
(Photographer: Allan C. Green 1878 – 1954/ Restoration: Adam Cuerden)
เรือหลวงฮู้ด (HMS Hood) ของอังกฤษ ตั้งชื่อตามพลเรือเอกซามูเอล ฮู้ด (Samuel Hood) นายทหารเรืออังกฤษสมัยศตวรรษที่ 18 เป็นเรือลำแรกของเรือลาดตระเวนประจัญบาน (Battlecruiser) ชั้นอัดมิรัล (Admiral-class) และเป็นเรือลำเดียวของชั้นที่ได้รับการต่อจนเสร็จ โดยอังกฤษเริ่มสั่งต่อเรือชั้นอัดมิรัล 4 ลำช่วงต้นปี ค.ศ.1916 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เรือหลวงฮู้ดเริ่มวางกระดูกงูวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1916 ขณะที่เรือในชั้นอัดมิรัลอีก 3 ลำเริ่มวางกระดูกงูในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนปีเดียวกัน แต่ภายหลังอังกฤษได้ยกเลิกการต่อเรือทั้ง3 ลำไปเนื่องจากต้องโยกทรัพยากรไปใช้ต่อเรือสินค้าและเรือคุ้มกันซึ่งมีความจำเป็นมากกว่าในการรับมือเรือดำน้ำเยอรมัน (U-Boat) ส่งผลให้เรือหลวงฮู้ดเป็นเรือลำเดียวในชั้นอัดมิรัลที่ต่อเสร็จสมบูรณ์ ปล่อยลงน้ำในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1918 ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะสิ้นสุดลงไม่นาน เป็นเรือลาดตระเวนประจัญบานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นจนได้ฉายาว่า Mighty Hood เป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของกองทัพเรืออังกฤษ
เรือหลวงฮู้ดมีระวางขับน้ำสูงสุด 48,650 ตัน มีขนาดยาว 262.3 เมตร กว้าง 31.8 เมตร กินน้ำลึก 9.2 เมตร ติดอาวุธปืนเรือขนาด 381 มิลลิเมตร 8 กระบอกในป้อมปืน 4 ป้อมๆละ 2 กระบอก ปืนใหญ่ขนาด 140 มิลลิเมตร 12 กระบอก นอกจากนี้ยังมีปืนต่อสู้อากาศยานและท่อยิงตอร์ปิโดอีกจำนวนหนึ่ง ความเร็วสูงสุด 29.5 นอต ระยะปฏิบัติการ 8,900 ไมล์ทะเล มีลูกเรือประมาณ 1,400 นาย
เรือหลวงฮู้ดเข้าประจำการในกองทัพเรืออังกฤษอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1920 เป็นเรือธงของหมู่เรือลาดตระเวนประจัญบาน สังกัดกองเรือในมหาสมุทรแอตแลนติก ได้เดินทางเยือนอาณานิคมของอังกฤษและหลายประเทศทั่วโลกเช่นสหรัฐฯ แคนาดา แอฟริกาใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โปรตุเกส ฯลฯ ก่อนจะได้รับการปรับปรุงใหญ่ระหว่างปี ค.ศ.1929 – 1931
วันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1935 เรือหลวงฮู้ดถูกเรือลาดตระเวนประจัญบานรีนาวน์ (HMS Renown) ชนบริเวณช่องแคบยิลรอลตาร์ ขณะมุ่งหน้าไปทะเลเมดิเตอเรเนียน ได้รับความเสียหายเล็กน้อย ต้องเข้ารับการซ่อมแซวชั่วคราวที่ยิบรอลตาร์ก่อนจะแล่นกลับไปซ่อมแซมต่อที่ฐานทัพเรือพอร์ตสมัธ (Portsmouth) ต่อมาเรือหลวงฮู้ดถูกส่งมายังทะเลเมดิเตอเรเนียนอีกครั้ง ตอนที่เกิดสงครามระหว่างอิตาลีและเอธิโอเปีย (Second Italo-Ethiopian War) พอดี
