ที-26 รถถังเบาของโซเวียตที่ถูกผลิตออกมามากที่สุดในช่วงทศวรรษ 1930

ภาพรถถัง T-26 รุ่นปี 1933 ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองคิรอฟสค์ รัสเซีย
(WolfDW/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

รถถังเบา T-26 ของสหภาพโซเวียตเข้าประจำการในปี ค.ศ.1931 มีต้นแบบมาจากรถถัง Vickers 6-Ton ของอังกฤษ เป็นรถถังที่ถูกผลิตออกมามากที่สุดในช่วงทศวรรษ 1930 มากกว่า 12,000 คัน (ในจำนวนนี้ประมาณ 1,700 คันถูกนำไปดัดแปลงเป็นยานเกราะประเภทอื่นๆ เช่นปืนใหญ่อัตตาจร)

ในช่วงปลายทศวรรษ 1920 ถึงต้นทศวรรษ 1930 สหภาพโซเวียตมีความพยายามปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยตามแนวคิดของมิฮาอิล ตูฮาเชฟสกี (Mikhail Tukhachevsky) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาและจัดหารถถังรุ่นใหม่เข้าประจำการจำนวนมาก (ตูฮาเชฟสกีต้องการให้กองทัพโซเวียตมีรถถังมากกว่า 50,000 คัน) แต่กลับติดปัญหาตรงที่อุตสาหกรรมของโซเวียตไม่เคยมีประสบการณ์ในการพัฒนาและผลิตรถถังเองมาก่อน ตอนนั้นรถถังในกองทัพโซเวียตมีเพียงรถถัง Renault FT ผลิตในฝรั่งเศสและ Mark V ผลิตในอังกฤษจากสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามกลางเมืองรัสเซียเท่านั้น ซึ่งล้าสมัยไปแล้ว ส่งผลให้โซเวียตต้องส่งคณะทำงานไปศึกษาและจัดหารถถังจากต่างประเทศ หนึ่งในรถถังที่โซเวียตจัดหามาคือรถถังเบา Vickers 6-Ton ของอังกฤษ ซึ่งโซเวียตซื้อมาพร้อมแบบแปลนโรงงานในปี ค.ศ.1930 ถูกใช้เป็นต้นแบบรถถังเบา T-26 ของโซเวียต

รถถัง T-26 รุ่นแรกผลิตออกมาในปี ค.ศ.1931 ถึงช่วงต้นปี ค.ศ.1933 มี 2 ป้อมปืน แต่ละป้อมติดปืนกล DT ขนาด 7.62 มิลลิเมตร 1 กระบอก มีอำนาจการยิงต่ำและมีเกราะบาง ป้องกันได้เพียงกระสุนปืนเล็กเท่านั้น ผลิตออกมาทั้งหมด 2,038 คัน เมื่อถึงปี ค.ศ.1939 ถือว่าล้าสมัยมากแล้ว บางส่วนจึงถูกนำไปดัดแปลงใช้ในภารกิจอื่นๆเช่นเป็นปืนใหญ่อัตตาจร ส่วนที่เหลือใช้ในการฝึก

รถถัง T-26 รุ่นปี 1933 เป็นรุ่นที่ผลิตออกมามากที่สุดประมาณ 5,000 คัน มีป้อมปืนเดียว ติดอาวุธหลักคือปืนใหญ่ขนาด 45 มิลลิเมตร บรรทุกกระสุน 122 นัด ส่วนใหญ่เป็นกระสุนเจาะเกราะสำหรับต่อสู้รถถัง นอกจากนี้ยังมีอาวุธรองคือปืนกล DT มากสุดถึง 3 กระบอก เป็นปืนกลร่วมแกน 1 กระบอก บนฝาป้อม 1 กระบอก และด้านหน้ารถอีก 1 กระบอก มีกระสุนปืนกลรวมกัน 2,961 นัด การที่รถถัง T-26 รุ่นนี้มีปืนกลจำนวนมากส่งผลดีในการต่อสู้กับทหารราบและปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง แสดงให้เห็นระหว่างการปะทะกับญี่ปุ่นในสมรภูมิฮาลฮิน โกล (Battle of Khalkhin Gol) จุดอ่อนของรถถังรุ่นนี้เช่นเดียวกับรถถังโซเวียตส่วนใหญ่ในยุคนั้นคือมีเพียงรถถังของ ผบ. หน่วยเท่านั้นที่มีวิทยุ นอกจากจะส่งผลให้ประสานงานภายในหน่วยลำบากแล้ว การที่รถถังของ ผบ. หน่วยมีเสาอากาศเห็นได้ชัดเจนยังส่งผลให้ตกเป็นเป้าได้ง่าย ภายหลังจึงมีการเปลี่ยนเสาอากาศไปใช้แบบ buggy whip แทน

