สมรภูมิคูร์ส ตอนที่ 4 รถถังประจัญบาน

หลังจากกองทัพเยอรมันเริ่มการรุกทางเหนือและใต้ของเมืองคูร์ส (Kursk) ผ่านไปได้ 5 วัน การรุกของกองทัพที่ 9 ใต้บังคับบัญชาของนายพลวัลเทอร์ โมเดล (Walter Model) ทางเหนือก็หยุดชะงักลง ไม่สามารถเจาะผ่านแนวป้องกันของกองทัพโซเวียตเข้าไปได้ แต่ในแนวรบทางใต้ กองทัพยานเกราะที่ 4 (4th Panzer Army) ใต้บังคับบัญชาของนายพลแฮร์มาน โฮธ (Hermann Hoth) ซึ่งมีกองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 (II SS Panzer Corps) ของนายพลพอล เฮาเซอร์ (Paul Hausser) เป็นหัวหอก สามารถเจาะผ่านแนวป้องกันสองชั้นแรกของกองทัพโซเวียตเข้าไปได้แล้ว ภ้ากองทัพเยอรมันสามารถเจาะผ่านแนวป้องกันของโซเวียตที่เหลืออยู่อีกชั้นหนึ่งได้ เส้นทางสู่เมืองคูร์สก็จะเปิดโล่งทันที

ระหว่างวันที่ 10 – 11 กรกฎาคม ค.ศ.1943 กองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ทำการรุกไปยังหมู่บ้านโปรฮารัฟกา (Prokhorovka) กองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์เตอ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (1st SS Panzer Division Leibstandarte SS Adolf Hitler) ทำการรุกล้ำหน้าหน่วยยานเกราะอื่นๆไป และเกือบจะเข้ายึดหมู่บ้านโปรฮารัฟกาได้แล้วในช่วงเย็นวันที่ 11 กรกฎาคม แต่ถูกปืนใหญ่โซเวียตระดมยิงจากด้านข้าง ส่งผลให้ต้องหยุดการรุกไว้ชั่วคราว รอให้กองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ดาส ไรช์ (2nd SS Panzer Division Das Reich) และกองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 3 โทเทนคอฟ (3rd SS Panzer Division Totenkopf) ตามมาสมทบก่อน โดยขณะนั้นกองพลยานเกราะ เอสเอส ทั้ง 3 กองพลมีรถถังและปืนใหญ่อัตตาจรรวมกัน 294 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถถัง Tiger I จำนวน 15 คัน

ภาพยานพาหนะของกองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 มุ่งหน้าไปยังโปรฮารัฟกา วันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ.1943
(Bundesarchiv, Bild 101I-022-2924-14 / Kipper / CC-BY-SA 3.0)

ในขณะเดียวกัน กองทัพรถถังที่ 5 พิทักษ์รัฐ (5th Guards Tank) ของโซเวียตใต้บังคับบัญชาของนายพลพาเวล รอตมิสตรอฟ (Pavel Rotmistrov) ซึ่งมีรถถังและปืนใหญ่อัตตาจรรวมกันประมาณ 840 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถถัง T-34 และ T-70 ก็มุ่งหน้ามาที่โปรฮารัฟกาเช่นกัน นายพลนิโคไล วาตูติน (Nikolai Vatutin) ผู้บัญชาการแนวรบทางใต้ของโซเวียตต้องการใช้กองทัพรถถังที่ 5 พิทักษ์รัฐเป็นหัวหอกในการรุกตอบโต้กองทัพเยอรมันทางด้านนี้ หน่วยยานเกราะโซเวียตงดเว้นการสื่อสารด้วยวิทยุระหว่างเคลื่อนพล ส่งผลให้หน่วยข่าวกรองเยอรมันไม่ทราบข่าวกองทัพรถถังที่ 5 พิทักษ์รัฐมาก่อน กว่าฝ่ายเยอรมันจะรู้ตัวก็ช่วงเช้ามืดของวันที่ 12 กรกฎาคม เมื่อทหารเยอรมันเริ่มได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถถังจำนวนมาก เครื่องบินตรวจการณ์ของเยอรมันลำหนึ่งพบขบวนรถถังโซเวียตจำนวนมากและปล่อยพลุสีม่วงเป็นสัญญาณเตือน

