การปรากฏตัวของรถถังหนักทีเกอร์ในแนวรบด้านตะวันออก

ภาพรถถังหนัก Tiger I สังกัดกองพันรถถังหนักที่ 502 บริเวณทะเลสาบลาโดกา ใกล้เมืองเลนินกราด เดือนมิถุนายน ค.ศ.1943
(Bundesarchiv, Bild 101I-461-0213-34 / Zwirner / CC-BY-SA 3.0)

หลังรถถัง Tiger I เข้าประจำการไม่นาน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ใจร้อน ต้องการเห็นผลงานของรถถังรุ่นใหม่นี้โดยเร็วที่สุด จึงมีคำสั่งให้ส่งรถถัง Tiger I ไปยังแนวรบด้านตะวันออกในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.1942 ก่อนกำหนดหลายเดือน หน่วยทหารเยอรมันหน่วยแรกที่ได้รับมอบรถถังรุ่นนี้ไปใช้งานคือกองพันรถถังหนักที่ 502 (schwere Panzerabteilung 502) ซึ่งวางกำลังอยู่ใกล้เมืองเลนินกราด ได้รับมอบรถถัง Tiger I ชุดแรกจำนวน 4 คันระหว่างวันที่ 19 – 20 สิงหาคม และภายหลังก็ทยอยได้รับเพิ่มเติมอีก กองพันนี้ใช้รูปช้างแมมมอธเป็นสัญลักษณ์

รถถัง Tiger I ออกปฏิบัติการครั้งแรกในวันที่ 29 สิงหาคม แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นโคลนเลน ไม่เหมาะสำหรับรถถัง Tiger I ซึ่งมีน้ำหนักมาก นอกจากนี้รถถัง Tiger I หลายคันยังชำรุดเสียหาย เนื่องจากถูกส่งมายังแนวหน้าทั้งที่ยังไม่พร้อมด้วย วันที่ 22 กันยายน รถถัง Tiger I คันหนึ่งติดหล่มโคลนไม่สามารถกู้ขึ้นมาได้ สุดท้ายทหารเยอรมันต้องทำลายรถถังคันดังกล่าวทิ้งเพื่อไม่ให้ถูกโซเวียตยึดได้ ที่น่าสนใจคือในช่วงเวลานี้ฝ่ายโซเวียตไม่ได้สังเกตเลยว่ากองทัพเยอรมันมีรถถังรุ่นใหม่แล้ว

กองทัพโซเวียตได้ข่าวเกี่ยวกับรถถัง Tiger I ครั้งแรกช่วงปลายปี ค.ศ.1942 จากหน่วยข่าวกรองอังกฤษ ตอนแรกอังกฤษก็ไม่รู้ข้อมูลที่แน่นอนเกี่ยวกับรถถัง Tiger I มากนัก นอกจากว่ารถถังรุ่นนี้มีน้ำหนักมากกว่ารถถังกลาง Panzer III และ Panzer IV แต่ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1942 กองทัพเยอรมันก็ส่งรถถัง Tiger I มาที่แนวรบแอฟริกาเหนือในตูนิเซีย กองทัพอังกฤษและสหรัฐฯจึงมีโอกาสได้เผชิญหน้ากับรถถังรุ่นนี้เข้าเต็มๆ

วันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1943 กองทัพโซเวียตเริ่มปฏิบัติการอิสครา (Operation Iskra) เพื่อทลายวงล้อมของกองทัพเยอรมัน และส่งเสบียงเข้าไปในเมืองเลนินกราด กองพันรถถังหนักที่ 502 ใช้รถถัง Tiger I ตอบโต้การรุกของโซเวียต ในวันที่ 17 มกราคม มีรถถัง Tiger I คันหนึ่งติดหล่ม อีกคันหนึ่งถูกยิงบริเวณป้อมปืนและระบบเกียร์เสีย ไม่สามารถใช้งานได้ ทหารเยอรมันจึงต้องทำลายรถถังทั้งสองคันทิ้งไม่ให้ถูกยึดได้ วันรุ่งขึ้นกองทัพโซเวียตเข้าโจมตีที่มั่นของทหารเยอรมันบริเวณหมู่บ้านคนงานหมายเลข 5 ฝ่ายเยอรมันส่งรถถัง Tiger I จำนวน 2 คันและ Panzer III จำนวน 3 คันไปสนับสนุนแนวป้องกันของฝ่ายตน โดยรถถัง Panzer III มาถึงก่อน เข้าปะทะกับรถถังเบา T-60 ของโซเวียตจำนวน 5 คัน รถถังโซเวียตแกล้งทำเป็นถอย ล่อรถถังเยอรมันเข้าไปหาปืนใหญ่ต่อสู้รถถังโซเวียตที่ซุ่มรออยู่ ส่งผลให้รถถัง Panzer III ถูกทำลาย และโซเวียตก็สามารถยึดหมู่บ้านคนงานดังกล่าวได้ในเวลาต่อมา แม้จะสูญเสียรถถังเบา T-60 ทั้ง 5 คันไปเช่นกัน ทางด้านรถถัง Tiger I ที่ติดตามรถถัง Panzer III มานั้น มีคันหนึ่งติดหล่มระหว่างทางและถูกพลประจำรถทิ้งไว้ ส่วนอีกคันหนึ่งแล่นมาถึงที่หมาย แต่เกิดลื่นไถลลงจากถนนไปติดอยู่ในพรุ พลประจำรถลงจากรถถังแล้วเดินไปที่หมู่บ้านคนงานเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยที่ไม่รู้ว่าหมู่บ้านดังกล่าวถูกทหารโซเวียตยึดได้แล้ว เมื่อเจอกับทหารโซเวียต พลประจำรถถังเยอรมันก็หลบหนีไป ทิ้งรถถังที่ติดอยู่ในพรุเอาไว้ ส่งผลให้วันนั้นทหารโซเวียตสามารถยึดรถถัง Tiger I ทั้งสองคันรวมถึงเอกสารภายในรถได้แล้วส่งไปยังสนามทดสอบรถถังที่คูบินก้า (Kubinka) ตอนแรกทหารโซเวียตไม่รู้ชื่อรถถังรุ่นนี้ จึงเรียกว่าเอเลฟานต์ (Elefant) หรือช้าง ตามสัญลักษณ์รูปช้างแมมมอธของกองพันรถถังหนักที่ 502 บนป้อมปืนนั่นเอง โซเวียตพยายามศึกษาขีดความสามารถของรถถัง Tiger I อย่างเร่งรีบ เอกสารที่ยึดได้ก็ถูกรีบแปลออกมา ส่งผลให้มีรายละเอียดบางอย่างผิดพลาดเช่นโซเวียตประเมินน้ำหนักรถถัง Tiger I ไว้ที่ 75 – 80 ตันทั้งๆที่น้ำหนักจริงๆคือ 57 ตัน ความหนาของเกราะก็ประเมินออกมาผิดเช่นกัน

โซเวียตนำรถถัง Tiger I ที่ยึดได้คันหนึ่งไปใช้เป็นเป้าทดสอบปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง ปรากฏว่าปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของโซเวียตในขณะนั้นเกือบทุกรุ่นยิงรถถังรุ่นนี้แทบไม่เข้า ต้องยิงเข้าใส่จากด้านข้างหรือในระยะประชิดเท่านั้นจึงจะเจาะเกราะรถถัง Tiger I ยกตัวอย่างเช่นปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 45 มิลลิเมตรรุ่น M-42 สามารถเจาะเกราะด้านข้างของ Tiger I ได้ที่ระยะ 350 เมตร, ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 57 มิลลิเมตร ZiS-2 สามารถเจาะเกราะด้านหน้าของ Tiger I ได้ที่ระยะ 300 เมตรและด้านข้างที่ระยะ 800 – 1,000 เมตร ขณะที่ปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตรรุ่น F-34 ของรถถังกลาง T-34/76 และ KV-1 ยิงรถถัง Tiger I ไม่เข้าเลย แม้จะจ่อยิงที่ระยะ 200 เมตรแล้วก็ตาม มีเพียงปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 85 มิลลิเมตรและปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตรที่สามารถเจาะเกราะรถถัง Tiger I จากระยะไกลได้

สำหรับรถถัง Tiger I ที่ยึดได้อีกคันหนึ่ง โซเวียตนำไปทดสอบใช้ปืนใหญ่ขนาด 88 มิลลิเมตรของ Tiger I ยิงใส่รถถัง T-34/76 และ KV-1 ของตัวเอง เพื่อประเมินว่าเกราะของรถถังโซเวียตสามารถรับมืออำนาจการยิงของรถถัง Tiger I ได้มากน้อยแค่ไหน ผลปรากฏว่ารถถังเยอรมันสามารถเจาะเกราะรถถังโซเวียตได้จากระยะไกลกว่า 1.5 กิโลเมตร

จากผลการทดสอบนี้เอง ส่งผลให้โซเวียตต้องเร่งพัฒนารถถังและปืนใหญ่ต่อสู้รถถังรุ่นใหม่อย่างเร็วที่สุด แต่กว่ายุทโธปกรณ์รุ่นใหม่เช่นรถถัง T-34/85 และ IS-2 จะเข้าประจำการก็ต้องรอถึงปี ค.ศ.1944 ระหว่างนี้กองทัพโซเวียตต้องหาทางรับมือการรุกของกองทัพเยอรมันในช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ.1943 บริเวณเมืองคูร์ส (Kursk) ชื่อปฏิบัติการซิตาเดล (Operation Citadel) ด้วยยุทโธปกรณ์เท่าที่มี

สวัสดี

16.05.2021

แสดงความคิดเห็น