
(Megapixie/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
หลังจากรถถัง Type-61 เข้าประจำการในกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1961 ผ่านไปไม่ถึงหนึ่งปี สหภาพโซเวียตก็รับมอบรถถัง T-62 ซึ่งมีขีดความสามารถเหนือกว่ารถถัง Type-61 มากเข้าประจำการ ส่งผลให้ในปี ค.ศ.1962 ญี่ปุ่นต้องเริ่มโครงการพัฒนารถถังรุ่นใหม่ขึ้นมาถ่วงดุล โดยบริษัท Mitsubishi ได้ทำการออกแบบรถถังรุ่นใหม่ โดยได้รับอิทธิพลบางส่วนจากรถถัง MBT-70 (เป็นโครงการร่วมระหว่างสหรัฐฯและเยอรมนีแต่ไม่สำเร็จ), รถถัง Leopard 1 ของเยอรมนี และรถถัง M60 Patton ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังพยายามใส่เทคโนโลยีใหม่ๆเข้าไปในรถถังรุ่นใหม่นี้ให้มากที่สุด เช่นระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ ป้อมปืนกลหนักต่อสู้อากาศยานควบคุมด้วยรีโมท เป็นต้น แต่ขณะนั้นเทคโนโลยีเหล่านี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ต้องถอดออกไปในภายหลัง ส่งผลให้โครงการมีความซับซ้อนมาก กว่าจะพัฒนาเสร็จก็ใช้เวลาถึง 14 ปี รถถังรุ่นใหม่เข้าประจำการในปี ค.ศ.1975 มีชื่อว่า Type-74 ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่รถถังรุ่นนี้เข้าประจำการ กองทัพโซเวียตก็ได้นำรถถังรุ่นใหม่อย่าง T-72 และ T-80 ซึ่งมีขีดความสามารถเหนือกว่าเข้าประจำการแล้ว ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องไปเร่งพัฒนารถถัง Type-90 ออกมาอีกรุ่นหนึ่ง
รถถัง Type-74 มีพลประจำ 4 นาย (ผบ.รถถัง พลขับ พลยิง และพลบรรจุ) มีน้ำหนัก 38 ตัน มีขนาดยาว 9.42 เมตรเมื่อหันป้อมปืนไปทางด้านหน้า (เฉพาะตัวรถมีความยาว 6.7 เมตร) กว้าง 3.18 เมตร สูง 2.67 เมตร ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตรรุ่น L7 ซึ่งญี่ปุ่นซื้อสิทธิบัตรมาผลิตเอง, ปืนกลร่วมแกน Type-74 ขนาด 7.62 มิลลิเมตร และปืนกลหนัก M2HB ขนาด 12.7 มิลลิเมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 750 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 53 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 300 กิโลเมตร
ระหว่างปี ค.ศ.1975 – 1988 ญี่ปุ่นได้ผลิตรถถัง Type-74 ออกมาประมาณ 893 คัน ปัจจุบันกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นก็ยังใช้งานรถถังรุ่นนี้อยู่ โดยในปี ค.ศ.2006 มีประจำการอยู่ประมาณ 700 คัน แต่กำลังทยอยทดแทนด้วยรถถัง Type-10 รุ่นใหม่
สวัสดี
08.06.2021