
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองดำเนินมาถึงช่วงกลางปี ค.ศ.1944 สถานการณ์ของเยอรมันไม่สู้ดีนัก ในแนวรบด้านตะวันออก กลุ่มกองทัพภาคเหนือ (Army Group North) ต้องล่าถอยออกจากเมืองเลนินกราด (Leningrad) หลังกองทัพเยอรมันพยายามปิดล้อมเมืองนี้มานานเกือบ 900 วัน ขณะที่กลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) ก็ถูกกองทัพโซเวียตโจมตีถอยร่นไปจากยูเครน มีเพียงกลุ่มกองทัพภาคกลาง (Army Group Center) ที่ยังป้องกันแนวหน้าในเบลารุสเอาไว้ได้ ในวันที่ 6 มิถุนายน ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี (Normandy) ทางภาคเหนือของฝรั่งเศสในวัน D-Day นับจากจุดนี้เป็นต้นไป กองทัพเยอรมันซึ่งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ร่อยหรอลงไปมากจะต้องรับศึกทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกพร้อมกัน
ในยูเครน กองทัพเยอรมันถูกผลักดันถอยร่นมาจนถึงเมืองลวอฟ (Lvov) ขณะที่เลยลงไปทางใต้ กองทัพโซเวียตก็เข้าประชิดโรมาเนีย แหล่งน้ำมันสำคัญของเยอรมัน กองบัญชาการเยอรมันเชื่อว่าการรุกครั้งถัดไปของโซเวียตจะใช้ยูเครนเป็นหัวหาด กองหนุนของเยอรมันจึงถูกส่งมาที่บริเวณนี้เป็นหลัก รวมถึงยานเกราะส่วนใหญ่ด้วย แต่ความจริงแล้วการรุกใหญ่ของโซเวียตในช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ.1944 มีเป้าหมายอยู่ที่เบลารุส ชื่อปฏิบัติการบากราติออน (Operation Bagration) ตั้งตามชื่อเจ้าชายปีเตอร์ บากราติออน (Pyotr Bagration) นายทหารรัสเซียสมัยสงครามนโปเลียน (Napoleonic War) กำหนดเริ่มปฏิบัติการวันที่ 22 มิถุนายน วันเดียวกับที่กองทัพเยอรมันเริ่มปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) เมื่อสามปีก่อนหน้านั้น
กองทัพโซเวียตเตรียมทุ่มกำลังพลกว่า 2,400,000 นาย รถถังและปืนใหญ่อัตตาจรมากกว่า 5,200 คัน ปืนใหญ่มากกว่า 30,000 กระบอก และเครื่องบินรบมากกว่า 5,300 ลำ สำหรับปฏิบัติการบากราติออน มีการเตรียมกระสุนและยุทธภัณฑ์มากกว่า 400,000 ตัน เชื้อเพลิงมากกว่า 300,000 ตัน และอาหารมากกว่า 500,000 ตัน สำหรับกำลังพลที่จะเข้าร่วมปฏิบัติการ

การเตรียมตัวของกองทัพโซเวียตสำหรับปฏิบัติการบากราติออนเป็นความลับสุดยอด หน่วยทหารโซเวียตจะเคลื่อนกำลังไปยังแนวหน้าเฉพาะในเวลากลางคืนโดยไม่เปิดไฟรถ ส่วนในช่วงเวลากลางวันทหารโซเวียตจะทำการซ่อนพรางที่ตั้งของตัวเอง โดยมีเครื่องบินรบบินตรวจตรา ถ้านักบินเห็นที่ตั้งทหารหน่วยไหนจากทางอากาศก็จะส่งสัญญาณเตือนให้ปรับปรุงการซ่อนพราง มีเพียงกำลังพลที่ถูกส่งกลับจากแนวหน้าเท่านั้นที่เคลื่อนกำลังอย่างเปิดเผยในเวลากลางวันเพื่อให้หน่วยลาดตระเวนของเยอรมันเข้าใจว่าทหารโซเวียตถูกส่งไปเสริมกำลังในแนวรบด้านอื่น กองทัพโซเวียตยังระงับการสื่อสารด้วยวิทยุด้วย
