สมรภูมิคูร์ส ตอนที่ 3 เปิดฉากปฏิบัติการซิตาเดล

ภาพรถถัง Panzer III และ Panzer IV ของเยอรมันที่เมืองเบลโกรอด ช่วงต้นปฏิบัติการซิตาเดล
(Bundesarchiv, Bild 101III-Merz-014-12A / Merz / CC-BY-SA 3.0)

เมื่อกองบัญชาการโซเวียตได้ข้อมูลจากการสอบสวนเชลยศึกเยอรมันว่ากองทัพเยอรมันจะเริ่มปฏิบัติการซิตาเดล (Operation Citadel) ในช่วงเช้ามืดวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.1943 หน่วยปืนใหญ่ของโซเวียตก็ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมระดมยิงพื้นที่รวมพลของเยอรมัน ก่อนที่กองทัพเยอรมันจะเริ่มการรุก ในแนวรบทางใต้ของเมืองคูร์ส (Kursk) นายพลนิโคไล วาตูติน (Nikolai Vatutin) ออกคำสั่งให้ทหารโซเวียตใช้ปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้อง BM-13 Katyusha กว่า 600 กระบอกระดมยิงใส่แนวรบของเยอรมัน ขณะที่จอมพลเกออร์กี ชูคอฟ (Georgy Zhukov) ก็ออกคำสั่งให้ปืนใหญ่โซเวียตทางเหนือของเมืองคูร์สระดมยิงถล่มแนวรบเยอรมันเช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้โซเวียตจะรู้กำหนดเวลาเข้าตีของเยอรมัน แต่ทว่าโซเวียตไม่รู้ตำแหน่งพื้นที่รวมพลแน่นอน ส่งผลให้การระดมยิงปืนใหญ่เป็นไปแบบสุ่ม ไม่สามารถสร้างความเสียหายให้กองทัพเยอรมันได้มากนัก หลังปืนใหญ่โซเวียตเงียบเสียงลง ปืนใหญ่ของเยอรมันก็เปิดฉากยิงบ้าง เพื่อปูพรมเปิดทางให้ทหารราบและยานเกราะที่จะทำการรุก ปฏิบัติการซิตาเดลและสมรภูมิคูร์ส (Battle of Kursk) ได้เปิดฉากขึ้นแล้ว

กองทัพที่ 9 ของเยอรมันใต้บังคับบัญชาของนายพลวัลเทอร์ โมเดล (Walter Model) ทำการรุกจากทางเหนือของเมืองคูร์ส โดยใช้ทหารราบเป็นหัวหอกหลัก สนับสนุนโดยรถถังหนัก Tiger I จำนวน 45 คันสังกัดกองพันรถถังหนักที่ 505 (schwere Panzerabteilung 505) ยานเกราะล่ารถถัง Ferdinand จำนวน 83 คัน และปืนใหญ่อัตตาจร StuG อีกจำนวนหนึ่ง นายพลโมเดลเลือกเก็บรถถังส่วนใหญ่ไว้ในแนวหลัง รอให้ทหารราบเจาะแนวป้องกันของโซเวียตได้ก่อน ค่อยให้รถถังทำการรุกผ่านช่องว่างดังกล่าวอย่างรวดเร็วไปยังเมืองคูร์ส โดยนายพลโมเดลเชื่อว่ากองทัพเยอรมันน่าจะสามารถเจาะแนวป้องกันของโซเวียตได้ภายใน 2 วัน

