หลังจากกองทัพเยอรมันพ่ายแพ้ในสมรภูมิคูร์ส (Battle of Kursk) ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ค.ศ.1943 และกองทัพโซเวียตสามารถยึดเมืองสำคัญคือโอเรล (Orel) เบลโกรอด (Belgorod) และฮาร์คอฟ (Kharkov) กลับคืนมาได้ กองทัพเยอรมันก็ถูกผลักดันถอยร่นออกจากภาคตะวันออกของยูเครน โดยทหารเยอรมันได้เผาหมู่บ้านหลายร้อยแห่งตามรายทาง รวมถึงทำลายรางรถไฟและสะพานเพื่อไม่ให้กองทัพโซเวียตติดตามมาได้สะดวก
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ออกคำสั่งให้กองทัพเยอรมันจัดตั้งแนวป้องกันใหม่ในแนวรบด้านตะวันออก ตั้งแต่ทะเลบอลติกไปจนถึงทะเลดำ โดยแนวป้องกันทางใต้จะทอดยาวไปตามริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ (Dnieper) เรียกว่าแนวพันเทอร์-โวทาน (Panther-Wotan line) เยอรมนีได้ทำการโฆษณาชวนเชื่อเรียกแนวป้องกันนี้เปรียบเสมือนเป็นกำแพงตะวันออก (East Wall) ที่จะป้องกันการโจมตีของกองทัพโซเวียตได้ แต่นายทหารเยอรมันหลายนายรู้สถานการณ์ดีว่าแนวป้องกันดังกล่าวไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อไว้แต่อย่างใด เช่นจอมพลเกออร์ค ฟอน คึชเลอร์ (Georg von Küchler) ผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพภาคเหนือ (Army Group North) ปฏิเสธที่จะเรียกแนวป้องกันนี้ว่ากำแพงตะวันออก เพราะไม่ต้องการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความประมาทเชื่อมั่นในแนวป้องกันนี้จนเกินไป
กองทัพโซเวียตทำการรุกผ่านภาคตะวันออกของยูเครนมาถึงริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ แต่ก็พบว่าทหารเยอรมันได้ระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำทิ้งไปหมดแล้ว ทหารราบโซเวียตพยายามใช้แพข้ามแม่น้ำ แม้จะสถาปนาหัวหาดได้บางจุด แต่ก็ไม่สามารถรุกไปไกลกว่านั้นได้เพราะขาดการสนับสนุนจากยานเกราะ ทหารช่างโซเวียตใช้เวลากว่า 10 วันสร้างสะพานไม้ข้ามแม่น้ำนีเปอร์ทางเหนือและใต้ของเมืองเคียฟ (Kiev) ท่ามกลางการระดมยิงปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศของเยอรมัน ส่งผลให้รถถังโซเวียตสามารถข้ามแม่น้ำนีเปอร์ได้ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1943

(National archives of the Russian Federation/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
นายพลนิโคไล วาตูติน (Nikolai Vatutin) วางแผนจะให้หน่วยยานเกราะโซเวียตทำการรุกจากหัวหาดทั้งสองแห่งโอบล้อมทหารเยอรมันในเมืองเคียฟจากสองด้าน แต่การรุกของโซเวียตเป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่สามารถฝ่าแนวป้องกันของเยอรมันเข้าไปได้ นายพลวาตูตินจึงเปลี่ยนแผนใหม่ทุ่มกำลังทั้งหมดเข้าโจมตีจากหัวหาดทางเหนือของเมืองเคียฟเพียงจุดเดียว สุดท้ายแนวป้องกันของเยอรมันก็แตก กองทัพโซเวียตล้อมเมืองเคียฟและยึดเมืองได้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ก่อนวันครบรอบการปฏิวัติรัสเซียหนึ่งวัน ถือเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของโซเวียต หน่วยยานเกราะของเยอรมันพยายามโจมตีตอบโต้กองทัพโซเวียตระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม รถถังทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกันอย่างดุเดือดในภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้าสเตปป์ เหมาะสำหรับปฏิบัติการของรถถัง แต่กองทัพเยอรมันก็ไม่สามารถยึดเมืองเคียฟกลับมาได้
