ขีดความสามารถปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR (ซีซาร์) ของฝรั่งเศส

ภาพปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR ของฝรั่งเศสขณะยิงสนับสนุนกองกำลังเคิร์ด SDF สู้รบกับกลุ่ม IS บริเวณชายแดนซีเรีย-อิรัก ระหว่างปฏิบัติการ Inherent Resolve วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.2018 (U.S. Army photo by Sgt. 1st Class Mikki L. Sprenkle)

ปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR (ย่อมาจาก CAmion Équipé d’un Système d’ARtillerie ภาษาฝรั่งเศสแปลว่ารถบรรทุกติดตั้งระบบปืนใหญ่) พัฒนาโดยบริษัท GIAT (ปัจจุบันคือ Nexter) ช่วงยุค 90 สำหรับใช้สาธิตเทคโนโลยี เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ.1994 ต่อมาในปี ค.ศ.1998 ก็มีการส่งมอบรถต้นแบบ 1 ระบบให้กองทัพฝรั่งเศสนำไปทดสอบ หลังจากนั้นกองทัพฝรั่งเศสก็จัดหารถต้นแบบเพิ่มอีก 5 ระบบ รับมอบในปี ค.ศ.2003 แล้วในเดือนธันวาคม ค.ศ.2004 กองทัพฝรั่งเศสก็ตัดสินใจจัดหาปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR เข้าประจำการจำนวน 72 ระบบ มูลค่า 358 ล้านเหรียญ เข้าสู่สายการผลิตในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2007 และเริ่มส่งมอบระบบแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2008 ออกปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน มาลี เลบานอน และอิรักมาแล้ว

ปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR ใช้พลประจำรถ 3 – 5 นาย สามารถแบ่งได้เป็น 2 รุ่นใหญ่ๆ รุ่นแรกใช้แคร่ฐานรถบรรทุก 6×6 Renault Sherpa 10 หรือ Unimog U2450L ขึ้นเครื่องบินลำเลียง C-130 Hercules หรือ A-400M ได้ ส่วนรุ่นใหม่ซึ่งพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.2015 ใช้แคร่ฐานรถบรรทุก 8×8 Tatra T-815 ติดอาวุธได้แก่ปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตร ความยาวลำกล้อง 52 คาลิเบอร์ ระยะยิง 42 กิโลเมตร อัตราการยิง 6 นัดต่อนาที บรรทุกกระสุน 18 นัด ใช้เวลาเตรียมการยิงเพียง 1 นาที สามารถย้ายที่ตั้งได้เร็ว ป้องกันการยิงสวนจากฝ่ายตรงข้าม

ประเทศไทยเป็นลูกค้าต่างประเทศของปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR ประเทศแรก โดยไทยได้สั่งซื้อปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR จำนวน 6 ระบบหรือ 1 กองร้อยในเดือนเมษายน ค.ศ.2006 (เดิมมีความต้องการ 18 ระบบหรือ 1 กองพัน แต่ถูกลดงบประมาณลงมา) ในสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และได้มีโอกาสใช้งานจริงระหว่างการปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ในปี ค.ศ.2011 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก

หลังจากไทยจัดหาปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR แล้ว ลูกค้าประเทศถัดมาคือซาอุดิอาระเบีย สั่งซื้อจำนวน 80 ระบบในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2006 และต่อมาก็มีการจัดหาเพิ่มเติมอีก 52 ระบบ ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียเป็นผู้ใช้งานปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR รายใหญ่ที่สุด 132 ระบบ

ลูกค้าประเทศถัดมาคืออินโดนีเซีย สั่งซื้อจำนวน 36 ระบบในปี ค.ศ.2012 มูลค่าโครงการไม่เปิดเผยแต่เชื่อว่าอยู่ระหว่าง 170 – 240 ล้านเหรียญ ต่อมาอินโดนีเซียได้จัดหาปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR เพิ่มอีก 18 ระบบในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2017

นอกจากฝรั่งเศส ไทย ซาอุดิอาระเบีย และอินโดนีเซียซึ่งได้รับมอบปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR เข้าประจำการแล้ว ก็ยังมีประเทศเดนมาร์กสั่งซื้อจำนวน 19 ระบบ โมร็อกโกสั่งซื้อ 30 ระบบ และสาธารณรัฐเช็กสั่งซื้อ 52 ระบบ กำลังรอส่งมอบ

สวัสดี

05.06.2021

คลิปทหารฝรั่งเศสยิงปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR ระหว่างการซ้อมรบในเยอรมนี

แสดงความคิดเห็น