
(DZGuymed/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
เฟอร์ดินันด์ (Ferdinand) เป็นยานเกราะล่ารถถังของกองทัพเยอรมัน (Wehrmacht) สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งชื่อตามนักออกแบบเฟอร์ดินันด์ พอร์เชอ (Ferdinand Porsche) เข้าประจำการในปี ค.ศ.1943 เปิดตัวครั้งแรกในสมรภูมิคูร์ส (Battle of Kursk) เป็นหนึ่งในอาวุธวิเศษ (Wunderwaffe) ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เชื่อว่าจะช่วยพลิกสถานการณ์ให้กองทัพเยอรมันกลับมาเป็นฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่สอง
จุดเริ่มต้นของเฟอร์ดินันด์ มาจากโครงการพัฒนารถถังหนักทีเกอร์ (Tiger I) ซึ่งบริษัทเฮนเชล (Henschel) และพอร์เชอ (Porsche) แข่งขันกัน ผลการทดสอบปรากฏว่าบริษัทเฮนเชลเป็นฝ่ายชนะ เนื่องจากต้นแบบรถถังทีเกอร์ของพอร์เชอคือ VK 45.01 (P) นั้นมีน้ำหนักมากถึง 60 ตันและใช้เครื่องยนต์ที่มีความซับซ้อนสูง ปัญหาคือก่อนหน้านั้นพอร์เชอเชื่อว่าต้นแบบรถถังทีเกอร์ของตัวเองจะชนะการคัดเลือกแน่นอน จึงแอบลักไก่ผลิตรถถัง VK 45.01 (P) ออกมาเสร็จสมบูรณ์แล้วจำนวน 10 คันและผลิตออกมาเฉพาะตัวรถถัง (hull) อีกประมาณ 90 คัน ใช้ทรัพยากรไปพอสมควร ส่งผลให้กองทัพเยอรมันถูกมัดมือชกต้องหาทางใช้ประโยชน์จากตัวรถถังของพอร์เชอโดยปริยาย
พอร์เชอนำตัวรถถัง VK 45.01 (P) มาดัดแปลงเป็นยานเกราะล่ารถถัง (Jagdpanzer) มีพลประจำรถ 6 นาย ติดอาวุธปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 88 มิลลิเมตรรุ่น PaK 43/2 L/71 และเสริมเกราะให้หนาขึ้นไปอีก ส่งผลให้น้ำหนักรถเพิ่มขึ้นเป็น 65 ตัน แต่พอร์เชอกลับไม่ได้เพิ่มกำลังเครื่องยนต์ของยานเกราะรุ่นนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังไม่มีการติดตั้งปืนกลสำหรับป้องกันตัวจากทหารราบด้วย เพราะตามหลักนิยมของกองทัพเยอรมัน ยานเกราะล่ารถถังจะถูกใช้ยิงทำลายรถถังฝ่ายตรงข้ามจากระยะไกล ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าประชิดแนวรบฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง PaK 43 นั้นมีขีดความสามารถพอจะทำลายรถถังโซเวียตได้จากระยะไกลสุดถึง 4 – 5 กิโลเมตรเลยทีเดียว ยานเกราะล่ารถถังรุ่นใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่าเฟอร์ดินันด์ตามชื่อนักออกแบบ ผลิตออกมาทั้งหมด 91 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถต้นแบบ 2 คัน อีก 89 คันถูกส่งไปยังแนวรบด้านตะวันออก เตรียมเข้าร่วมสมรภูมิคูร์สในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1943
แม้ฮิตเลอร์จะตั้งความหวังกับเฟอร์ดินันด์ไว้สูง แต่ผลงานในสมรภูมิคูร์สกลับออกมาตรงกันข้าม เริ่มจากเครื่องยนต์ของเฟอร์ดินันด์มีกำลังไม่พอรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้ ส่งผลให้บางครั้งเครื่องยนต์ของเฟอร์ดินันด์เกิดเพลิงไหม้ตั้งแต่ยังไม่เข้าสนามรบ นอกจากนี้แม้เฟอร์ดินันด์จะมีเกราะหนา สามารถป้องกันกระสุนปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของโซเวียตได้เกือบทุกรุ่น แต่เนื่องจากเฟอร์ดินันด์มีขนาดใหญ่ ตกเป็นเป้าได้ง่าย ส่งผลให้ทหารราบเยอรมัน ไม่ค่อยอยากติดตามยานเกราะรุ่นนี้เท่าไหร่ ประกอบกับไม่มีปืนกลไว้ป้องกันตัว ส่งผลให้เฟอร์ดินันด์ตกเป็นเป้าของทหารราบโซเวียตซึ่งซุ่มอยู่ในสนามเพลาะ รอจนกระทั่งยานเกราะเยอรมันแล่นเข้ามาใกล้ แล้วจึงโผล่ออกมาโจมตีด้วยระเบิดมือต่อสู้รถถัง (anti-tank grenade) และระเบิดขวด (Molotov cocktail) การที่เฟอร์ดินันด์มีน้ำหนักมาก ยังส่งผลให้การเคลื่อนย้ายเฟอร์ดินันด์ด้วยรถกู้ซ่อม ในกรณีที่สายพานขาดจากการแล่นไปทับกับระเบิดหรือถูกยิงด้วยปืนใหญ่ต่อสู้รถถังเป็นไปอย่างยากลำบาก มีหลายครั้งที่พลประจำรถต้องตัดสินใจทำลายเฟอร์ดินันด์ทิ้งเพื่อไม่ให้ทหารโซเวียตยึดได้ กองทัพเยอรมันสูญเสียเฟอร์ดินันด์ไปเกือบครึ่งหนึ่งระหว่างสมรภูมิคูร์ส
หลังสมรภูมิคูร์ส เยอรมันนำยานเกราะล่ารถถังเฟอร์ดินันด์ที่เหลืออยู่กลับมาอัพเกรดใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นเอเลฟานต์ (Elefant) ในปี ค.ศ.1944 มีการติดปืนกล MG-34 ขนาด 7.92 มิลลิเมตรด้านหน้าตัวรถ และเสริมเกราะให้หนาขึ้นไปอีก จนสามารถป้องกันได้แม้กระทั่งปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตรของรถถังหนัก IS-2 แต่ก็ส่งผลให้น้ำหนักของเอเลฟานต์เพิ่มขึ้นเป็น 70 ตัน
ยานเกราะล่ารถถังเอเลฟานต์ส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังแนวรบอิตาลี แม้เอเลฟานต์จะมีเกราะหนาและอำนาจการยิงสูง แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้งา นเนื่องจากถนนและสะพานส่วนใหญ่ไม่สามารถรองรับน้ำหนักของยานเกราะรุ่นนี้ได้ นอกจากนี้กองทัพเยอรมันยังมีปัญหาขาดแคลนอะไหล่ด้วย มีหลายครั้งเมื่อเอเลฟาต์เกิดชำรุดเสียหาย พลประจำรถก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องทิ้งรถ นอกจากแนวรบอิตาลีแล้ว ยานเกราะล่ารถถังเอเลฟานต์ที่เหลือก็ถูกใช้ต่อไปในแนวรบด้านตะวันออกจนถึงสมรภูมิสุดท้ายที่กรุงเบอร์ลิน (Battle of Berlin) ในเดือนเมษายน ค.ศ.1945
สวัสดี
16.05.2021