
(Mike1979 Russia/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 3.0)
เมื่อเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1941 ในปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) โซเวียตสังเกตว่านอกจากรถถังแล้ว ยานเกราะอีกชนิดหนึ่งที่กองทัพเยอรมันนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายก็คือปืนใหญ่อัตตาจร Sturmgeschütz III หรือ StuG III ยานเกราะรุ่นนี้เกิดจากการนำปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตร (ขณะนั้นยังเป็นแบบลำกล้องสั้น) มาติดตั้งบนตัวรถถัง Panzer III ซึ่งถอดป้อมปืนออก ใช้ในภารกิจสนับสนุนทหารราบเข้าตีที่มั่นข้าศึก ส่งผลให้บางครั้งยานเกราะประเภทนี้ถูกเรียกว่าปืนใหญ่จู่โจม (Assault Gun) จุดเด่นของยานเกราะประเภทนี้คือมีราคาถูก ผลิตง่าย สามารถติดปืนขนาดใหญ่ซึ่งปกติจะไม่สามารถติดในป้อมปืนของรถถังรุ่นนั้นๆได้ นอกจากนี้การไม่มีป้อมปืนยังส่งผลให้มีขนาดเตี้ย ซ่อนพรางได้สะดวก ยากต่อการถูกยิง โซเวียตจึงตัดสินจะพัฒนายานเกราะชนิดเดียวกับ StuG III ขึ้นมาบ้าง
ในเดือนเมษายน ค.ศ.1942 โซเวียตเริ่มพัฒนาต้นแบบปืนใหญ่อัตตาจรจำนวน 2 รุ่น รุ่นแรกคือ SG-122 เกิดจากการนำปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตร มาติดตั้งบนตัวรถ StuG III ที่ยึดได้จากเยอรมัน โครงการนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจาก SG-122 ต้องการการซ่อมบำรุงสูงมาก ส่วนปืนใหญ่อัตตาจรอีกรุ่นหนึ่งคือ U-34 เกิดจากการนำรถถัง T-34 มาถอดป้อมปืนออกแล้วติดปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตรลงไปเฉยๆ ส่งผลให้มีขนาดเตี้ยลง และหุ้มเกราะหนาขึ้น โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน
ต่อมาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ค.ศ.1942 โซเวียตได้ตัดสินใจนำปืนใหญ่อัตตาจร SG-122 และ U-34 มารวมร่างกัน กล่าวคือนำปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตรรุ่น M-30S มาติดตั้งบนตัวรถถัง T-34 รถต้นแบบชื่อ U-35 ผลิตเสร็จในวันที่ 25 พฤศจิกายน และเข้ารับการทดสอบระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายนถึง 19 ธันวาคม แม้ U-35 จะมีข้อบกพร่องหลายอย่างเช่นมุมก้มเงยของปืนใหญ่ ระบบระบายอากาศ ฯลฯ แต่ก็ได้รับอนุมัติให้เข้าสู่สายการผลิต ตอนแรกกองทัพโซเวียตตั้งชื่อปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นนี้ว่า SU-35 ก่อนจะเปลี่ยนเป็น SU-122 ตามขนาดปืนใหญ่
ปืนใหญ่อัตตาจร SU-122 เข้าสู่สายการผลิตในเดือนธันวาคม ค.ศ.1942 ภายในเดือนแรกสามารถผลิตออกมาได้ถึง 27 คัน และโซเวียตมีแผนจะเพิ่มอัตราการผลิตเป็นเดือนละประมาณ 100 คัน ปืนใหญ่อัตตาจร SU-122 ออกรบครั้งแรกที่เลนินกราดในเดือนมกราคม ค.ศ.1943 ช่วงแรกๆโซเวียตจัดปืนใหญ่อัตตาจร SU-76 และ SU-122 ไว้ในหน่วยเดียวกัน แต่ต่อมาพบว่าการจัดหน่วยแบบนี้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ภายหลังจึงมีการแยกหน่วยปืนใหญ่อัตตาจร SU-76 และ SU-122 ออกจากกัน
ระหว่างสมรภูมิคูร์สในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1943 โซเวียตพบว่าปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตร ลำกล้องสั้น ความเร็วต้นต่ำของ SU-122 มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอรับมือรถถังรุ่นใหม่ของเยอรมันทั้งรถถังกลาง Panther และรถถังหนัก Tiger I ยกเว้นจะใช้กระสุนระเบิดแรงสูง (HE) ยิงใส่รถถังเยอรมันตรงๆเท่านั้น วิศวกรโซเวียตพยายามพัฒนากระสุนเจาะเกราะขนาด 122 มิลลิเมตรรุ่นใหม่ให้ปืนใหญ่อัตตาจร SU-122 ใช้ต่อสู้รถถัง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ภารกิจที่เหมาะสมสำหรับปืนใหญ่อัตตาจร SU-122 คือการสนับสนุนทหารราบเข้าตีที่มั่นข้าศึกทำนองเดียวกับ StuG III รุ่นแรกๆของเยอรมันนั่นเอง ภายหลังปืนใหญ่อัตตาจร SU-122 ก็ค่อยๆถูกแทนที่ด้วยปืนใหญ่อัตตาจร SU-152 ขนาด 152 มิลลิเมตรและยานเกราะล่ารถถัง SU-85 และ SU-100
สายการผลิตปืนใหญ่อัตตาจร SU-122 ถูกปิดในช่วงฤดูร้อน ค.ศ.1943 ผลิตออกมาประมาณ 640 คัน
สวัสดี
25.05.2021