
(National Army Museum; Supplied by The Public Catalogue Foundation)
สมรภูมิไอแซนด์ลวานา (Battle of Isandlwana) เป็นสมรภูมิใหญ่ครั้งแรกระหว่างกองทัพอังกฤษและนักรบซูลู (Zulu) เป็นหนึ่งในหายนะทางทหารครั้งใหญ่ที่สุด เมื่อกองทัพของชาติมหาอำนาจยุโรปที่มียุทโธปกรณ์ทันสมัยต้องพ่ายแพ้ให้กับชนพื้นเมืองที่ถูกมองว่าเป็นคนเถื่อน ใช้อาวุธล้าสมัยกว่า
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิอังกฤษมีความพยายามจะผนวกดินแดนแอฟริกาใต้เป็นอาณานิคม โดยในปี ค.ศ.1877 อังกฤษแต่งตั้งเซอร์เฮนรี่ บาร์เทิล เฟรียร์ (Sir Henry Bartle Frere) เป็นข้าหลวงใหญ่แห่งแอฟริกาใต้ เพื่อดำเนินนโยบายล่าอาณานิคม อุปสรรคสำคัญของอังกฤษในภูมิภาคนี้คือสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (South African Republic) ของชาวบัวร์ (Boer ผู้ตั้งรกรากชาวดัตช์) และราชอาณาจักรซูลู (Zulu Kingdom) หรือซูลูแลนด์ (Zululand) ของชนพื้นเมืองชาวซูลู ซึ่งมีกองทัพที่เข้มแข็ง แม้จะยังใช้อาวุธที่ล้าสมัยได้แก่หอกกับโล่เป็นหลัก และมีปืนคาบศิลาอยู่จำนวนหนึ่ง
แม้บริเวณชายแดนระหว่างอาณานิคมอังกฤษและซูลูแลนด์จะมีเหตุกระทบกระทั่งเป็นระยะ แต่ที่ผ่านมาชาวซูลูก็พยายามหาทางประนีประนอมกับอังกฤษ อย่างไรก็ตามลอร์ดเชล์มฟอร์ด (Lord Chelmsford) ผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษในแอฟริกาใต้ก็ยังคงมองซูลูแลนด์เป็นภัยคุกคามต่ออาณานิคม ต้องจัดการด้วยกำลังทหารให้ได้ ในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.1878 เซอร์เฟรียร์ยื่นคำขาดต่อกษัตริย์เคตช์วาโย (Cetshwayo) ของซูลูแลนด์ มีเงื่อนไขหลายข้อที่ชาวซูลูไม่อาจยอมรับได้เช่นต้องยุบกองทัพซูลูและยกเลิกประเพณีทางทหารหลายอย่างของตัวเอง เมื่อกษัตริย์เคตช์วาโยไม่ยอมรับคำขาด อังกฤษก็ใช้ประเด็นนี้เป็นข้ออ้างประกาศสงคราม
เวลาตีสอง วันที่ 11 มกราคม ค.ศ.1879 กองทัพอังกฤษของลอร์ดเชล์มฟอร์ดก็ข้ามชายแดนเข้าสู่ซูลูแลนด์ ตอนแรกลอร์ดเชล์มฟอร์ดวางแผนจะใช้ทหาร 16,500 นายโจมตีซูลูแลนด์จาก 5 ทิศทางแต่ภายหลังได้ลดลงเหลือ 3 ทาง โดยกำลังหลักจะอยู่ตรงกลางมีกำลังพล 7,800 นายแบ่งเป็น 2 กอง ข้ามแม่น้ำบัฟฟาโล (Buffalo River) ใกล้ค่ายมิชชันนารีรอกส์ดริฟต์ (Rorke’s Drift) แล้วมุ่งหน้าไปทางตะวันออก ตามแผนกองกำลังนี้จะต้องเคลื่อนพลผ่านเนินเขาไอแซนด์ลวานา (Isandlwana) มุ่งหน้าต่อไปยังกรุงอุลุนดี (Ulundi) เมืองหลวงของซูลูแลนด์ แล้วทำศึกตัดสินกับกองทัพซูลู โดยอังกฤษเชื่อว่ากองทัพอังกฤษซึ่งมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยจะสามารถเอาชนะกองทัพซูลูได้ไม่ยาก