รถถัง T-26 รุ่นปี 1938 มีการออกแบบป้อมปืนใหม่ มีเกราะลาดเอียงหนาขึ้น ผลิตออกมา 4,826 คัน

ในปี ค.ศ.1936 สหภาพโซเวียตส่งรถถัง T-26 จำนวน 281 – 297 คันและรถถังเบาตระกูล BT อีกจำนวนหนึ่งไปสนับสนุนฝ่ายสาธารณรัฐ (Republicans) ในสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War) ขณะที่เยอรมนีและอิตาลีก็ส่งรถถังเบา Panzer I และ CV-33 ตามลำดับมาสนับสนุนฝ่ายชาตินิยม (Nationalists) ของนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) รถถังเยอรมันและอิตาลีติดอาวุธเพียงปืนกล ไม่สามารถต่อกรกับรถถังโซเวียตได้ ส่งผลให้ฝ่ายชาตินิยมต้องพยายามยึดรถถังโซเวียตจากฝ่ายสาธารณรัฐเพื่อนำไปใช้งานแทน ประสบการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้เยอรมนีต้องเร่งพัฒนารถถังรุ่นใหม่ ขณะที่อิตาลีก็นำ T-26 ไปเป็นพื้นฐานในการออกแบบรถถังกลาง M13/40

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น สหภาพโซเวียตก็ขายรถถัง T-26 จำนวน 82 คันให้จีนในปี ค.ศ.1938 รถถังโซเวียตมีขีดความสามารถเหนือกว่ารถถังเบา Type-95 Ha-Go ของญี่ปุ่นซึ่งติดปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรสำหรับสนับสนุนทหารราบเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.1941 ญี่ปุ่นได้ทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับสหภาพโซเวียต ส่งผลให้โซเวียตเลิกสนับสนุนอะไหล่และผู้เชี่ยวชาญให้กับจีน แต่จีนก็ยังคงใช้งานรถถัง T-26 ต่อเนื่องไปจนถึงปี ค.ศ.1944

ระหว่างปี ค.ศ.1938 – 1939 เกิดการปะทะบริเวณชายแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น รถถัง T-26 ออกปฏิบัติการในสมรภูมิทะเลสาบฮาซาน (Battle of Lake Khasan) และฮาลฮิน โกล แม้โซเวียตจะเป็นฝ่ายชนะ เป็นสาเหตุหนึ่งที่หลังจากนั้นญี่ปุ่นได้ทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับโซเวียตแล้วหันไปแผ่อิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน แต่ประสบการณ์ในสมรภูมินี้ก็แสดงให้เห็นจุดอ่อนของรถถัง T-26 หลายอย่างเช่นมีเกราะบาง ไม่สามารถป้องกันกระสุนปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรของรถถัง Type-95 Ha-Go ได้ นอกจากนี้คุณภาพการเชื่อมเหล็กของโซเวียตก็ไม่ดี ส่งผลให้เมื่อรถถัง T-26 ถูกทหารราบญี่ปุ่นโจมตีด้วยระเบิดขวด (Molotov cocktail) ไฟสามารถลามเข้าไปภายในตัวรถและห้องเครื่องยนต์ได้

