ที-34 รถถังในตำนานแห่งชัยชนะของโซเวียต

รถถัง T-34 เป็นหนึ่งในรถถังที่มีชื่อเสียงที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1940 และอยู่ในสายการผลิตจนถึงปี ค.ศ.1958 มีบทบาทสำคัญในชัยชนะของสหภาพโซเวียตเหนือนาซีเยอรมันในมหาสงครามรักชาติ (The Great Patriotic War) จนได้ฉายาว่าเป็นรถถังในตำนาน (legendary tank) ในประวัติศาสตร์รัสเซีย

รถถัง T-34 ออกแบบโดยมิฮาอิล โคชคิน (Mikhail Koshkin) หลังจากโคชคินได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสอบแก้ไขข้อบกพร่องของรถถังเบาตระกูล BT ที่พบระหว่างการทดสอบในสงครามกลางเมืองสเปนในปี ค.ศ.1937 แต่โคชคินกลับมองว่าการพัฒนารถถังรุ่นใหม่เลยเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า โดยเขาเริ่มมีไอเดียเกี่ยวกับรถถังรุ่นใหม่มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1934 เป็นที่มาของชื่อรถถัง T-34 นั่นเอง โคชคินเสนอแบบรถถัง T-34 ให้กองทัพโซเวียตพิจารณาในปี ค.ศ.1939 แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากนายทหารโซเวียตยังคงยึดติดกับรถถังเบาในขณะที่ T-34 มีน้ำหนัก 26 ตันจัดเป็นรถถังกลาง สุดท้ายโคชคินจึงสร้างรถถัง T-34 คันต้นแบบด้วยตัวเอง เขาส่งจดหมายไปหาอิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) ผู้นำโซเวียต แล้วขับรถถัง T-34 จากโรงงานที่เมืองฮาร์คอฟไปทดสอบที่กรุงมอสโกด้วยตัวเองเป็นระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร รถถัง T-34 ผ่านการทดสอบและได้เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1940 แต่ทว่าโคชคินกลับล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบรุนแรง (severe pneumonia) ในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ.1940

รถถัง T-34 ที่โคชคินออกแบบมีจุดเด่นคือมีเกราะลาดเอียง สามารถป้องกันกระสุนได้ดี มีอำนาจการยิงรุนแรงด้วยปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตร และยังมีความเร็วสูง มีสายพานกว้าง สามารถเคลื่อนที่ในภูมิประเทศได้ดี เรียกว่าผสมผสาน 3 คุณสมบัติของรถถังคือเกราะป้องกัน อำนาจการยิง และความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ได้เป็นอย่างดี

รถถัง T-34 สามารถแบ่งได้เป็น 2 รุ่นใหญ่ๆตามขนาดปืนใหญ่ได้แก่ T-34/76 ติดปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตรและ T-34/85 ติดปืนใหญ่ขนาด 85 มิลลิเมตร แต่ความจริงแล้ว T-34 สามารถแบ่งรุ่นย่อยได้ถึง 5 รุ่นตามปีที่แต่ละรุ่นเข้าประจำการได้แก่รุ่นปี 1940, 1941, 1942, 1943 (ทั้ง 4 รุ่นติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตร เรียกรวมๆว่า T-34/76) และรุ่นปี 1944 ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 85 มิลลิเมตร นิยมเรียกกันว่า T-34/85 สังเกตว่าระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รถถัง T-34 มีรุ่นใหม่ออกมาทุกปี สาเหตุเพราะมีการนำประสบการณ์จากสนามรบมาแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆตลอดเวลานั่นเอง

ภาพรถถัง T-34/76 ที่พิพิธภัณฑ์รถถัง Kubinka
(Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

รถถัง T-34/76 รุ่นแรกคือรุ่นปี 1940 ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตรรุ่น L-11 ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่ค่อยดีนัก และกระบวนการผลิตค่อนข้างซับซ้อน ต่อมาในรุ่นปี 1941 จึงเปลี่ยนไปใช้ปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตรรุ่น F-34 ที่มีลำกล้องยาวขึ้น ออกแบบโดยวาซีลี กราบิน (Vasiliy Grabin) แทน รวมถึงมีการปรับชิ้นส่วนต่างๆให้เหมาะสำหรับการผลิตจำนวนมาก (mass product) มากขึ้น