แม้อังกฤษจะเชื่อว่าตนเองจะสามารถเอาชนะกองทัพซูลูได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย แต่ทว่าธรรมชาติได้เข้าแทรกแซง ภูมิประเทศของซูลูแลนด์นั้นทุรกันดารมาก ประกอบกับมีฝนตกลงมาอย่างหนัก พื้นดินกลายเป็นโคลนเลน ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายสัมภาระและยุทโธปกรณ์ของกองทัพอังกฤษเป็นไปอย่างยากลำบาก ในวันที่ 20 มกราคม มีเพียงกองหน้าของทหารอังกฤษประมาณ 4,000 นายที่มาถึงไอแซนด์ลวานา ทหารอังกฤษต่างเหนื่อยล้าจากการเดินทาง ลอร์ดเชล์มฟอร์ดจึงออกคำสั่งให้ทหารตั้งค่ายพักบริเวณเนินเขา โดยไม่ได้มีการนำเกวียนมาล้อมเป็นวงเพื่อสร้างแนวป้องกันแต่อย่างใด เพราะคิดว่ากองทัพซูลูคงไม่กล้าเข้าโจมตี
ระหว่างนี้กษัตริย์เคตช์วาโยก็ระดมพลกองทัพซูลู 24 กอง (ภาษาซูลูเรียกว่าอิมปี Impi) มีกำลังพลประมาณ 24,000 นาย กองทัพซูลูแบ่งกำลังพลประมาณ 4,000 นายออกไปสกัดกองทัพอังกฤษก่อน ส่วนกำลังหลัก 20,000 นายตั้งค่ายรอโจมตีกองทัพอังกฤษในวันที่ 23 มกราคม แม้อาวุธของนักรบซูลูจะล้าสมัย แต่นักรบซูลูได้เปรียบทหารอังกฤษตรงที่รบในบ้าน มีความเชี่ยวชาญสภาพภูมิประเทศมากกว่า สามารถเคลื่อนพลได้รวดเร็วกว่า
วันที่ 21 มกราคม ทหารม้าลาดตระเวณของอังกฤษพบนักรบซูลูประมาณ 4,000 นายบนถนนมุ่งสู่กรุงอุลุนดี เมื่อลอร์ดเชล์มฟอร์ดทราบข่าวก็ดีใจมาก คิดว่าจะได้ทำศึกตัดสินกับกองทัพซูลูอย่างรวดเร็ว เขาจึงวางแผนจะแบ่งกำลังพลประมาณ 2,800 นาย ยกไปปะทะกับกองทัพซูลูในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ในช่วงที่กำลังรอเวลาอยู่นั้น กองทัพอังกฤษไม่ได้ส่งหน่วยลาดตระเวณออกไปติดตามความเคลื่อนไหวของกองทัพซูลูแต่อย่างใด หารู้ไม่ว่ากองทัพซูลูก็พบที่ตั้งค่ายของอังกฤษที่ไอแซนด์ลวานาแล้วเช่นกัน
ช่วงเช้าวันที่ 22 มกราคม ลอร์ดเชล์มฟอร์ดก็นำกำลังหลักของทหารอังกฤษเคลื่อนออกจากค่าย เหลือทหารไว้ดูแลค่ายประมาณ 1,300 นาย อยู่ใต้บังคับบัญชาของพันเอกเฮนรี พูลเลอิน (Henry Pulleine) ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการรบภาคสนามมาก่อน โชคดีที่ทหารอังกฤษส่วนใหญ่เป็นทหารผ่านศึกที่มีประสบการณ์ และต่อมาในเวลา 10.30 น. พันเอกแอนโทนี เดินฟอร์ด (Anthony Durnford) ก็นำทหารอังกฤษจากรอกส์ดริฟต์มาสมทบอีกประมาณ 500 นาย ในช่วงเวลาเดียวกันนี้กองกำลังหลักของลอร์ดเชล์มฟอร์ดก็เดินทางไปถึงที่หมาย แต่กลับไม่พบกองทัพซูลูแต่อย่างใด เนื่องจากนักรบซูลู 4,000 นายนั้นได้แอบเคลื่อนพลออกไปในเวลากลางคืนไปสมทบกับกำลังหลัก 20,000 นายเตรียมเข้าโจมตีค่ายทหารอังกฤษที่ไอแซนด์ลวานา