ในสงครามฤดูหนาว (Winter War) โซเวียตใช้รถถัง T-26 และรถถังรุ่นอื่นๆรวมกันหลายพันคันโจมตีฟินแลนด์ซึ่งมีรถถัง Vickers 6-Ton ผลิตในอังกฤษเพียง 32 คัน แม้โซเวียตจะมีกำลังรบมากกว่าฟินแลนด์แบบเทียบกันไม่ติด แต่ในช่วงแรกๆโซเวียตกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ประสบความสูญเสียอย่างหนัก สาเหตุสำคัญเกิดจากนายทหารที่มีฝีมือของโซเวียตจำนวนมากพึ่งถูกกวาดล้างไปใน The Great Purge ทหารโซเวียตได้รับการฝึกไม่ดีพอ แม้จะพยายามใช้ทหารราบสนับสนุนรถถังแล้ว แต่หลายครั้งทหารราบก็ติดตามรถถังไม่ทัน ทหารฟินแลนด์อาศัยความคุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศล่อรถถังโซเวียตเข้าไปติดกับในทุ่งกับระเบิดและสิ่งกีดขวางต่างๆ แล้วทำลายด้วยปืนใหญ่ต่อสู้รถถังและระเบิดขวด จากนั้นก็ใช้ปืนกลจัดการกับทหารราบโซเวียตที่ตามมาภายหลัง แม้ฟินแลนด์จะสูญเสียรถถัง Vickkers ไปจำนวนมากเช่นกันแต่กลับสามารถยึดรถถัง T-26 มาใช้ได้จำนวนมากกว่ารถถังที่มีอยู่เดิมเสียอีก สุดท้ายแม้โซเวียตจะบีบให้ฟินแลนด์ทำสนธิสัญญาสันติภาพมอสโก (Moscow Peace Treaty) ยกดินแดนบางส่วนให้โซเวียตได้สำเร็จ แต่ประสบการณ์ในสงครามฤดูหนาวก็แสดงให้โซเวียตเห็นว่ารถถัง T-26 นั้นล้าสมัยแล้ว เป็นสาเหตุหนึ่งที่โซเวียตหันไปพัฒนารถถังกลาง T-34 แทน

เมื่อเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1941 กองทัพโซเวียตมีรถถัง T-26 ประจำการอยู่มากกว่า 10,268 คัน แม้ T-26 จะสามารถรับมือรถถังเบาของกองทัพเยอรมันได้ แต่ขีดความสามารถของ T-26 เทียบไม่ได้กับรถถังกลาง Panzer III และ Panzer IV ปืนใหญ่ขนาด 45 มิลลิเมตรของ T-26 สามารถเจาะเกราะรถถังเยอรมันสองรุ่นนี้ได้ในระยะประชิดเท่านั้น ขณะที่เกราะของ T-26 นั้นบางมาก นอกจากจะถูกรถถังเยอรมันทำลายได้ง่ายแล้ว รถถังโซเวียตจำนวนมากยังถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศด้วย กองทัพโซเวียตยังมีปัญหาในการส่งกำลังบำรุง ส่งผลให้รถถังจำนวนมากที่ชำรุดเสียหายถูกทิ้งไว้ระหว่างทางตั้งแต่ยังไปไม่ถึงแนวรบ ภายในเวลาไม่กี่เดือน กองทัพโซเวียตก็สูญเสียรถถัง T-26 ไปเกือบทั้งหมด โซเวียตทดแทนรถถังที่สูญเสียไปด้วยรถถัง T-34 ส่วนรถถัง T-26 ที่เหลืออยู่ก็ถูกใช้ต่อไปในสมรภูมิมอสโก สตาลินกราด เทือกเขาคอเคซัส และการป้องกันเมืองเลนินกราด

กองทัพโซเวียตใช้งานรถถัง T-26 ครั้งสุดท้ายในการรบกับกองทัพกวางตุ้ง (Kwantung Army) ของญี่ปุ่นในแมนจูเรีย เดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 ขณะที่ฟินแลนด์ใช้งานรถถัง T-26 ที่ยึดได้ต่อเนื่องไปจนถึงปี ค.ศ.1961

สวัสดี

11.05.2021

แสดงความคิดเห็น