เรือหลวงฮู้ดเข้ารับการปรับปรุงที่พอร์ตสมัธอีกครั้งระหว่างวันที่ 26 มิถุนายนถึง 10 ตุลาคม ค.ศ.1936 ก่อนจะถูกย้ายมาสังกัดกองเรืออังกฤษในทะเลเมดิเตอเรเนียนในวันที่ 20 ตุลาคม หลังเกิดสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War) ไม่นาน ในปี ค.ศ.1937 เรือหลวงฮู้ดทำภารกิจคุ้มกันเรือสินค้าอังกฤษเข้าออกเมืองท่าของสเปน ไม่ให้เรือรบของฝ่ายชาตินิยมของนายพลฟรังโก (Francisco Franco) ปิดอ่าวได้ เรือหลวงฮู้ดเข้ารับการปรับปรุงที่มอลตาในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ค.ศ.1937 ก่อนจะกลับพอร์ตสมัธเพื่อรับการซ่อมใหญ่ระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม ค.ศ.1939
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น เรือหลวงฮู้ดได้รับมอบหมายภารกิจให้ทำการลาดตระเวณคุ้มกันเรือสินค้าใกล้ไอซ์แลนด์และหมู่เกาะแฟโร ก่อนจะถูกส่งไปยังทะเลเหนือในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ.1939 เพื่อคุ้มกันเรือดำน้ำ HMS Spearfish ของอังกฤษที่ได้รับความเสียหาย ฝูงบินทิ้งระเบิดของเยอรมันพบกองเรืออังกฤษ เรือหลวงฮู้ดถูกระเบิดขนาด 250 กิโลกรัมทิ้งจากเครื่องบินทิ้งระเบิด Ju-88 จำนวน 1 ลูก ส่งผลให้เครื่องจักรบนเรือหลวงฮู้ดได้รับความเสียหายต้องเข้ารับการซ่อมแซมระหว่างวันที่ 4 เมษายนถึง 12 มิถุนายน ค.ศ.1940
เมื่อฝรั่งเศสยอมจำนนต่อเยอรมัน เรือหลวงฮู้ดก็มีส่วนร่วมในภารกิจทำลายเรือรบของฝรั่งเศสที่เหลืออยู่เพื่อไม่ให้กองทัพเยอรมันยึดไปใช้ประโยชน์ได้ หลังจากนั้นเรือหลวงฮู้ดก็ไปประจำอยู่ที่ฐานทัพเรือสกาปาโฟล์ว (Scapa Flow) ทำภารกิจคุ้มกันเรือสินค้าและสกัดไม่ให้เรือรบผิวน้ำของเยอรมันเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกได้ วันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1940 เรือหลวงฮู้ดถูกส่งออกไปสกัดเรือลาดตระเวนหนัก (Heavy Cruiser) หรือเรือประจัญบานขนาดกระเป๋า (Pocket Battleship) ของเยอรมันชื่ออัดมิรัลเชียร์ (Admiral Scheer) แต่อังกฤษหาเรือรบเยอรมันไม่พบ ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม เรือหลวงฮู้ดก็ถูกส่งออกไปค้นหาเรือลาดตระเวนหนักอัดมิรัล ฮิปเปอร์ (Admiral Hipper) ของเยอรมันแต่ก็หาไม่พบอีกเช่นกัน
เรือหลวงฮู้ดมีกำหนดเข้ารับการปรับปรุงซ่อมแซมใหญ่ในปี ค.ศ.1941 แต่สถานการณ์สงครามส่งผลให้เรือหลวงฮู้ดสามารถเข้ารับการปรับปรุงเป็นระยะเวลาสั้นๆระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม ค.ศ.1941 เท่านั้น หลังจากนั้นเรือหลวงฮู้ดก็ถูกส่งไปสกัดเรือลาดตระเวนประจัญบานชาร์นฮอร์สต์ (Scharnhorst) และกไนเซเนา (Gneisenau) ไม่ให้เข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก แต่ไม่สำเร็จ เรือหลวงฮู้ดได้รับมอบหมายภารกิจใหม่ลาดตระเวณอ่าวบิสเคย์ (Bay of Biscay) ไม่ให้เรือรบเยอรมันออกจากฐานทัพที่เมืองแบรสต์ (Brest) ในฝรั่งเศสได้