เมื่อเยอรมันบุกสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1941 กองทัพโซเวียตมีรถถัง T-34 ประจำการอยู่ในขณะนั้นประมาณ 1,000 คัน และกำลังเร่งผลิตเพิ่มเติมเรื่อยๆ รถถัง T-34 มีขีดความสามารถเหนือกว่ารถถังเยอรมันทุกรุ่นในขณะนั้น (กองทัพเยอรมันในปี ค.ศ.1941 ใช้รถถัง Panzer III ติดปืนใหญ่ขนาด 50 มิลลิเมตรและ Panzer IV ติดปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรลำกล้องสั้นเป็นกำลังรบหลัก) ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 37 มิลลิเมตรรุ่น Pak-36 และขนาด 50 มิลลิเมตรรุ่น Pak-38 ของเยอรมันก็ยิงรถถัง T-34 ไม่เข้า มีอยู่ครั้งหนึ่งทหารเยอรมันระดมปืนใหญ่ต่อสู้รถถังทั้งกองพันระดมยิงรถถัง T-34 คันเดียวกว่า 30 นัดแต่ก็ยังหยุดรถถังโซเวียตไม่ได้ กองทัพเยอรมันต้องใช้ปืนใหญ่วิถีโค้งขนาด 105 มิลลิเมตรและปืนต่อสู้อากาศยาน Flak-36 ขนาด 88 มิลลิเมตรมายิงใส่รถถัง T-34 ในแนวตรงจึงจะหยุดรถถังโซเวียตได้

แม้รถถัง T-34 จะมีขีดความสามารถสูง แต่ก็ไม่เพียงพอจะช่วยพลิกสถานการณ์ให้โซเวียตได้ เนื่องจากกองทัพเยอรมันมียุทธวิธีที่ทันสมัยกว่า ทหารเยอรมันได้รับการฝึกดีกว่าและมีประสบการณ์รบในยุโรปตะวันตกมาแล้ว ขณะที่กองทัพโซเวียตสูญเสียนายทหารฝีมือดีไปจำนวนมากจากการกวาดล้างใหญ่ (The Great Purge) ของสตาลินเมื่อปี ค.ศ.1936 – 1939 ทหารโซเวียตก็ได้รับการฝึกไม่ดีพอ พลประจำรถถัง T-34 บางคันยิงปืนใหญ่ประจำรถไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่ใช้วิธีขับรถถังไล่ทับทหารเยอรมันไปเรื่อยๆ นอกจากนี้รถถัง T-34 รุ่นแรกๆยังมีจุดอ่อนสำคัญคือป้อมปืนคับแคบ ออกแบบมาสำหรับพลประจำรถเพียง 2 นาย (ผบ.รถถัง และพลบรรจุ) หมายความว่า ผบ.รถถังต้องทำหน้าที่เป็นพลยิงด้วย เพิ่มภาระให้ ผบ.รถถัง นอกจากนี้โซเวียตยังขาดแคลนวิทยุ จึงเลือกติดวิทยุให้เฉพาะรถถังของหัวหน้าหน่วยใช้ติดต่อกับกองบัญชาการเท่านั้น ส่วนการติดต่อประสานงานกับรถถังคันอื่นๆในหน่วยต้องใช้สัญญาณธง ซึ่งในทางปฏิบัติระหว่างการสู้รบคงไม่มี ผบ.รถถังคนไหนเปิดฝาป้อมออกมาโบกธง ส่งผลให้รถถังโซเวียตแต่ละคันทำการรบแบบตัวใครตัวมัน ประสานงานกันไม่ได้เลย ในขณะที่รถถังเยอรมันมีวิทยุทุกคัน สามารถติดต่อประสานงานกันได้ตลอดเวลา เมื่อถึงช่วงสิ้นปี ค.ศ.1941 กองทัพโซเวียตสูญเสียรถถัง T-34 ไปมากกว่า 2,300 คัน