เวลาประมาณ 11.00 น. ทหารม้าอังกฤษจากไอแซนด์ลวานาพบนักรบซูลูจำนวนหนึ่งทางเหนือของค่าย แล้วติดตามไปจนพบกำลังหลักของกองทัพซูลู เมื่อกองทัพซูลูเห็นว่าตนเองถูกทหารอังกฤษพบแล้ว ก็รีบเคลื่อนกำลังมุ่งตรงมายังค่ายทหารอังกฤษทันที กองทัพซูลูใช้กลยุทธ์รูปวัว โดยกำลังพลส่วนกลางที่เปรียบเสมือนหัวและลำตัวของวัวจะเข้าโจมตีตรงกลางเพื่อดึงความสนใจของทหารอังกฤษ ส่วนปีกสองข้างของกองทัพซูลูซึ่งเปรียบเสมือนเขาวัวจะอ้อมไปโอบล้อมทหารอังกฤษจากสองด้าน
เมื่อพันเอกพูลเลอินได้รับรายงานจากทหารม้า เขาก็ออกคำสั่งให้ทหารอังกฤษในค่ายไอแซนด์ลวานาแแกไปวางกำลังเป็นแนวยาวเตรียมรับมือกองทัพซูลู ขณะที่พันเอกเดินฟอร์ดก็นำทหารออกไปลาดตระเวณทางทิศตะวันออก พบกับปีกซ้ายของกองทัพซูลู เขาจึงสั่งให้ทหารถอยมาตั้งหลัก แล้วจัดแนวรบรับมือกองทัพซูลูส่วนดังกล่าว แม้ทหารอังกฤษจะสามารถยิงสกัดกองกลางและปีกซ้ายของกองทัพซูลูไว้ได้ แต่การที่ทหารอังกฤษมัวแต่สนใจกองทัพซูลูในส่วนนี้ก็เปิดโอกาสให้ปีกขวาของกองทัพซูลูอ้อมไปปิดล้อมค่ายทหารอังกฤษจากด้านหลังได้สำเร็จ
เมื่อเวลาผ่านไป หน่วยทหารของพันเอกเดินฟอร์ดก็เริ่มขาดแคลนกระสุน เขาจึงสั่งให้ทหารถอยเข้าไปในค่ายไอแซนด์ลวานา ส่งผลให้ปีกขวาของพันเอกพูลเลอินเปิดโล่ง พันเอกพูลเลอินไม่มีทางเลือกต้องสั่งให้ทหารถอยเข้าไปในค่ายเช่นกัน ทันใดนั้นในเวลา 14.29 น. ก็เกิดสุริยคราสขึ้น ส่งผลให้ทั่วทั้งสมรภูมิตกอยู่ในความมืดมิด นักรบซูลูฉวยโอกาสนี้บุกเข้าประชิดตัวทหารอังกฤษ ขณะที่ปีกขวาของกองทัพซูลูก็เปิดฉากโจมตีค่ายทหารอังกฤษจากทางด้านหลัง ทหารอังกฤษเห็นว่าหมดหวังแล้วพยายามหนีเอาตัวรอดก่อนที่วงล้อมจะถูกปิด ทหารที่หนีไม่ทันรวมถึงพันเอกพูลเลอินและพันเอกเดินฟอร์ดต่างก็ถูกนักรบซูลูสังหาร ส่วนทหารที่ฝ่าวงล้อมออกไปได้ก็ถูกนักรบซูลูไล่ล่าไปจนถึงริมฝั่งแม่น้ำบัฟฟาโล
สมรภูมิไอแซนด์ลวานาเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของกองทัพอังกฤษต่อชนพื้นเมืองที่อังกฤษมองว่าต่ำต้อยกว่า มีทหารอังกฤษเสียชีวิตกว่า 1,300 นาย กองทัพอังกฤษยังสูญเสียยุทโธปกรณ์ได้แก่ปืนไรเฟิล 1,000 กระบอก กระสุน 400,000 นัด ปืนใหญ่ 2 กระบอก ม้า วัว และลากว่า 2,000 ตัว เกวียน 130 เล่ม และเสบียงอาหารจำนวนมาก ขณะที่นักรบซูลูเสียชีวิตประมาณ 2,500 นาย บาดเจ็บประมาณ 2,000 นาย
เมื่อลอร์ดเชล์มฟอร์ดกลับมาถึงค่ายไอแซนด์ลวานาในช่วงเย็น ก็ตกใจมากที่พบศพทหารเกลื่อนไปทั่วสมรภูมิ เขากังวลว่ากองทัพซูลูจะบุกข้ามชายแดนเข้าไปในอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งกองทัพซูลูบางส่วนก็พยายามข้ามชายแดนเข้าไปจริงๆ ในช่วงเวลาเดียวกับที่สมรภูมิไอแซนด์ลวานาดำเนินไปนั้น มีนักรบซูลูประมาณ 4,000 นายเคลื่อนพลไปยังค่ายรอกส์ดริฟต์ ซึ่งมีทหารอังกฤษป้องกันอยู่ประมาณ 150 นายเท่านั้น และสมรภูมิค่ายรอกส์ดริฟต์ (Battle of Rorke’s Drift) ก็จะกลายเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์
สวัสดี
21.05.2021