วันที่ 19 เมษายน เรือหลวงฮู้ดถูกส่งไปยังทะเลนอร์วีเจียน (Norwegian Sea) เนื่องจากอังกฤษได้รับรายงานที่ไม่เป็นความจริงว่าเรือประจัญบานบิสมาร์ค (Bismarck) ของเยอรมันแล่นออกจากท่าแล้ว เรือหลวงฮู้ดกลับมาประจำที่สกาปาโฟล์วในวันที่ 6 พฤษภาคม
วันที่ 18 พฤษภาคม กองทัพเรือเยอรมันเริ่มปฏิบัติการไรน์อือบุง (Rheinübung) ส่งเรือประจัญบานบิสมาร์คและเรือลาดตระเวนหนักปรินซ์ออยเก้น (Prinz Eugen) เข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เรือลาดตระเวณหนักซัฟโฟล์ค (HMS Suffolk) และนอร์โฟล์ค (HMS Norfolk) ของอังกฤษพบหมู่เรือเยอรมันช่องแคบเดนมาร์ก (Denmark Strait) เมื่อกองบัญชาการของอังกฤษทราบข่าวจึงส่งเรือหลวงฮู้ดและเรือประจัญบานปรินซ์ออฟเวลส์ (HMS Prince of Wales) ส่งออกไปสกัด ระหว่างนี้ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นคือตอนแรกบิสมาร์คแล่นนำหน้าปรินซ์ออยเก้น แต่เมื่อหมู่เรือเยอรมันเห็นว่ามีเรือลาดตระเวณหนักของอังกฤษแล่นติดตามมา บิสมาร์คจึงเปิดฉากยิงปืนเรือใส่ แต่พลาดเป้า แรงสะท้อนของปืนเรือส่งผลให้เรดาร์ของบิสมาร์คได้รับความเสียหาย เรือรบเยอรมันจึงสลับตำแหน่งกันให้ปรินซ์ออยเก้นนำหน้าแทน แต่เรือรบอังกฤษไม่ได้สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงนี้แต่อย่างใด ยังคงเข้าใจว่าเรือรบเยอรมันลำหน้าสุดคือบิสมาร์ค
เมื่อเรือรบอังกฤษและเยอรมันปะทะกันในยุทธนาวีช่องแคบเดนมาร์ก (Battle of the Denmark Strait) ช่วงเช้าวันที่ 24 พฤษภาคม ทั้งเรือหลวงฮู้ดและปรินซ์ออฟเวลส์ต่างก็เปิดฉากยิงใส่เรือรบเยอรมันลำที่อยู่หน้าสุด เนื่องจากคิดว่าเป็นบิสมาร์ค ก่อนจะเปลี่ยนเป้าหมายในภายหลัง ตอนแรกฝ่ายเยอรมันยังไม่ยิงตอบโต้กลับมา เนื่องจากนายทหารเยอรมันกำลังถกเถียงกันว่าควรจะปะทะกับเรือรบอังกฤษหรือเร่งมุ่งหน้าไปมหาสมุทรแอตแลนติกให้เร็วที่สุด จนกระทั่งกัปตันเรือบิสมาร์คแอร์นส์ ลินเดมันน์ (Ernst Lindemann) ประกาศกร้าวว่าจะไม่ยอมถูกยิงอยู่ฝ่ายเดียว และออกคำสั่งให้เรือรบเยอรมันยิงตอบโต้ โดยทั้งบิสมาร์คและปรินซ์ออยเก้นต่างก็เล็งเป้าหมายไปที่เรือหลวงฮู้ดเป็นหลัก กระสุนปืนเรือของบิสมาร์คชุดหนึ่งเจาะทะลุเข้าไปในคลังแสงของเรือหลวงฮู้ด ส่งผลให้เกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงจนเรือหลวงฮู้ดหักครึ่ง จมลงอย่างรวดเร็ว มีลูกเรือรอดชีวิตเพียง 3 นายเท่านั้น เรือหลวงปรินซ์ออฟเวลส์ก็ถูกยิงได้รับความเสียหายเช่นกันจนต้องถอนตัวจากการรบไป
การจมของเรือหลวงฮู้ดซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของกองทัพเรืออังกฤษส่งผลให้อังกฤษตกใจมาก นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ออกคำสั่งให้จมบิสมาร์คให้ได้ (Sink the Bismarck!) ซึ่งกองทัพเรืออังกฤษก็สามารถจมบิสมาร์ค แก้แค้นให้เรือหลวงฮู้ดได้สำเร็จในวันที่ 27 พฤษภาคม
สวัสดี
24.05.2021