ประวัติศาสตร์รถถังในประเทศจีน จากยุคขุนศึกถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพรถถังเบา Renault FT ในประเทศจีน (Public Domain)

แม้มหาอำนาจตะวันตกจะเริ่มใช้งานรถถังอย่างแพร่หลายในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่จีนพึ่งจะมีรถถังใช้งานครั้งแรกในช่วงยุคขุนศึก (Warlord Era) ซึ่งสาธารณรัฐจีนแบ่งแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าปกครองโดยนายทหารในภูมิภาคต่างๆแย่งชิงอำนาจกัน โดยรถถังรุ่นแรกๆของจีนเป็นรถถังของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ส่งผ่านรัสเซียเข้ามา เนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกันกับยุคขุนศึกของจีนได้เกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War) ขึ้นระหว่างฝ่ายบอลเชวิค (Bolsheviks) ที่ยึดอำนาจหลังการปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ.1917 กับฝ่ายขาว (White movement) ซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฯลฯ ได้ยกพลขึ้นบกมายึดครองเมืองท่าต่างๆของรัสเซีย เช่นอาร์ฮันเกลสค์ (Arkhangelsk) และวลาดิวอสต็อก (Vladivostok) เพื่อใช้เป็นฐานส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์สนับสนุนฝ่ายขาว หนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งให้ฝ่ายขาวก็คือรถถังนั่นเอง ซึ่งต่อมารถถังเหล่านี้บางส่วนก็ถูกส่งต่อเข้าไปในประเทศจีน

ขุนศึกจาง จั้วหลิน (Zhang Zuolin) ของจีนได้รับมอบรถถังเบา Renault FT ที่ฝรั่งเศสส่งมาที่เมืองวลาดิวอสต็อกมาใช้งานจำนวนหนึ่ง และต่อมาในปี ค.ศ. 1924 – 1925 ก็จัดหามาใช้งานเพิ่มอีก 14 คัน ใช้สู้รบกับขุนศึกอู๋เป่ยฝู (Wu Pei-fu) ในปี ค.ศ.1926 เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้งานรถถังในประเทศจีน หลังจากนั้นก็มีการจัดหารถถังเบา Renault FT มาใช้งานในจีนอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองแมนจูเรียในปี ค.ศ.1931 รถถังรุ่นนี้ก็ถูกญี่ปุ่นยึดไปเกือบหมด นำไปใช้งานต่อโดยกองทัพกวางตุ้น (Kwantung Army)

ในปี ค.ศ.1924 พรรคก๊กมินตั๋งได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อยุติยุคขุนศึก โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต มีการส่งที่ปรึกษาชาวโซเวียตมาช่วยปฏิรูปกองทัพจีน แต่ทว่าในปี ค.ศ.1927 ความร่วมมือนี้ก็สิ้นสุดลง พรรคก๊กมินตั๋งขับไล่พรรคคอมมิวนิสต์จีนออกไป รวมถึงตัดความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตด้วย

ในปี ค.ศ.1929 พรรคก๊กมินตั๋งจัดหารถถังเบา Carden Loyd Mk VI (จริงๆแล้วยานเกราะรุ่นนี้จัดเป็น tankette แต่เนื่องจากไม่มีศัพท์บัญญัติในภาษาไทย ผมจึงขอเรียกว่ารถถังเบาตามการจัดของกองทัพไทย) จากอังกฤษจำนวน 24 คัน ต่อมาในปี ค.ศ.1932 เกิดการสู้รบกับญี่ปุ่นที่เมืองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai incident) โดยกองทัพญี่ปุ่นมีการใช้งานรถถังอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้จีนต้องพยายามปฏิรูปกองทัพ มีการจัดหารถถังเบา Vickers 6-Ton จำนวน 20 คันและรถถังเบาสะเทินน้ำสะเทินบก Vickers-Carden-Loyd จำนวน 29 คันจากอังกฤษมาเพิ่มเติมระหว่างช่วงทศวรรษ 1930