ทางด้านกลุ่มกองทัพภาคกลางของเยอรมันในเบลารุสมีกำลังพลประมาณ 1,000,000 นาย แม้จะมีกำลังพลมาก แต่อาวุธหนักทั้งรถถัง ปืนใหญ่ และเครื่องบินรบของเยอรมันส่วนใหญ่ถูกดึงจากเบลารุสไปเสริมกำลังที่ยูเครน ส่งผลให้กองทัพเยอรมันในแนวรบด้านนี้อ่อนกำลังลงไปมาก กลุ่มกองทัพภาคกลางมีรถถังและปืนใหญ่อัตราจรเพียง 495 คัน ปืนใหญ่ประมาณ 3,000 กระบอก และเครื่องบินรบประมาณ 920 ลำ แถมกองบัญชาการเยอรมันก็ยังไม่รู้ว่ากองทัพโซเวียตจะทำการรุกที่เบลารุส จึงไม่มีการเตรียมพร้อมแต่อย่างใด จอมพลแอนสท์ บุช (Ernst Busch) ผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพภาคกลางพึ่งจะลาพักสามวันก่อนที่โซเวียตจะเริ่มปฏิบัติการ
กองโจรปาร์ติซาน (Partisan) เริ่มโจมตีรบกวนแนวหลังของเยอรมันตั้งแต่วันที่ 19 – 20 มิถุนายน ขณะที่ทหารช่างโซเวียตก็แทรกซึมเข้าไปตัดลวดหนามและเก็บกู้กับระเบิดในเขตปลอดทหาร ช่วงกลางคืนวันที่ 21 มิถุนายน ทหารโซเวียตเริ่มเข้าโจมตีที่มั่นและสนามเพลาะของทหารเยอรมันในแนวหน้าสุด เครื่องบินรบโซเวียตหลายร้อยลำก็ออกปฏิบัติการทิ้งระเบิดที่ตั้งของทหารเยอรมัน จากนั้นในช่วงเช้าวันที่ 22 มิถุนายน ปฏิบัติการบากราติออนก็เปิดฉากขึ้นเต็มรูปแบบตลอดแนวหน้า รถถังโซเวียตจำนวนมากเข้าสมทบกับทหารราบโจมตีที่มั่นของทหารเยอรมัน ขณะที่ฝูงเครื่องบินโจมตี Ilyushin Il-2 Shturmovik ก็ปรากฏตัวขึ้นเต็มท้องฟ้า ออกบินค้นหาที่ตั้งปืนใหญ่ของเยอรมันแล้วกราดยิงถล่มด้วยปืนกลและจรวด เครื่องบินรบโซเวียตออกปฏิบัติการได้อย่างอิสระ เนื่องจากในขณะนั้นกองทัพอากาศเยอรมันมีเครื่องบินขับไล่พร้อมใช้งานเพียง 40 ลำเท่านั้น

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ออกคำสั่งให้กองทัพเยอรมันป้องกันเมืองสำคัญๆในเบลารุสจนถึงทหารคนสุดท้าย ห้ามถอยหรือยอมแพ้เด็ดขาด ต่อให้ถูกล้อมก็ตาม หนึ่งในเมืองที่ฮิตเลอร์ต้องการให้กองทัพเยอรมันรักษาไว้ให้ได้คือเมืองวีเต็บสค์ (Vitebsk) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเบลารุส ซึ่งมีทหารเยอรมัน 4 กองพลในสังกัดกองทัพน้อยที่ 53 (LIII Army Corps) ขึ้่นตรงกับกองทัพยานเกราะที่ 3 (3rd Panzer Army) ใต้บังคับบัญชาของนายพลเกออร์ค-ฮันส์ ไรน์ฮาร์ต (Georg-Hans Reinhardt) ป้องกันอยู่ แต่เมื่อกองทัพโซเวียตเริ่มปฏิบัติการบากราติออน นายพลไรน์ฮาร์ตพิจารณาแล้วมองว่าเมืองวิเต็บสค์เสี่ยงที่จะถูกล้อม จึงขออนุญาตถอนกำลังทหารออกมา ทว่าจอมพลบุชปฏิเสธ ยืนกรานให้นายพลไรน์ฮาร์ตรักษาเมืองไว้ตามคำสั่งของฮิตเลอร์ กว่าฮิตเลอร์จะอนุมัติให้ถอนทหารบางส่วนออกจากเมืองวิเต็บสค์ได้ในวันที่ 24 มิถุนายน กองทัพน้อยที่ 53 ก็ถูกล้อมเสียแล้ว สองวันต่อมาทหารเยอรมันพยายามฝ่าวงล้อมออกมาจากเมืองวิเต็บสค์แต่ถูกโจมตีทางอากาศและถูกยิงถล่มด้วยปืนใหญ่จนละลายทั้งหน่วย ส่งผลให้ทหารที่เหลืออยู่ตัดสินใจยอมแพ้ เยอรมันเสียทหารทั้งที่เสียชีวิตและถูกจับเป็นเชลยมากกว่า 28,000 นาย
ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเบลารุส กองทัพโซเวียตใต้บังคับบัญชาของนายพลคอนสแตนติน โรคอสซอฟสกี (Konstantin Rokossovsky) ก็เข้าโจมตีเมืองโบบรูสค์ (Bobruysk) และสลูตสค์ (Slutsk) จากสองทิศทาง เป็นยุทธวิธีใหม่แตกต่างจากหลักนิยมของโซเวียตที่ปกติจะเน้นการโจมตีไปที่จุดเดียว ตอนที่โรคอสซอฟสกีเสนอแผนการนี้ให้ผู้นำโซเวียตอิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) พิจารณานั้น สตาลินขอให้โรคอสซอฟสกีคิดทบทวนใหม่ถึง 3 ครั้ง แต่โรคอสซอฟสกีก็ยังยืนยันแผนนี้ จนสุดท้ายสตาลินต้องยอมตาม ปรากฏว่าปฏิบัติการของโรคอสซอฟสกีประสบความสำเร็จงดงาม เนื่องจากกองทัพเยอรมันมีกองหนุนไม่มากพอจะสกัดการโจมตีของโซเวียตหลายจุดพร้อมกันได้ ในวันที่ 27 มิถุนายน กองทัพที่ 9 ของเยอรมันก็ถูกล้อมใกล้เมืองโบบรูสค์ ทหารเยอรมันบางส่วนสามารถฝ่าวงล้อมออกไปได้ ส่วนที่เหลือยอมแพ้ในวันที่ 29 มิถุนายน มีทหารเยอรมันเสียชีวิตหรือถูกจับเป็นเชลยมากกว่า 70,000 นาย

สถานการณ์ของกองทัพเยอรมันย่ำแย่ลงทุกขณะ ฮิตเลอร์ปลดจอมพลบุชออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งจอมพลวัลเทอร์ โมเดล (Walter Model) เป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพภาคกลางแทน จอมพลโมเดลเป็นนายทหารที่ชำนาญการตั้งรับ และมักจะถูกฮิตเลอร์ส่งไปแก้ไขสถานการณ์วิกฤตในแนวรบต่างๆอยู่ตลอดจนได้ฉายาว่านักดับเพลิงของฮิตเลอร์ (Hitler’s Fireman) แต่ทว่าสถานการณ์ของกลุ่มกองทัพภาคกลางนั้นเกินเยียวยาแล้ว กองทัพโซเวียตกำลังมุ่งหน้ามายังเมืองมินสค์ (Minsk) จากสามทิศทาง หนึ่งในนั้นคือทิศตะวันออก ซึ่งกองทัพที่ 4 ของเยอรมันถูกโจมตีถอยร่นจากภาคตะวันออกของเบลารุสมาติดอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเบเรซินา (Berezina) ซึ่งมีทางข้ามเหลืออยู่เพียงจุดเดียว ทหารเยอรมันแย่งกันหนีตายข้ามแม่น้ำ ท่ามกลางการโจมตีทางอากาศของโซเวียต โดยที่สารวัตรทหารไม่สามารถควบคุมความโกลาหลได้ ไม่ต่างจากตอนที่กองทัพฝรั่งเศสของนโปเลียนถอยทัพออกจากรัสเซียในปี ค.ศ.1812
