เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ตัดสินใจเดินหน้าปฏิบัติการซิตาเดล (Operation Citadel) กองทัพเยอรมันเตรียมทุ่มกำลังเต็มที่เข้าบดขยี้กองทัพโซเวียตในพื้นที่รอบเมืองคูร์ส (Kursk) โดยจะใช้กำลังพลจากกองทัพที่ 9 ของกลุ่มกองทัพภาคกลาง (Army Group Center) โจมตีจากทางเหนือ และกองทัพยานเกราะที่ 4 (4th Panzer Army) ของกลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) โจมตีจากทางใต้ มีกำลังพลรวมกันเกือบ 50 กองพล ประกอบด้วยทหารราบประมาณ 900,000 นาย รถถังประมาณ 2.500 คัน ปืนใหญ่ประมาณ 10,000 กระบอก และเครื่องบินรบประมาณ 2,000 ลำ
รถถังเยอรมันในปี ค.ศ.1943 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นรถถังกลาง Panzer III และ Panzer IV แต่การที่ปฏิบัติการซิตาเดลถูกเลื่อนออกไปหลายเดือน ก็เปิดโอกาสให้กองทัพเยอรมันได้รับมอบรถถังและยานเกราะรุ่นใหม่ๆเข้าประจำการจำนวนมากขึ้น เช่นรถถังหนัก Tiger I, รถถังกลาง Panzer V Panther, ยานเกราะล่ารถถัง Ferdinand, ปืนใหญ่อัตตาจร Wespe และ Hummel เป็นต้น

(Bundesarchiv, Bild 101I-219-0553A-15 / Koch / CC-BY-SA 3.0)
ยุทธวิธีของหน่วยยานเกราะเยอรมันในการเข้าตีที่มั่นฝ่ายตรงข้าม จะจัดรูปขบวนเป็นรูปลิ่ม มีรถถัง Tiger I และ Panther ซึ่งมีอำนาจการยิงสูงอยู่ตรงหัวขบวน ขนาบข้างด้วยรถถัง Panzer III และ Panzer IV ซึ่งมีความเร็วสูงกว่า เยอรมันต้องการอาศัยอำนาจการยิงของรถถัง Tiger I และ Panther เจาะทะลวงแนวป้องกันของโซเวียต จากนั้นรถถัง Panzer III และ Panzer IV ก็จะกระจายกำลังออกไปโอบล้อมทำลายที่มั่นของโซเวียต
นอกจากกองทัพบกเยอรมันจะได้รับมอบยานเกราะรุ่นใหม่จำนวนมากแล้ว กองทัพอากาศเยอรมันก็ได้รับมอบเครื่องบินโจมตีรุ่นใหม่เช่นกัน ได้แก่ Focke-Wulf Fw 190A5 ซึ่งออกแบบมาเป็นเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด, เครื่องบินดำทิ้งระเบิด Junkers Ju-87 G-1 ซึ่งเป็น Stuka รุ่นที่ติดปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 37 มิลลิเมตรไว้ใต้ปีกทั้งสองข้าง ใช้ยิงกระสุนเจาะเกราะแกนทังสเตนใส่รถถังโซเวียตจากด้านบนซึ่งเกราะบางที่สุด นอกจากนี้กองทัพอากาศเยอรมันยังมีฝูงเครื่องบินโจมตี Henschel Hs-129 รุ่นต่างๆซึ่งติดอาวุธตั้งแต่ปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรไปจนถึงปืนใหญ่กึ่งอัตโนมัติขนาด 75 มิลลิเมตร สำหรับต่อสู้รถถังโดยเฉพาะ

