
(VoidWanderer/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 4.0)
รถถัง BM-Oplot หรือ Oplot-M ของยูเครน ออกแบบโดยบริษัท Kharkiv Morozov Machine Building Design Bureau (KMDB) ผลิตโดยโรงงาน Malyshev พัฒนาต่อยอดมาจากรถถัง T-84 Oplot ซึ่งมีพื้นฐานมาจากรถถัง T-80UD (รถถัง T-80U รุ่นใช้เครื่องยนต์ดีเซล) ของสหภาพโซเวียต รถถัง Oplot-M เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ.2008 และผ่านการทดสอบของกองทัพยูเครนแล้ว แต่กองทัพยูเครนไม่ได้จัดหาเข้าประจำการเนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ
รถถัง Oplot-M มีน้ำหนัก 51 ตัน มีขนาดยาว 9.72 เมตร เมื่อหันป้อมปืนไปทางด้านหน้า ตัวรถมีขนาดยาว 7.7 เมตร กว้าง 4.17 เมตร สูง 2.28 เมตร ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตรรุ่น KBA-3 มีระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ สามารถยิงจรวดต่อสู้รถถัง 9K119M Refleks-M หรือ AT-11 Sniper-B ระยะยิง 5 กิโลเมตรจากในลำกล้องได้, ปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 มิลลิเมตร และปืนกลหนักขนาด 12.7 มิลลิเมตรควบคุมด้วยรีโมท ระบบป้องกันตัวของรถถัง Oplot-M ประกอบด้วยเกราะทำจากวัสดุคอมโพสิต เสริมด้วยเกราะ ERA รุ่น Duplet หรือ Nozh-2 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่ารุ่น Kontakt-5 และสามารถป้องกันหัวรบ Tandem ได้ นอกจากนี้รถถัง Oplot-M ยังมีระบบป้องกันแบบแอคทีฟ Varta ซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายกับระบบ Shtora-1 ในรถถัง T-90A ของรัสเซีย ใช้แจมระบบนำวิถีของจรวดต่อสู้รถถังก่อนจะกระทบตัวรถ รถถัง Oplot-M ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 6TD-2E ขนาด 1,200 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 500 กิโลเมตรเมื่อติดถังน้ำมันเสริมด้านท้ายรถ รถถัง Oplot-M มีพลประจำรถ 3 นายได้แก่พลขับ พลยิง และ ผบ.รถถัง
จุดเด่นของรถถัง Oplot-M เมื่อเปรียบเทียบกับรถถังส่วนใหญ่ของรัสเซียคือมีกล้อง CITV สำหรับ ผบ.รถถัง ซึ่งรถถัง T-72B3 และ T-80BVM ของรัสเซียไม่มี ช่วยให้รถถัง Oplot-M มีคุณสมบัติ Hunter-Killer และสามารถทำการรบเวลากลางคืนได้ดี นอกจากนี้ระบบป้องกันตัวของรถถัง Oplot-M ก็มีประสิทธิภาพสูงกว่ารถถังรัสเซียเกือบทุกรุ่นยกเว้นรถถัง T-90M และ T-14 Armata อย่างไรก็ตาม แม้รถถัง Oplot-M จะมีระบบป้องกันตัวที่ดีสมกับชื่อ Oplot ที่แปลว่าป้อมปราการ แต่ข้อด้อยของรถถัง Oplot-M กลับอยู่ที่อำนาจการยิง เนื่องจากยูเครนยังไม่สามารถพัฒนากระสุนเจาะเกราะ APFSDS รุ่นใหม่ได้ ส่งผลให้รถถัง Oplot-M ยังต้องใช้กระสุนเจาะเกราะ 3BM42 Mango จากยุคโซเวียตอยู่ กระสุนรุ่นนี้สามารถเจาะเกราะหนา 450 มิลลิเมตร ได้ที่ระยะ 2 กิโลเมตร ซึ่งไม่เพียงพอที่จะเจาะเกราะด้านหน้าของรถถัง T-72B รุ่นปี 1985 ติดเกราะ ERA รุ่น Kontakt-1 ด้วยซ้ำ ในขณะที่รถถังรัสเซียมีกระสุนเจาะเกราะ APFSDS รุ่นใหม่เช่น 3BM59 Svinets-1 และ 3BM60 Svinets-2 ใช้งานแล้ว การที่รถถัง Oplot-M ยังต้องใช้กระสุนเจาะเกราะรุ่นเก่าจากยุคโซเวียตอยู่ ส่งผลให้อำนาจการยิงด้อยกว่ารถถัง T-72 และ T-80 รุ่นอัพเกรดของรัสเซียเสียอีก
เมื่อกองทัพยูเครนไม่มีงบประมาณพอจะจัดหารถถัง Oplot-M เข้าประจำการ ประเทศไทยจึงเป็นลูกค้ารายแรกของรถถังรุ่นนี้ โดยกองทัพบกไทยได้จัดหารถถัง Oplot-M จำนวน 1 กองพัน 49 คัน มูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาทในปี ค.ศ.2011 สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก เดิมมีกำหนดส่งมอบในปี ค.ศ.2015 แต่ทว่าในปี ค.ศ.2013 ยูเครนก็ขอเลื่อนกำหนดส่งมอบออกไป ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นยังไม่ได้เกิดเหตุการณ์ที่จัตุรัสไมดัน และรัสเซียก็ยังไม่ได้เข้าแทรกแซงไครเมียและดอนบาสแต่อย่างใด การที่หลายคนอ้างว่ายูเครนส่งมอบรถถัง Oplot-M ช้าเพราะความขัดแย้งกับรัสเซียนั้นจึงฟังไม่ขึ้น ยูเครนแค่ใช้ความขัดแย้งกับรัสเซียที่เกิดขึ้นภายหลังเป็นข้ออ้างเท่านั้น กว่าไทยจะได้รับมอบรถถัง Oplot-M ครบ 49 คันก็ปี ค.ศ.2018 ใช้เวลาถึง 7 ปี เป็นสาเหตุหนึ่งที่ภายหลังกองทัพบกไทยหันไปจัดหารถถัง VT-4 จากจีนแทน
หลังจากไทยจัดหารถถัง Oplot-M มาใช้งานแล้ว จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีประเทศไหนจัดหารถถัง Oplot-M ไปใช้งานแต่อย่างใด มีเพียงสหรัฐฯที่จัดหารถถัง Oplot-M จำนวน 1 คันไปศึกษาเทคโนโลยีเท่านั้น ขณะที่กองทัพยูเครนก็มีรถถัง T-84 Oplot รุ่นเก่าใช้งานอยู่ 10 คัน และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีงบประมาณพอจัดหารถถัง Oplot-M ในเร็วๆนี้ ก่อนหน้านี้ยูเครนพยายามเสนอขายรถถัง Oplot-M ให้ปากีสถาน แต่ไม่สำเร็จ ล่าสุดปากีสถานก็เลือกจัดหารถถัง VT-4 จากจีนแล้ว
สวัสดี
10.06.2021