ขีดความสามารถรถถังหลัก Type-90 ของญี่ปุ่น

ภาพรถถังหลัก Type-90 ของญี่ปุ่น
(Megapixie/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

รถถัง Type-90 ของญี่ปุ่น ออกแบบและพัฒนาโดยบริษัท Mitsubishi เริ่มโครงการช่วงปลายยุค 70 ให้มีขีดความสามารถใกล้เคียงกับรถถัง M1 Abrams ของสหรัฐฯและรถถัง Leopard-2 ของเยอรมนี เพื่อถ่วงดุลกับรถถัง T-72 ของสหภาพโซเวียต ทดแทนรถถัง Type-61 ที่ญี่ปุ่นใช้งานมาตั้งแต่ยุค 60

ต้นแบบรถถัง Type-90 ชุดแรกจำนวน 2 คันผลิตเสร็จในปี ค.ศ.1980 ใช้ปืนใหญ่ขนาด 120 มิลลิเมตรและกระสุนผลิตในญี่ปุ่น แต่เมื่อการทดสอบดำเนินไปถึงปี ค.ศ.1986 ก็มีการผลิตต้นแบบรถถัง Type-90 ชุดที่สองจำนวน 4 คันซึ่งใช้ปืนใหญ่ขนาด 120 มิลลิเมตรรุ่น L44 จากบริษัท Rheinmetall ของเยอรมนี แบบเดียวกับรถถัง Leopard-2A4 และ M1 Abrams แทน ต่อมาในปี ค.ศ.1990 รถถัง Type-90 ก็ได้เข้าสู่สายการผลิต แม้รถถังรุ่นนี้จะใช้ปืนใหญ่รุ่น L44 ของเยอรมนี แต่ญี่ปุ่นก็ได้ซื้อสิทธิบัตรปืนใหญ่รุ่นนี้มาผลิตเองภายในประเทศด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่ารถถัง Type-90 เป็นรถถังที่ผลิตในญี่ปุ่น 100% ที่น่าสนใจคือญี่ปุ่นเลือกใช้ระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ (automatic loader) ต่างจากรถถังค่าย NATO ส่วนใหญ่ที่ยังใช้พลบรรจุกระสุนอยู่

รถถัง Type-90 มีน้ำหนัก 50.2 ตัน มีขนาดยาว 9.76 เมตร กว้าง 3.43 เมตร สูง 2.34 เมตร ใช้พลประจำรถ 3 นาย (ผบ.รถถัง พลขับ และพลยิง) ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 120 มิลลิเมตร Rheinmetall L44 มีระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ, ปืนกลร่วมแกน Type-74 ขนาด 7.62 มิลลิเมตร และปืนกลหนักต่อสู้อากาศยาน M2HB ขนาด 12.7 มิลลิเมตร รถถัง Type-90 ใช้เครื่องยนต์ดีเซล Mitsubishi 10ZG32WT ขนาด 1,500 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 350 กิโลเมตร

การที่รถถัง Type-90 ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในญี่ปุ่น 100% ส่งผลให้รถถังรุ่นนี้มีราคาแพงมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่รถถัง Type-90 ไม่เคยได้รับการอัพเกรดมาจนถึงปัจจุบัน รถถัง Type-90 ยังมีน้ำหนักมาก ไม่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศของญี่ปุ่นด้วย สายการผลิตรถถัง Type-90 ถูกปิดในปี ค.ศ.2009 เปลี่ยนไปผลิตรถถัง Type-10 ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าและน้ำหนักเบากว่าแทน ปัจจุบันกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นมีรถถัง Type-90 ใช้งานอยู่ 341 คัน

สวัสดี

01.06.2021

แสดงความคิดเห็น