แม้กองทัพโซเวียตจะสามารถข้ามแม่น้ำนีเปอร์ที่เมืองเคียฟและทำการรุกไปทางตะวันตกได้แล้ว แต่ถัดไปทางใต้กองทัพเยอรมันก็ยังยึดพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ที่เมืองคาเนฟ (Kanev) ไว้อย่างเหนียวแน่น ล้ำเข้าไปในแนวรบของโซเวียต ฮิตเลอร์วางแผนจะใช้พื้นที่นี้เป็นฐานทำการรุกตอบโต้กองทัพโซเวียต แต่แนวป้องกันของเยอรมันไม่ได้เข้มแข็งเหมือนแนวป้องกันของโซเวียตที่เมืองคูร์ส (Kursk) แต่อย่างใด กองทัพโซเวียตเริ่มการรุกเข้าโจมตีพื้นที่ดังกล่าวในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ.1944 ใช้เวลาเพียง 5 วัน วงล้อมก็ถูกปิด ทหารเยอรมันมากกว่า 60,000 นายตกอยู่ในวงล้อมของโซเวียต ทหารเยอรมันกลุ่มนี้ถูกเรียกว่ากองกำลังสเตมเมอร์มัน (Group Stemmermann) ตามชื่อผู้บังคับบัญชาคือนายพลวิลเฮล์ม สเตมเมอร์มัน (Wilhelm Stemmermann)
กองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe) พยายามส่งกำลังบำรุงให้กองกำลังสเตมเมอร์มันทางอากาศ ขณะที่จอมพลเอริช ฟอน มันชไตน์ (Erich von Manstein) ผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) ก็ระดมยานเกราะจากกองทัพน้อยยานเกราะที่ 3 (III Panzer Corps) ใต้บังคับบัญชาของนายพลแฮร์มัน เบรธ (Hermann Breith) และกองทัพน้อยยานเกราะที่ 47 (XLVII Panzer Corps) ใต้บังคับบัญชาของนายพลนิโคเลาส์ ฟอน ฟอร์มัน (Nikolaus von Vormann) มีกองพลยานเกราะในสังกัดรวม 4 กองพล สมทบด้วยรถถัง Tiger I และ Panther อีก 80 คัน พยายามฝ่าวงล้อมโซเวียตเข้าไปช่วยกองกำลังสเตมเมอร์มัน ทางด้านกองทัพโซเวียตก็ส่งกำลังเสริมเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แม้รถถังโซเวียตส่วนใหญ่จะยังเป็นรถถัง T-34/76 ติดปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตรซึ่งมีประสิทธิภาพด้อยกว่ารถถัง Tiger I และ Panther แต่ตอนนี้โซเวียตมีรถถังรุ่นใหม่เข้าประจำการแล้ว ตั้งชื่อตามผู้นำโซเวียต คือรถถังอิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) หรือ IS-2 ซึ่งหุ้มเกราะหนา ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตร ออกแบบมารับมือรถถังรุ่นใหม่ของเยอรมันโดยเฉพาะ ประกอบกับปีนี้ฤดูหนาวสิ้นสุดเร็ว ส่งผลให้หิมะละลายเปลี่ยนสภาพพื้นดินกลายเป็นโคลนเลน เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่ของยานเกราะและอาวุธหนัก หน่วยยานเกราะเยอรมันไม่สามารถฝ่าวงล้อมโซเวียตเข้าไปถึงกองกำลังสเตมเมอร์มันได้ จอมพลมันชไตน์กลัวว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยที่สตาลินกราด (Stalingrad) จึงออกคำสั่งให้กองกำลังสเตมเมอร์มันฝ่าวงล้อมออกมาโดยไม่ต้องรอฮิตเลอร์อนุมัติ ทหารเยอรมันประมาณ 30,000 นายสามารถฝ่าวงล้อมออกมาได้ ส่วนที่เหลือเสียชีวิตหรือถูกจับเป็นเชลย นายพลสเตมเมอร์มันเสียชีวิตในการรบ