กองทัพรถถังที่ 5 พิทักษ์รัฐ (5th Guards Tank) เปิดฉากเข้าตีกองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ที่โปรฮารัฟกา ในช่วงเช้าวันที่ 12 กรกฎาคม นายพลรอตมิสตรอฟรู้ว่าขีดความสามารถรถถังของเขาสู้ยานเกราะรุ่นใหม่ของเยอรมันทั้งรถถัง Tiger I, Panther และยานเกราะล่ารถถัง Ferdinand ไม่ได้ เขาจึงออกคำสั่งให้รถถังโซเวียตเคลื่อนที่เข้าประชิดรถถังเยอรมันด้วยความเร็วสูงสุด แล้วยิงใส่รถถังเยอรมันจากด้านข้างและด้านหลัง แต่ทว่าการรุกของโซเวียตมีอุปสรรคจากสภาพภูมิประเทศ เนื่องจากพื้นที่ปฏิบัติการถูกขนาบข้างด้วยหุบเหวที่เกิดจากแม่น้ำพเซล (Psel) ทางตะวันตกของโปรฮารัฟกา และรางรถไฟทางตะวันออก ส่งผลให้รถถังโซเวียตจำนวนมากเข้าไปแออัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ ไม่สามารถใช้ข้อได้เปรียบเรื่องจำนวนได้เต็มที่ ประกอบกับรถถังโซเวียตเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ส่งผลให้การประสานงานระหว่างรถถังโซเวียตซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีวิทยุเป็นไปอย่างยากลำบาก ที่น่าสนใจคือจริงๆแล้วนายพลรอตมิสตรอฟไม่จำเป็นต้องใช้ยุทธวิธีนี้แต่อย่างใด เพราะในจำนวนรถถังเกือบ 300 คันของกองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 นั้นมีรถถัง Tiger I เพียง 15 คันเท่านั้น และไม่มียานเกราะล่ารถถัง Ferdinand แม้แต่คันเดียว ขณะที่รถถัง Panther ส่วนใหญ่ก็ชำรุดเสียหายไปก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากกองทัพเยอรมันรีบส่งรถถังรุ่นนี้ออกปฏิบัติการทั้งที่พึ่งเข้าประจำการได้ไม่นาน ยังไม่พร้อมสำหรับการรบ รถถังเยอรมันส่วนใหญ่เป็นรถถังรุ่นเก่าคือ Panzer III และ Panzer IV ซึ่งรถถัง T-34 สามารถรับมือได้ แต่เนื่องจากรถถัง Panzer IV รุ่นปรับปรุงใหม่ของเยอรมันซึ่งติดเกราะเสริมด้านข้างของตัวรถและป้อมปืน เมื่อมองจากระยะไกลจะมีลักษณะคล้ายรถถัง Tiger I มาก ส่งผลให้หน่วยข่าวกรองของโซเวียตรายงานจำนวนรถถัง Tiger I สูงเกินจริง

รถถังโซเวียตหลายร้อยคันเคลื่อนที่เข้าหารถถังเยอรมันด้วยความเร็วสูง แต่ด้วยข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศและการประสานงานระหว่างรถถังโซเวียตด้วยกัน ส่งผลให้รถถังโซเวียตจำนวนมากตกเป็นเป้าของรถถังเยอรมันอย่างง่ายดาย รถถังโซเวียตจำนวนมากถูกทำลาย หลายคันถูกยิงจนป้อมปืนหลุดกระเด็น ศึกรถถังประจัญบานที่โปรฮารัฟกา (Battle of Prokhorovka) ดำเนินไปอย่างดุเดือดตลอดทั้งวัน ซากรถถังและศพทหารกลาดเกลื่อนไปทั่วทั้งสมรภูมิซึ่งถูกปกคลุมด้วยควันไฟ โซเวียตสูญเสียรถถังไปมากกว่า 300 คัน ในขณะที่ฝ่ายเยอรมันมีรถถังที่ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายประมาณ 60 – 80 คัน เป็นรถถัง Tiger I จำนวน 11 คัน สุดท้ายกองทัพรถถังที่ 5 พิทักษ์รัฐต้องเป็นฝ่ายล่าถอยหลังประสบความสูญเสียอย่างหนัก แต่การรุกของกองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ก็หยุดชะงักลงเช่นกัน ไม่สามารถเจาะผ่านแนวป้องกันของโซเวียตเข้าไปได้ เท่ากับว่าในสมรภูมิโปรฮารัฟกา ไม่มีฝ่ายไหนเป็นผู้ชนะเด็ดขาด