ภาพรถถังเบาสะเทินน้ำสะเทินบก Vickers-Carden-Loyd ที่จีนจัดหาจากอังกฤษ (Public Domain)

เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนีในปี ค.ศ.1933 ฮิตเลอร์มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้พรรคก๊กมินตั๋งกระชับสัมพันธ์กับเยอรมนี มีการส่งที่ปรึกษาชาวเยอรมันมาช่วยปฏิรูปกองทัพจีน โดยจีนได้จัดหารถถังเบา Panzer I จำนวน 15 คันจากเยอรมนีและ CV-35 จำนวน 20 คันจากอิตาลี อย่างไรก็ตามรถถังสองรุ่นนี้ติดอาวุธเพียงปืนกลเท่านั้น เทียบไม่ได้กับรถถัง Type-95 Ha-Go ของญี่ปุ่น

ในปี ค.ศ.1937 เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (Second Sino-Japanese War) กองทัพจีนมีรถถังที่จัดหามาจากหลายประเทศรวมกัน 96 คัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเพียงหนึ่งปี จีนก็สูญเสียรถถังทั้งที่ถูกทำลายและถูกญี่ปุ่นยึดได้ไปถึงครึ่งหนึ่ง ในปี ค.ศ.1938 ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและญี่ปุ่นแน่นแฟ้นมากขึ้น ญี่ปุ่นยื่นคำขาดให้เยอรมนีถอนที่ปรึกษาชาวเยอรมันออกจากประเทศจีน ส่งผลให้ความร่วมมือทางทหารระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและเยอรมนีสิ้นสุดลง พรรคก๊กมินตั๋งต้องจับมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกครั้งเพื่อรบกับญี่ปุ่น สหภาพโซเวียตจึงได้โอกาสเสนอตัวเข้ามาสนับสนุนจีนอีกครั้ง มีการส่งที่ปรึกษาชาวโซเวียตกลับเข้ามาในประเทศจีน และจีนก็จัดหารถถังเบา T-26 รุ่นปี 1933 จำนวน 82 คันจากสหภาพโซเวียต รถถังรุ่นนี้สามารถต่อกรกับรถถังญี่ปุ่นได้อย่างสูสี

ภาพรถถังเบา T-26 รุ่นปี 1933 ที่จีนจัดหาจากสหภาพโซเวียต (Public Domain)

แม้การสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตจะช่วยให้จีนรบกับญี่ปุ่นได้สูสีมากขึ้น แต่ทว่าในเดือนเมษายน ค.ศ.1941 ญี่ปุ่นได้ทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับสหภาพโซเวียต เพื่อเตรียมขยายอำนาจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากนั้นสหภาพโซเวียตก็เลิกสนับสนุนจีน ประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯก็เข้ามามีบทบาทแทนหลังญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941

ช่วงแรกสหรัฐฯเสนอจะส่งรถถังเบา T16 CTMS ให้จีนจำนวน 600 คัน แต่จีนมองว่ารถถังรุ่นนี้ล้าสมัยจึงปฏิเสธ ภายหลังสหรัฐฯได้ส่งรถถังรุ่นอื่นๆได้แก่รถถังเบา M2A2 จำนวน 233 คัน, รถถังเบา M3A3 และ M5A1 Stuart จำนวน 48 คัน และรถถังกลาง M4A4 Sherman จำนวน 35 คัน ให้กับจีนระหว่างปี ค.ศ.1942 – 1944 ตามโครงการยืม-เช่า (Lend-Lease)

จะเห็นได้ว่าภายในช่วงเวลาประมาณ 20 ปีเท่านั้น จีนมีโอกาสใช้งานรถถังที่ผลิตโดยชาติมหาอำนาจต่างๆเกือบทุกประเทศ ตั้งแต่ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี สหภาพโซเวียต และสหรัฐฯ

สวัสดี

13.05.2021

แสดงความคิดเห็น