
ช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ค.ศ.1944 หลังความพ่ายแพ้ในสมรภูมินอร์มังดี ทหารเยอรมันที่เหลืออยู่ในแนวรบด้านตะวันตกถอยร่นออกจากฝรั่งเศสและเบลเยียม เข้าไปในเยอรมนีและฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์) อย่างรวดเร็ว โดยมีกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรไล่ติดตามมา นำโดยพลเอกเบอร์นาด มอนต์โกเมอรี่ (Bernard Montgomery) ของอังกฤษทำการรุกทางเหนือเข้าไปในเบลเยียม ยึดเมืองท่าแอนท์เวิร์ป (Antwerp) ได้ ขณะที่พลเอกจอร์จ เอส แพตตัน (George S. Patton) ของสหรัฐฯทำการรุกไปทางใต้ เข้าประชิดแนวซิกฟรีด (Siegfried Line) ของเยอรมนี แต่แล้วการรุกของฝ่ายสัมพันธมิตรก็หยุดชะงักลง เพราะเชื้อเพลิงขาดแคลน เนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรยังต้องส่งเชื้อเพลิงจากอังกฤษมาขึ้นฝั่งที่ชายหาดนอร์มังดี (Normandy) และเมืองท่าเชอร์บูร์ก (Cherbourg) ทางภาคเหนือของฝรั่งเศสเท่านั้น เนื่องจากท่าเรือที่เหลืออีกหลายแห่งยังคงถูกทหารเยอรมันยึดครองอยู่ จากนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรก็ต้องลำเลียงเชื้อเพลิงเหล่านี้เป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรไปยังแนวหน้า แถมถนนและทางรถไฟหลายสายก็ถูกสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายไปก่อนการยกพลขึ้นบกในวัน D-Day เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงไปยังชายหาดของกองทัพเยอรมัน แต่ตอนนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมีปัญหาการส่งกำลังบำรุงเสียเอง พลเอกดไวต์ ดี ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร จำเป็นต้องเลือกว่าจะส่งเชื้อเพลิงที่มีอยู่จำกัด ให้พลเอกมอนต์โกเมอรี่หรือพลเอกแพตตันทำการรุกทางใดทางหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากช่วงนั้นกรุงลอนดอน (London) ของอังกฤษกำลังถูกกองทัพเยอรมันยิงถล่มด้วยขีปนาวุธ V-2 ซึ่งมีฐานยิงอยู่ในฮอลแลนด์ ส่งผลให้ผู้นำทางการเมืองของฝ่ายสัมพันธมิตรสนับสนุนพลเอกมอนต์โกเมอรี่มากกว่า
พลเอกมอนต์โกเมอรี่เสนอแผนปฏิบัติการโคเมท (Operation Comet) จะใช้กองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษ (British 1st Airborne Division) ใต้บังคับบัญชาของพลตรีรอย เออร์คูฮาร์ต (Roy Urquhart) และกองพลน้อยพลร่มอิสระที่ 1 ของโปแลนด์ (1st Independent Parachute Brigade) ใต้บังคับบัญชาของพลจัตวาสตานิสลาฟ โซซาบอฟสกี (Stanisław Sosabowski) ส่งทางอากาศเข้ายึดสะพานข้ามแม่น้ำไรน์เปิดทางให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรทำการรุกเข้าสู่เยอรมนี มีกำหนดเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 2 กันยายน แต่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากสภาพอากาศไม่ดี จนกระทั่งวันที่ 10 กันยายน แผนดังกล่าวก็ถูกยกเลิก พลเอกมอนต์โกเมอรี่ไม่ยอมแพ้ เสนอแผนใหม่ซึ่งทะเยอทะยานยิ่งกว่าเดิมชื่อปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดน (Operation Market Garden) กำหนดเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 17 กันยายน
ปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือมาร์เก็ต (Market) หมายถึงทหารพลร่ม โดยพลเอกมอนต์โกเมอรี่วางแผนจะใช้กำลังพลร่มจากกองพลพลร่มที่ 101 (101st Airborne Division) ของสหรัฐฯ ใต้บังคับบัญชาของพลตรีแมกซ์เวลล์ ดี เทย์เลอร์ (Maxwell D. Taylor), กองพลพลร่มที่ 82 (82nd Airborne Division) ของสหรัฐฯ ใต้บังคับบัญชาของพลตรีเจมส์ เอ็ม เกวิน (James M. Gavin), กองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษ และกองพลน้อยพลร่มอิสระที่ 1 ของโปแลนด์ มีกำลังพลรวมกันประมาณ 35,000 นาย ส่งทางอากาศด้วยเครื่องบินลำเลียง C-47 Dakota มากกว่า 1,400 ลำ เครื่องบินทิ้งระเบิดที่ดัดแปลงมาใช้ลำเลียงพลประมาณ 300 ลำ และเครื่องร่อนมากกว่า 3,000 ลำ เข้ายึดสะพานสำคัญในฮอลแลนด์บริเวณเมืองไอนด์โฮเวน (Eindhoven), ไนจ์เมเกน (Nijmegen) และอาร์นเฮม (Arnhem) หลังแนวรบของกองทัพเยอรมัน ขณะที่ส่วนที่สองคือการ์เดน (Garden) หมายถึงกองกำลังภาคพื้นดิน ได้แก่กองทัพน้อยที่ 30 (XXX Corps) ของอังกฤษ ใต้บังคับบัญชาของพลโทไบรอัน ฮอร์รอคส์ (Brian Horrocks) ซึ่งมีกำลังพลประมาณ 50,000 นาย จะบุกผ่านแนวป้องกันของกองทัพเยอรมันบริเวณชายแดนเบลเยียม-ฮอลแลนด์ไปตามทางหลวงหมายเลข 69 (Highway 69) ผ่านสะพานต่างๆที่ทหารพลร่มยึดเอาไว้จนสามารถข้ามแม่น้ำไรน์ที่เมืองอาร์นเฮมเข้าสู่เยอรมนีได้ในที่สุด ฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อว่าถ้าปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดนประสบความสำเร็จ สงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรปก็จะยุติลงภายในวันคริสต์มาสของปี ค.ศ.1944
ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเตรียมตัวสำหรับปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดน กองทัพเยอรมันก็กำลังจัดแนวรบขึ้นใหม่เช่นกัน วันที่ 4 กันยายน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เรียกตัวจอมพลเกิร์ด ฟอน รุนด์ชเต็ดต์ (Gerd von Rundstedt) กลับมาเป็นผู้บัญชาการแนวรบด้านตะวันตกของเยอรมนี แทนที่จอมพลวัลเทอร์ โมเดล (Walter Model) ซึ่งถูกลดตำแหน่งไปเป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพบี (Army Group B) กำลังเสริมจากเยอรมนีค่อยๆถูกส่งเข้ามาในฮอลแลนด์ ทดแทนกำลังรบที่ร่อยหรอไปมากในสมรภูมินอร์มังดี
หนึ่งในหน่วยทหารที่เยอรมนีส่งเข้ามาในฮอลแลนด์ได้แก่กองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่สอง (II SS Panzer Corps) ใต้บังคับบัญชาของพลโทวิลเฮล์ม บิตตริช (Wilhelm Bittrich) ซึ่งขณะนั้นมีหน่วยในสังกัดคือกองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 9 โฮเฮนชเตาเฟน (9th SS Panzer Division Hohenstaufen) และกองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 10 ฟรุนด์สแบร์ก (10th SS Panzer Division Frundsberg) ถูกส่งไปพักปรับกำลังใหม่ที่เมืองอาร์นเฮม แม้ชื่อกองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส จะฟังดูยิ่งใหญ่มาก แต่ความจริงแล้วหน่วยนี้พึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักมาจากสมรภูมินอร์มังดี กองพลยานเกราะ เอสเอส ทั้งสองกองพลมีกำลังพลรวมกันเพียง 6,000 – 7,000 นาย หรือประมาณ 20 – 30% ของกำลังรบเต็มอัตราเท่านั้น ยานเกราะก็เหลืออยู่น้อยมาก เมื่อเวลาผ่านไปกองบัญชาการเยอรมันก็มีแนวคิดจะให้กองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 9 โฮเฮนชเตาเฟน มอบยานเกราะที่เหลืออยู่ทั้งหมดให้กองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 10 ฟรุนด์สแบร์ก แล้วย้ายกลับไปปรับกำลังใหม่ในเยอรมนี แต่กองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 9 โฮเฮนชเตาเฟน ไม่อยากสูญเสียยานเกราะของตนไป จึงทำการเล่นแร่แปรธาตุ ถอดชิ้นส่วนเช่นล้อ สายพาน เครื่องยนต์ ฯลฯ ของยานเกราะออกแล้วบันทึกในเอกสารว่ายานเกราะเหล่านี้ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่สามารถส่งมอบให้กองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 10 ฟรุนด์สแบร์กได้
วันที่ 16 กันยายน หน่วยข่าวกรองอังกฤษทราบความเคลื่อนไหวของกองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ส่งผลให้เกิดความกังวลขึ้นในกองบัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตร พลเอกไอเซนฮาวร์จึงส่งเสนาธิการไปหารือเรื่องนี้กับพลเอกมอนต์โกเมอรี่ แต่พลเอกมอนต์โกเมอรี่ไม่สนใจ ขณะที่พันตรีไบรอัน เออร์คูฮาร์ต (Brian Urquhart คนละคนกับผู้บัญชาการกองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษ) ก็ได้รับรายงานจากหน่วยใต้ดินของฮอลแลนด์ว่ามียานเกราะเยอรมันบริเวณเมืองอาร์นเฮม จึงส่งเครื่องบินออกไปตรวจสอบ แล้วนำภาพถ่ายทางอากาศมาหารือกับพลโทเฟรเดอริก บราวนิ่ง (Frederick Browning) นอกจากพลโทบราวนิ่งจะไม่สนใจข่าวแล้ว ยังบีบให้พันตรีเออร์คูฮาร์ตลาป่วยด้วย ไม่อย่างนั้นจะถูกส่งขึ้นศาลทหาร ปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดนกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว
โปรดติดตามตอนต่อไป
สวัสดี
11.06.2021