(Bundesarchiv, Bild 101I-646-5184-26 / Niermann / CC-BY-SA 3.0)
ทางด้านกองทัพโซเวียตก็ระดมพลเข้ามาเสริมที่คูร์สอย่างเต็มที่เช่นกัน ประกอบด้วยทหารราบเกือบ 2,000,000 นาย รถถังประมาณ 3,300 คัน ปืนใหญ่ประมาณ 20,000 กระบอก และเครื่องบินรบประมาณ 2,700 ลำ กองทัพโซเวียตใช้เวลาหลายสัปดาห์สร้างแนวป้องกันขึ้น 3 ชั้น มีการขุดสนามเพลาะรวมกันเป็นระยะทางกว่า 9,000 กิโลเมตร มีการสร้างถนนเป็นระยะทางยาว 2,000 กิโลเมตรและสะพาน 686 แห่ง ทหารช่างโซเวียตยังได้วางกับระเบิดสังหารบุคคลและกับระเบิดดักรถถังรวมกันมากกว่า 900,000 ลูก นอกจากนี้ทหารโซเวียตยังเปลี่ยนยุทธวิธีการใช้ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังใหม่ แทนที่จะวางกำลังกระจายเป็นแนวยาว ทหารโซเวียตได้รวมปืนใหญ่ต่อสู้รถถังเข้าด้วยกันเป็นที่มั่นต่อสู้รถถัง (Anti-Tank strongpoint) โดยที่มั่นต่อสู้รถถังแห่งหนึ่งจะมีปืนใหญ่ต่อสู้รถถังประมาณ 20 กระบอกและปืนไรเฟิลต่อสู้รถถังอีกหลายสิบประบอกหันออกไปทุกทิศทาง ที่มั่นต่อสู้รถถังแต่ละแห่งจะอยู่ห่างกันประมาณ 600 – 800 เมตร ถ้ารถถังเยอรมันพยายามฝ่าเข้าไปตามช่องว่างนี้ ก็จะเปิดโอกาสให้ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังโซเวียตยิงใส่ทางด้านข้างซึ่งมีเกราะบางได้
กองทัพอากาศโซเวียตก็ได้รับยุทโธปกรณ์ชนิดใหม่มาใช้กับเครื่องบินโจมตี Ilyushin Il-2 Shturmovik โดยที่ผ่านมาเครื่องบินรบรุ่นนี้จะหุ้มเกราะหนา ส่งผลให้มีน้ำหนักมาก บรรทุกระเบิดขนาด 50 กิโลกรัมได้น้อย ขาดความแม่นยำ โซเวียตจึงได้พัฒนาฝักระเบิดขนาดเล็ก ฝักหนึ่งมีระเบิดขนาด 1.5 กิโลกรัมจำนวน 48 ลูก เครื่องบินโจมตี Il-2 ลำหนึ่งบรรทุกฝักระเบิดแบบนี้ได้ 4 ฝักรวมระเบิด 192 ลูก สามารถทิ้งระเบิดปูพรมพื้นที่เป็นแนวยาว 200 เมตร

(RIA Novosti archive, image #225 / Fyodor Levshin / CC-BY-SA 3.0)
ระหว่างที่กองทัพโซเวียตเสริมแนวป้องกันรอบเมืองคูร์ส ก็มีการถกเถียงในกองบัญชาการโซเวียตเช่นกัน โดยผู้นำโซเวียต อิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) และนายพลนิโคไล วาตูติน (Nikolai Vatutin) ซึ่งรับผิดชอบแนวป้องกันของโซเวียตทางใต้ของเมืองคูร์ส ต้องการให้โซเวียตเป็นฝ่ายโจมตีเยอรมันก่อน ปัจจัยหนึ่งมาจากการที่นายพลวาตูตินเป็นนายทหารที่ชำนาญการโจมตีมากกว่าตั้งรับ (ตรงกันข้ามกับนายพลโมเดลของเยอรมัน) ประกอบกับพื้นที่ทางใต้ของเมืองคูร์สส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ไม่มีแนวป้องทางธรรมชาติ ต่างจากพื้นที่ทางเหนือของเมืองคูร์สซึ่งรับผิดชอบโดยนายพลคอนสแตนติน โรคอสซอฟสกี (Konstantin Rokossovsky) ที่มีป่าคอยจำกัดพื้นที่ปฏิบัติการของกองทัพเยอรมันเอาไว้ แต่จอมพลเกออร์กี ชูคอฟ (Georgy Zhukov) ยืนยันให้กองทัพโซเวียตเป็นฝ่ายตั้งรับ รอกองทัพเยอรมันเข้าตีก่อน แนวป้องกันที่แน่นหนาของโซเวียตจะค่อยๆทอนกำลังของฝ่ายเยอรมันลง จากนั้นเมื่อกองทัพเยอรมันอ่อนกำลังลงแล้ว กองทัพโซเวียตจึงค่อยทำการรุกตอบโต้ ซึ่งยุทธวิธีนี้ชูคอฟเคยใช้ได้ผลมาแล้วที่กรุงมอสโกและเมืองสตาลินกราด
ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม กองทัพโซเวียตเตรียมพร้อมเต็มที่ ทหารโซเวียตสามารถจับทหารช่างเยอรมันที่ลักลอบเข้ามาเคลียร์กับระเบิดในเขตปลอดทหารได้ เชลยศึกเยอรมันเปิดเผยระหว่างการสอบสวนว่าการรุกของเยอรมันจะเริ่มขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 5 กรกฎาคม ปฏิบัติการซิตาเดลกำลังจะเปิดฉากขึ้นแล้ว
โปรดติดตามตอนต่อไป
สวัสดี
01.06.2021