
(Lance Cpl. Lanham, U.S. DoD)
ช่วงปลายยุค 50 จีนสามารถผลิตรถถัง Type-59 ซึ่งมีต้นแบบมาจากรถถัง T-54A ของสหภาพโซเวียต โดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศจีนทั้งหมดเป็นรุ่นแรก โดยโซเวียตช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งแบบแปลนโรงงาน สายการผลิต และชิ้นส่วนต่างๆให้กับจีน แต่หลังจากนั้นโซเวียตและจีนก็เริ่มขัดแย้งกัน ในปี ค.ศ.1960 ผู้นำโซเวียต นิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) ยกเลิกความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของจีน และเรียกวิศวกรโซเวียตกลับประเทศ ส่งผลให้จีนต้องหาทางพัฒนารถถังรุ่นใหม่ด้วยตัวเองโดยใช้รถถัง Type-59 เป็นพื้นฐาน
โครงการพัฒนารถถังรุ่นใหม่ของจีนเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1963 ใช้ชื่อโครงการว่า WZ-121 ก่อนจะเปลี่ยนเป็น Type-69 ในภายหลัง รถต้นแบบคันแรกสร้างเสร็จในปี ค.ศ.1966 แต่ขีดความสามารถไม่ค่อยดี เนื่องจากจีนขาดแคลนเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบกับเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ส่งผลให้โครงการหยุดชะงักลง
ในปี ค.ศ.1969 เกิดการปะทะกันบริเวณชายแดนจีน-โซเวียต กองทัพจีนสามารถยึดรถถัง T-62 ของโซเวียตได้ 1 คันและนำมาศึกษา มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆจากรถถัง T-62 เช่นไฟค้นหาอินฟราเรด Luna มาใส่ให้รถถัง Type-69 ส่งผลให้รถถังรุ่นนี้มีประสิทธิภาพดีขึ้นและได้เข้าประจำการในกองทัพจีนในปี ค.ศ.1982 อย่างไรก็ตามเมื่อถึงช่วงเวลานั้นเทคโนโลยีของรถถัง Type-69 ก็ถือว่าล้าสมัยแล้วเมื่อเทียบกับรถถังรุ่นใหม่ของทั้งโซเวียตและ NATO ซึ่งเข้าประจำการในช่วงเวลาใกล้เคียงกันทั้งรถถัง T-72, T-80, Leopard 2 และ M1 Abrams สุดท้ายจีนจึงจัดหารถถัง Type-69 เข้าประจำการเพียงไม่กี่ร้อยคันเท่านั้น และรถถังรุ่นนี้ก็กลายเป็นรถถังสำหรับส่งออกไป มีลูกค้าต่างประเทศจัดหาไปใช้งานรวมกันกว่า 2,000 คัน
รถถัง Type-69 มีน้ำหนัก 36.7 ตัน มีขนาดยาว 8.65 เมตรเมื่อหันป้อมปืนไปด้านหน้า (ตัวรถมีความยาว 6.24 เมตร) กว้าง 3.3 เมตร สูง 2.8 เมตร มีพลประจำรถ 4 นาย (ผบ.รถถัง พลขับ พลยิง และพลบรรจุ) ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 100 มิลลิเมตร ปืนกลขนาด 7.62 มิลลิเมตร 2 กระบอก และปืนกลหนักขนาด 12.7 มิลลิเมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 580 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 440 กิโลเมตร
รถถัง Type-69 ถูกใช้งานแพร่หลายที่สุดในตะวันออกกลาง เข้าสู่สนามรบครั้งแรกในสงครามอิหร่าน-อิรัก (Iran–Iraq War) ช่วงยุค 80 กองทัพอิรักของซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) มีรถถัง Type-69 มากกว่า 900 คัน ในขณะที่อิหร่านก็จัดหารถถัง Type-69 จากจีนมาประมาณ 200 คันเช่นกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายใช้รถถังแบบเดียวกัน ทหารอิหร่านจึงติดธงบนรถถังของตัวเองเพื่อระบุฝ่าย กองทัพอิรักใช้งานรถถัง Type-69 ต่อไปจนถึงช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) ในปี ค.ศ.1991 แต่ขีดความสามารถของรถถังรุ่นนี้เทียบไม่ได้กับรถถัง M1 Abrams ของสหรัฐฯ รถถัง Type-69 จำนวนมากถูกทำลายระหว่างปฎิบัติการพายุทะเลทราย (Operation Desert Storm)
ในภูมิภาคเอเชียใต้ ปากีสถานและบังกลาเทศได้จัดหารถถัง Type-69 มาใช้งานรวมกันหลายร้อยคัน ปัจจุบันปากีสถานได้ปลดประจำการรถถัง Type-69 แล้ว ทดแทนด้วยรถถัง MBT-2000, Al-Zarrar และ Al-Khalid แต่บังกลาเทศยังคงใช้งานรถถังรุ่นนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน
ประเทศไทยจัดหารถถัง Type-69 จากจีนประมาณ 100 คัน เข้าประจำการในปี ค.ศ.1987 โดยจีนขายให้ในราคามิตรภาพ เพื่อผลประโยชน์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากขณะนั้นไทยมีภัยคุกคามจากเวียดนาม จึงต้องจัดหายุทโธปกรณ์จำนวนมากเพื่อเตรียมรับมือ ขณะที่จีนซึ่งกำลังขัดแย้งกับโซเวียตก็ต้องการพันธมิตรเช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไป รถถัง Type-69 ของไทยก็ค่อยๆเสื่อมสภาพลง บางส่วนถูกนำไปทิ้งเป็นปะการังเทียม ส่วนที่เหลือปัจจุบันถูกใช้ในการฝึกเป็นข้าศึกสมมติ
นอกจากประเทศไทยแล้ว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีเมียนมาร์เป็นผู้ใช้งานรถถัง Type-69 อีกประเทศหนึ่ง โดยเมียนมาร์ได้จัดหารถถังรุ่นนี้จากจีนประมาณ 130 คัน และได้เผชิญหน้ากับรถถัง M60A3 ที่ไทยจัดหาจากสหรัฐฯ ระหว่างการสู้รบที่เนิน 9631 ในปี ค.ศ.2001 ปัจจุบันกองทัพเมียนมาร์ยังคงใช้งานรถถัง Type-69 อยู่ และมีการอัพเกรดให้ทันสมัยขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีจากยูเครน แต่ไม่มีข้อมูลเผยแพร่ออกมามากนัก
สวัสดี
03.06.2021