(Bundesarchiv, Bild 101I-711-0421-07 / Beissel / CC-BY-SA 3.0)
แม้การตอบโต้ของจอมพลมันชไตน์จะสามารถช่วยชีวิตทหารเยอรมันในกองกำลังสเตมเมอร์มันได้ประมาณครึ่งหนึ่ง แต่หน่วยยานเกราะเยอรมันก็สูญเสียรถถังไปจำนวนมาก ในช่วงเวลาเดียวกันกองทัพโซเวียตของนายพลวาตูตินก็ทำการรุกต่อไปทางตะวันตกของเมืองเคียฟโดยแทบไม่มีการต่อต้านเลย แนวรบของโซเวียตยื่นล้ำเข้าไปในแนวรบของเยอรมันแบ่งแยกกลุ่มกองทัพภาคใต้และกลุ่มกองทัพภาคกลาง (Army Group Center) ออกจากกัน หน่วยยานเกราะโซเวียตเตรียมวกลงใต้เพื่อตลบหลังและโอบล้อมกองทัพยานเกราะที่ 1 (1st Panzer Army) และกลุ่มกองทัพภาคใต้ของเยอรมัน
การรุกของโซเวียตเริ่มขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม ภายในเวลาเพียง 3 วัน ทหารเยอรมันกว่า 200,000 นายในสังกัดกองทัพยานเกราะที่ 1 ก็ถูกล้อม ฮิตเลอร์ต้องส่งกองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 (II SS Panzer Corps) จากฝรั่งเศสมาช่วย แม้สุดท้ายกองทัพยานเกราะที่ 1 จะฝ่าวงล้อมออกไปได้ แต่ก็สูญเสียรถถังและอาวุธหนักไปเกือบทั้งหมด
ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ค.ศ.1944 กองทัพเยอรมันถูกผลักดันถอยร่นไปทางตะวันตกจนถึงเมืองลวอฟ (Lvov) ขณะที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ กองทัพโซเวียตก็สามารถยึดเมืองท่าโอเดสซ่า (Odessa) ริมฝั่งทะเลดำได้แล้วทำการรุกต่อไปยังมอลโดวา (Moldova) เข้าประชิดประเทศโรมาเนีย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันสำคัญของเยอรมัน

(Wikimedia Commons/ Public Domain)
การรุกของกองทัพโซเวียตทางฝั่งขวาของแม่น้ำนีเปอร์และการปลดปล่อยยูเครนระหว่างช่วงปลายปี ค.ศ.1943 ถึงช่วงต้นปี ค.ศ.1944 ส่งผลให้เยอรมันเชื่อว่าโซเวียตมีแผนจะทำการรุกใหญ่ในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ.1944 โดยใช้ยูเครนเป็นหัวหาด กองทัพเยอรมันจึงเรียกระดมกองหนุนและกำลังเสริมจากทั่วทั้งทวีปยุโรป ประมาณ 34 กองพล ประกอบด้วยทหารราบประมาณ 550,000 นาย รถถังและปืนใหญ่อัตตาจรประมาณ 1,200 คัน มาเสริมกำลังที่บริเวณนี้ ส่งผลให้กำลังพลของเยอรมันในแนวรบด้านอื่นเบาบางลง ในจำนวนนี้ทหารราบประมาณ 45,000 นาย รถถังและปืนใหญ่อัตตาจรประมาณ 360 คันถูกดึงมาจากฝรั่งเศส ส่งผลให้กำลังทหารเยอรมันที่จะป้องกันการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรที่หาดนอร์มังดีในวัน D-Day มีน้อยลง ขณะที่กลุ่มกองทัพภาคกลางในเบลารุสก็ถูกดึงกำลังทหารราบไปประมาณ 120,000 นาย กับรถถังและยานเกราะประมาณ 550 คัน
ขณะที่กองทัพเยอรมันกำลังเตรียมตั้งรับการรุกของกองทัพโซเวียตจากหัวหาดในยูเครนอยู่นั้น กองทัพโซเวียตก็กำลังเตรียมการรุกใหญ่ในเบลารุส ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ.1944 มีเป้าหมายเพื่อโอบล้อมทำลายกลุ่มกองทัพภาคกลางของเยอรมัน และปลดปล่อยเมืองมินสค์ (Minsk) ชื่อปฏิบัติการบากราติออน (Operation Bagration)
สวัสดี
07.06.2021