แม้นายพลโมเดลจะคาดหวังให้กองทัพเยอรมันเจาะทะลวงแนวป้องกันของโซเวียตได้อย่างรวดเร็ว แต่ผลการรุกกลับไม่เป็นไปอย่างที่เขาหวังไว้ ทหารเยอรมันรุกเข้าไปเจอกับทุ่งกับระเบิดของโซเวียต ส่งผลให้การรุกหยุดชะงักลงท่ามกลางการระดมยิงปืนใหญ่ของโซเวียต ทหารเยอรมันสูญเสียอย่างหนักระหว่างพยายามเคลียร์กับระเบิด โซเวียตทำการรุกตอบโต้ด้วยรถถังกลาง T-34 จำนวน 90 คัน แต่กลับไปเผชิญหน้ากับรถถัง Tiger I เข้า ภายในเวลาเพียงสามชั่วโมง โซเวียตเสียรถถัง T-34 ไป 42 คัน ส่วนที่เหลือต้องล่าถอยกลับไป ในขณะที่รถถัง Tiger I ถูกทำลายเพียง 2 คัน แม้การตอบโต้ของโซเวียตจะล้มเหลว แต่ก็ช่วยถ่วงเวลาให้กำลังเสริมมาถึงได้สำเร็จ ขณะที่รถถัง Tiger I แสดงผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ยานเกราะล่ารถถัง Ferdinand กลับทำผลงานได้ไม่ดีนัก กองพันยานเกราะล่ารถถังหนักที่ 653 (Schwere Panzerjäger-Abteilung 653) ซึ่งมี Ferdinand ใช้งานอยู่ 45 คัน เคลื่อนที่เข้าไปติดอยู่ในทุ่งกับระเบิด ส่งผลให้มี Ferdinand กว่า 33 คันแล่นทับกับระเบิดจนสายพานขาด เคลื่อนที่ไม่ได้ แม้ทหารเยอรมันจะซ่อมแซม Ferdinand ส่วนใหญ่ให้กลับมาใช้งานได้ แต่กระบวนการก็เป็นไปอย่างยากลำบากและเสียเวลามาก ในวันแรกของปฏิบัติการซิตาเดล กองทัพที่ 9 สามารถเจาะแนวป้องกันของโซเวียตเข้าไปเป็นระยะทางเพียง 9 กิโลเมตรเท่านั้น

วันรุ่งขึ้นนายพลโมเดลตัดสินใจส่งรถถังส่วนใหญ่ที่สำรองไว้ในแนวหลังออกปฏิบัติการ ขณะที่นายพลคอนสแตนติน โรคอสซอฟสกี (Konstantin Rokossovsky) ก็ออกคำสั่งให้กองทัพโซเวียตทำการรุกตอบโต้เช่นกัน แต่การประสานงานของโซเวียตไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ส่งผลให้มีเพียงกองทัพน้อยรถถังที่ 16 (16th Tank Corps) ในสังกัดกองทัพรถถังที่ 2 (2nd Tank Army) เท่านั้นที่ออกปฏิบัติการ หน่วยนี้มีรถถังในสังกัดประมาณ 200 คัน แล่นเข้าไปเจอกับรถถัง Tiger I ของกองพันรถถังหนักที่ 505 รถถังโซเวียต 69 คันถูกทำลาย ส่วนที่เหลือต้องล่าถอยกลับไป แต่กองทัพเยอรมันก็รุกคืบได้ไม่มากนักเช่นกัน

กองทัพที่ 9 ของนายพลโมเดลทำการรุกต่อระหว่างวันที่ 7 – 10 กรกฎาคม แต่ก็ไม่สามารถเจาะผ่านแนวป้องกันของโซเวียตทางเหนือของเมืองคูร์สไปได้ การรุกของเยอรมันทางด้านนี้ค่อยๆอ่อนกำลังลงจนหยุดชะงักลงในที่สุด

ภาพพลปืนไรเฟิลต่อสู้รถถัง PTRD-41 ของโซเวียตในสมรภูมิคูร์ส
(RIA Novosti archive, image #4408 / N. Bode / CC-BY-SA 3.0)