ขณะที่กลุ่มกองทัพภาคกลางใกล้จะแตกเต็มที กองทัพอากาศเยอรมันก็ตัดสินใจส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดออกปฏิบัติการ โดยหวังว่าการโจมตีทางอากาศจะช่วยชะลอการรุกของโซเวียตได้บ้าง แต่เนื่องจากกองทัพอากาศโซเวียตสามารถครองอากาศได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันจำนวนมากถูกยิงตก ไม่สามารถสร้างความเสียหายให้กองทัพโซเวียตได้มากนัก โชคยังดีที่กองพลยานเกราะที่ 5 (5th Panzer Division) ของเยอรมัน สมทบด้วยรถถัง Tiger I อีก 1 กองพัน เคลื่อนกำลังจากยูเครนมาถึงเมืองมินสค์พอดีและเข้าปะทะกับหน่วยยานเกราะโซเวียตอย่างรุนแรง ช่วยซื้อเวลาให้กองทัพเยอรมันได้บ้าง แต่เมื่อผ่านไป 2 วัน หน่วยยานเกราะเยอรมันหน่วยนี้ก็เหลือรถถังอยู่เพียง 18 จาก 159 คันเท่านั้น วันที่ 3 กรกฎาคม เมืองมินสค์ก็ถูกล้อม กองทัพที่ 4 และส่วนที่เหลือของกองทัพที่ 9 ของเยอรมันตกอยู่ในวงล้อมโซเวียต ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ กองทัพโซเวียตก็ยึดเมืองมินสค์ได้อย่างเด็ดขาด มีทหารเยอรมันเสียชีวิตและถูกจับเป็นเชลยรวมกันกว่า 100,000 นาย
หลังจากปฏิบัติการบากราติออนดำเนินมาเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ กลุ่มกองทัพภาคกลางของเยอรมันได้สูญเสียกำลังพลทั้งที่เสียชีวิตและตกเป็นเชลยรวมกันมากกว่า 400,000 นาย จนไม่สามารถจัดตั้งแนวรบใหม่ได้อีกต่อไป ฝ่ายโซเวียตก็สูญเสียมากไม่แพ้กัน มีทหารโซเวียตเสียชีวิตประมาณ 180,000 นาย บาดเจ็บและป่วยประมาณ 300,000 – 600,000 นาย แต่ปฏิบัติการของโซเวียตก็ถือว่าประสบความสำเร็จงดงามเกินความคาดหมายของกองบัญชาการโซเวียตไปมาก จนสื่อต่างประเทศสงสัยว่ารายงานข่าวที่โซเวียตเผยแพร่ออกมานั้นเป็นความจริงหรือไม่ สตาลินจึงออกคำสั่งให้เริ่มปฏิบัติการ The Great Waltz ในวันที่ 17 กรกฎาคม นำเชลยศึกเยอรมันมากกว่า 57,000 นายมาเดินขบวนในกรุงมอสโก ให้ประชาชนโซเวียตและผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศได้เห็นชัดๆจนไม่มีข้อกังขาในชัยชนะของโซเวียตอีกต่อไป

(RIA Novosti archive, image #129359 / Michael Trahman / CC-BY-SA 3.0)
หลังจากยึดเมืองมินสค์ได้แล้ว กองทัพโซเวียตก็ใช้เวลาพักฟื้นฟูกำลังจนถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ก่อนจะทำการรุกต่อเข้าไปในสามรัฐบอลติกและโปแลนด์ สมทบกับกองทัพโซเวียตอีกกองหนึ่งที่รุกมาจากยูเครน ช่วงกลางเดือนสิงหาคม กองทัพโซเวียตก็รุกมาถึงชายแดนแคว้นปรัสเซียตะวันออก (East Prussia) และชานกรุงวอร์ซอ (Warsaw) ของโปแลนด์ใกล้กับแม่น้ำวิสตูลา (Vistula) อยู่ห่างจากกรุงเบอร์ลิน (Berlin) ประมาณ 550 กิโลเมตรเท่านั้น
ปฏิบัติการบากราติออนยุติลงในวันที่ 19 สิงหาคม หลังจากนั้นกองทัพโซเวียตที่อ่อนล้าก็ใช้เวลาส่วนใหญ่พักฟื้นฟูกำลังจนถึงเดือนมกราคม ค.ศ.1945 ก่อนจะเริ่มปฏิบัติการรุกใหญ่จากแม่น้ำวิสตูลาไปยังแม่น้ำโอเดอร์ (Oder) ค่อยๆขยับเข้าใกล้กรุงเบอร์ลินไปเรื่อยๆ
สวัสดี
08.06.2021