ภาพทหารโซเวียตและรถถัง T-34/76 ระหว่างการสู้รบที่โปรฮารัฟกา วันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1943 (Mil.ru)

แม้กองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 จะสูญเสียกำลังพลและรถถังไปไม่มากนัก แต่ตอนนี้ทหารเยอรมันอ่อนล้าเต็มที่ ยุทโธปกรณ์ก็ร่อยหรอลงไปมาก นายพลเฮาเซอร์จึงออกคำสั่งให้หน่วยยานเกราะเยอรมันถอยทัพออกจากโปรฮารัฟกาในช่วงเย็นวันเดียวกัน

วันที่ 13 กรกฎาคม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ประชุมร่วมกับจอมพลกึนเทอร์ ฟอน คลูเกอ (Günther von Kluge) ผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพภาคกลาง (Army Group Center) และจอมพลเอริช ฟอน มันชไตน์ (Erich von Manstein) ผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) ที่กองบัญชาการในปรัสเซียตะวันออก สถานการณ์ของเยอรมันในขณะนั้นเริ่มคับขัน เนื่องจากกองทัพโซเวียตเริ่มการรุกตอบโต้กองทัพเยอรมันทางเหนือของเมืองโอเรล (Orel) ตลบหลังกองทัพที่ 9 ชื่อปฏิบัติการคูตูซอฟ (Operation Kutuzov) ขณะเดียวกันกองทัพสหรัฐฯและอังกฤษก็ยกพลขึ้นบกที่เกาะซิซิลี (Sicily) ทางใต้ของอิตาลี กองทัพเยอรมันจำเป็นต้องดึงกำลังพลจากแนวรบด้านตะวันออกกลับไปรับมือ สุดท้ายฮิตเลอร์จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกปฏิบัติการซิตาเดล แต่จอมพลมันชไตน์ขอทำการรุกทางใต้ของเมืองคูร์สต่อไป เพื่อทำลายหน่วยยานเกราะโซเวียตในบริเวณดังกล่าวไม่ให้เป็นภัยคุกคามต่อเยอรมันได้ ชื่อปฏิบัติการโรลันด์ (Operation Roland) ซึ่งฮิตเลอร์ก็อนุญาต แต่จำกัดเวลาไว้ เพราะกองบัญชาการเยอรมันจำเป็นต้องดึงกองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ไปเสริมที่อิตาลี

จอมพลมันชไตน์เริ่มปฏิบัติการโรลันด์ในวันที่ 14 กรกฎาคม มีเป้าหมายเพื่อโอบล้อมทำลายกองทัพที่ 69 ของโซเวียต แต่ฝ่ายโซเวียตรู้ตัว แล้วค่อยๆร่นถอยออกจากพื้นที่ไปก่อนที่กองทัพเยอรมันจะปิดวงล้อมได้ ปฏิบัติการโรลันด์ถูกยกเลิกในวันที่ 17 กรกฎาคม กองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ถอนตัวออกจากแนวรบ เตรียมมุ่งหน้าไปอิตาลี การรุกของเยอรมันในสมรภูมิคูร์สยุติลงอย่างสมบูรณ์ ถึงเวลาที่กองทัพโซเวียตจะเป็นฝ่ายตอบโต้บ้างแล้ว

โปรดติดตามตอนต่อไป

สวัสดี

05.06.2021

แสดงความคิดเห็น