ในแนวรบทางใต้ของเมืองคูร์ส กองทัพยานเกราะที่ 4 (4th Panzer Army) ของนายพลแฮร์มาน โฮธ (Hermann Hoth) ได้เริ่มทำการรุกโดยใช้ยานเกราะจำนวนมากจากกองพลทหารราบยานเกราะกรอสส์ดอยช์ลันด์ (Panzergrenadier Division Großdeutschland) และกองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 (II SS Panzer Corps) ของนายพลพอล เฮาเซอร์ (Paul Hausser) ซึ่งมีหน่วยในสังกัดได้แก่กองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์เตอ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (1st SS Panzer Division Leibstandarte SS Adolf Hitler), กองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ดาส ไรช์ (2nd SS Panzer Division Das Reich) และกองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 3 โทเทนคอฟ (3rd SS Panzer Division Totenkopf) เป็นหัวหอกตั้งแต่วันแรก สนับสนุนด้วยเครื่องบินรบเกือบ 400 ลำ

ภายในช่วงเย็นวันที่ 5 กรกฎาคม กองทัพเยอรมันก็รุกผ่านแนวป้องกันชั้นแรกของโซเวียตเข้าไปได้ นายพลวาตูตินออกคำสั่งให้กองทัพรถถังที่ 1 (1st Tank Army) ของโซเวียตใต้บังคับบัญชาของนายพลมิฮาอิล คาตูคอฟ (Mikhail Katukov) ทำการรุกตอบโต้ ทว่าขีดความสามารถของรถถัง T-34 เทียบไม่ได้กับรถถัง Tiger I และรถถังกลาง Panzer V Panther ของเยอรมัน ส่งผลให้หน่วยรถถังโซเวียตสูญเสียอย่างหนัก แต่นายพลวาตูตินก็ยังยืนกรานให้นายพลคาตูคอฟโจมตีต่อไป สุดท้ายอิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) ผู้นำโซเวียตต้องเข้าแทรกแซง และอนุญาตให้นายพลคาตูคอฟยกเลิกการโจมตีได้ แม้การรุกตอบโต้ของโซเวียตจะล้มเหลว แต่ก็ช่วยถ่วงเวลาให้กองทัพโซเวียตเสริมกำลังเข้ามายังแนวป้องกันชั้นที่สองได้มากขึ้น จากนั้นการรุกของเยอรมันก็เริ่มล่าช้าลง เมื่อเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักของกองทัพโซเวียต แต่ทหารเยอรมันก็ยังสามารถรุกคืบเข้ามาได้เรื่อยๆ จนเจาะผ่านแนวป้องกันชั้นที่สองของโซเวียตได้ในวันที่ 8 กรกฎาคม ระหว่างนี้นายพลวาตูตินก็ออกคำสั่งให้หน่วยยานเกราะโซเวียตทำการรุกตอบโต้เยอรมันหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ

เมื่อเห็นว่าสถานการณ์ทางใต้ของเมืองคูร์สกำลังวิกฤต กองบัญชาการโซเวียตจึงมีคำสั่งให้ส่งกองทัพรถถังที่ 5 พิทักษ์รัฐ (5th Guards Tank) ใต้บังคับบัญชาของนายพลพาเวล รอตมิสตรอฟ (Pavel Rotmistrov) ซึ่งเดิมถูกเก็บไว้เป็นกำลังสำรอง มุ่งหน้าไปเสริมกำลังให้โดยเร็วที่สุด โดยจะใช้หมู่บ้านโปรฮารัฟกา (Prokhorovka) เป็นฐานในการรุกตอบโต้กองทัพเยอรมัน แต่ทว่าในช่วงเวลาเดียวกันนายพลโฮธก็ปรึกษากับจอมพลเอริช ฟอน มันชไตน์ (Erich von Manstein) ผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) ของเยอรมัน มีคำสั่งให้กองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 มุ่งหน้าไปยังโปรฮารัฟกาเช่นกัน ศึกรถถังประจัญบานที่โปรฮารัฟกา (Battle of Prokhorovka) กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

โปรดติดตามตอนต่อไป

สวัสดี

04.06.2021

แสดงความคิดเห็น