จากจุดอ่อนเรื่องความคับแคบของป้อมปืน โซเวียตจึงออกแบบป้อมปืนของรถถัง T-34 ใหม่ในรุ่นปี 1942 และ 1943 ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพิ่มตำแหน่งพลยิงเข้าไป นอกจากนี้โซเวียตยังปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เรียบง่ายมากขึ้น นอกจากจะประหยัดเวลา เพิ่มอัตราการผลิตแล้วยังส่งผลให้ราคารถถังถูกลงด้วย จากเดิมที่รถถัง T-34 รุ่นปี 1941 คันหนึ่งมีราคา 270,000 รูเบิล รถถัง T-34 รุ่นปี 1943 กลับมีราคาเพียง 135,000 รูเบิลเท่านั้น อัตราการผลิตก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 คันต่อเดือน ขณะที่เยอรมันสามารถผลิตรถถัง Panzer IV ได้เฉลี่ยเดือนละ 250 คันเท่านั้น

ภาพรถถัง T-34/85 ที่พิพิธภัณฑ์รถถัง Kubinka
(Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

อย่างไรก็ตาม แม้รถถัง T-34/76 จะมีขีดความสามารถเหนือกว่ารถถังเยอรมันในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่อสงครามดำเนินไป กองทัพเยอรมันก็เริ่มนำรถถังรุ่นใหม่เข้าประจำการเช่นรถถัง Panzer IV ติดปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรลำกล้องยาว, รถถัง Panther และ Tiger I ส่งผลให้ขีดความสามารถของปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตรไม่เพียงพอรับมือรถถังเยอรมันอีกต่อไป รถถัง T-34/76 ยิงรถถัง Tiger I จากทางด้านหน้าไม่เข้า ต้องยิงใส่จากด้านข้างหรือด้านหลังในระยะประชิดเท่านั้น จึงจะเจาะเกราะรถถัง Tiger I ได้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หน่วยรถถังโซเวียตสูญเสียอย่างหนักในสมรภูมิคูร์ส (Battle of Kursk) การปรากฏตัวของรถถังรุ่นใหม่ของเยอรมันส่งผลให้โซเวียตต้องพัฒนารถถัง T-34 รุ่นปี 1944 ติดปืนใหญ่ขนาด 85 มิลลิเมตร ซึ่งสามมารถเจาะเกราะด้านหน้าของรถถัง Tiger I ได้ที่ระยะประมาณ 500 เมตร เป็นที่มาของชื่อ T-34/85 รถถังรุ่นนี้เป็นกำลังรบหลักของโซเวียตตั้งแต่ช่วงปฏิบัติการบากราติโอน (Operation Bagration) ไปจนถึงการบุกยึดกรุงเบอร์ลินในปี ค.ศ.1945

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รถถัง T-34/85 ยังคงอยู่ในสายการผลิตต่อไปจนถึงปี ค.ศ.1958 กองทัพโซเวียตใช้งานรถถังรุ่นนี้จนถึงช่วงยุค 80 และมีการส่งให้ประเทศพันธมิตรทั่วโลกใช้งานในสงครามเย็นด้วย เช่นประเทศยุโรปตะวันออกในกลุ่ม Warsaw Pact, จีน, เกาหลีเหนือ, เวียดนาม, ลาว, ซีเรีย, อียิปต์, คิวบา เป็นต้น มีส่วนร่วมในสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสงครามอาหรับ-อิสราเอล

รถถัง T-34 เป็นรถถังที่ถูกผลิตออกมามากที่สุดเป็นอันดับสองมากกว่า 90,000 คัน เป็นรุ่น T-34/76 ประมาณ 35,000 คันและ T-34/85 ประมาณ 55,000 คัน (ในจำนวนนี้เป็น T-34/85 ที่ผลิตออกมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองประมาณ 29,000 คัน) เป็นรองเพียงรถถัง T-54/55 ที่ผลิตออกมามากกว่า 100,000 คัน

สวัสดี

08.05.2021

คลิปรถถัง T-34/85 ของรัสเซีย

แสดงความคิดเห็น