้อง BM-13 Katyusha ก็เปิดฉากยิงปูพรมถล่มแนวป้องกันของกองทัพที่ 3 โรมาเนียทางทิศเหนือ แม้กองทัพโรมาเนียจะไม่ได้รับความเสียหายมากนักเนื่องจากทัศนวิสัยที่ย่ำแย่ส่งผลให้ปืนใหญ่ของโซเวียตทำการยิงแบบเดาสุ่มขาดความแม่นยำ แต่เมื่อรถถังโซเวียตจำนวนมหาศาลเปิดฉากเข้าตี ทหารโรมาเนียก็แตกกระจายไปคนละทิศละทาง
กองพลยานเกราะที่ 22 ของเยอรมันพยายามตอบโต้หน่วยรถถังโซเวียต แต่กำลังรบหลักของกองพลนี้มีเพียงรถถังเบา Panzer 38(t) ผลิตในเชโกสโลวาเกีย ซึ่งเทียบไม่ได้กับรถถัง T-34 และ KV-1 ของโซเวียต นอกจากนี้ช่วงที่ผ่านมา รถถังของกองพลนี้ยังถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆคลุมด้วยฟางเพื่อป้องกันน้ำแข็ง ส่งผลให้มีหนูเข้าไปอาศัยอยู่ในรถถัง กัดสายไฟได้รับความเสียหาย ส่งผลให้เมื่อกองทัพโซเวียตเริ่มปฏิบัติการยูเรนัส กองพลยานเกราะที่ 22 มีรถถังอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเพียง 30 คัน ผ่านไปไม่นานกองพลนี้ก็ถูกกวาดล้าง
วันที่ 20 พฤศจิกายน กองทัพโซเวียตก็เข้าตีด้านทิศใต้อีกทางหนึ่ง กองทัพที่ 4 ของโรมาเนียแตกภายในเวลาไม่นาน กองทัพโซเวียตจากทั้งสองด้านทำการรุกต่อไปอย่างรวดเร็วจนบรรจบกันที่เมืองคาลาชในวันที่ 23 พฤศจิกายน กองทัพที่ 6 และบางส่วนของกองทัพยานเกราะที่ 4 ของเยอรมัน มีกำลังพลรวมกันประมาณ 250,000 – 300,000 นาย รถถัง 100 คัน ปืนใหญ่และปืน ค. 2,000 กระบอก และรถบรรทุก 10,000 คันตกอยู่ในวงล้อมของโซเวียต

ขณะที่วงล้อมของโซเวียตยังไม่แข็งแรง นายทหารเยอรมันต่างเรียกร้องให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) สั่งให้กองทัพที่ 6 ฝ่าวงล้อมออกมา แต่ฮิตเลอร์ไม่ยอม ฮิตเลอร์สั่งให้ทหารเยอรมันปักหลักสู้จนถึงที่สุด โดยกองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe) จะส่งกำลังบำรุงให้กองทัพที่ 6 ทางอากาศ นอกจากนี้ฮิตเลอร์ยังเรียกตัวจอมพลเอริช ฟอน มันชไตน์ (Erich von Manstein) ซึ่งเคยวางแผนยึดฝรั่งเศสและเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ 11 ของเยอรมันยึดไครเมียและเมืองเซวัสโตโปล มาเป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพดอน (Army Group Don) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อทลายวงล้อมของโซเวียตที่สตาลินกราด
ต้นเดือนธันวาคม มันชไตน์เริ่มปฏิบัติการพายุฤดูหนาว (Operation Winter Storm) เมื่อทหารเยอรมันในวงล้อมที่สตาลินกราดได้ข่าวก็มีขวัญกำลังใจดีขึ้นทันที บอกต่อๆกันว่ามันชไตน์กำลังมา! (Der Manstein Kommt!)
โปรดติดตามตอนต่อไป
สวัสดี
03.05.2021