ปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดน (Operation Market Garden) เปิดฉากขึ้นในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน ค.ศ.1944 เครื่องบินรบของฝ่ายสัมพันธมิตรนับพันลำขึ้นบินจากสนามบินในอังกฤษ ออกไปโจมตีที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยานและฐานทัพของกองทัพเยอรมันในฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์) ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถครองอากาศได้อย่างสมบูรณ์ มีเครื่องบินขับไล่ Focke-Wulf Fw 190 ของเยอรมนีบินขึ้นมาสกัดเพียง 15 ลำ ในจำนวนนี้ถูกยิงตกไป 7 ลำโดยที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเสียเครื่องบินขับไล่ P-51 Mustang เพียงลำเดียว
พลร่มชุดแรกของฝ่ายสัมพันธมิตรโดดร่มลงในฮอลแลนด์เวลาประมาณ 12.40 น. เพื่อเตรียมจุดโดดร่มและลานบินสำหรับให้เครื่องร่อนลงจอด จากนั้นเวลาประมาณ 13.30 น. กำลังหลักประกอบด้วยพลร่มระลอกแรกประมาณ 20,000 นายก็เริ่มทยอยมาถึง การที่ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่มีอากาศยานเพียงพอจะลำเลียงพลร่มทั้ง 35,000 นายในระลอกเดียวได้ ส่งผลให้ต้องแบ่งพลร่มกระโดดร่มลงในฮอลแลนด์เป็นหลายระลอก ซึ่งประเด็นนี้จะกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดนในเวลาต่อมา โดยภาพรวมปฏิบัติการส่งทางอากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พลร่มส่วนใหญ่โดดร่มลงบริเวณจุดโดดที่กำหนดไว้ ไม่กระจัดกระจายเหมือนตอนวัน D-Day แล้วเคลื่อนกำลังไปยังพื้นที่เป้าหมายของตนทันที
แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะส่งพลร่มระลอกแรกเข้าสู่ฮอลแลนด์ได้โดยแทบไม่มีการขัดขวางเลย แต่ครั้งนี้ฝ่ายกองทัพเยอรมันก็ตั้งตัวได้เร็วเช่นกัน จอมพลวัลเทอร์ โมเดล (Walter Model) อยู่ที่กองบัญชาการในหมู่บ้านอูสเตอร์บีค (Oosterbeek) ทางตะวันตกของเมืองอาร์นเฮม (Arnhem) ตอนที่พลร่มอังกฤษเริ่มโดดร่มลงมา เขาย้ายกองบัญชาการไปรวมกับพลโทวิลเฮล์ม บิตตริช (Wilhelm Bittrich) ผู้บัญชาการกองทัพน้อยยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 (II SS Panzer Corps) ทางตะวันออกของอาร์นเฮม แล้วเริ่มออกคำสั่งให้กองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 9 โฮเฮนชเตาเฟน (9th SS Panzer Division Hohenstaufen) และกองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 10 ฟรุนด์สแบร์ก (10th SS Panzer Division Frundsberg) เคลื่อนกำลังออกไปตอบโต้ฝ่ายสัมพันธมิตรทันที กองพันยานเกราะลาดตระเวนของกองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 9 โฮเฮนชเตาเฟน รีบประกอบชิ้นส่วนยานเกราะที่ถูกถอดออกมาก่อนหน้านี้เพื่อจะได้ไม่ต้องส่งมอบให้ กองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 10 ฟรุนด์สแบร์กกลับเข้าที่ จากนั้นร้อยเอกวิกเตอร์ เกรบเนอร์ (Viktor Gräbner) ก็นำกำลังรถหุ้มเกราะ รถกึ่งสายพาน และรถบรรทุกประมาณ 40 คัน มุ่งหน้าผ่านเมืองอาร์นเฮมไปยังเมืองไนจ์เมเกน (Nijmegen)

(Bundesarchiv, Bild 183-J27784 / Adendorf, Peter / CC-BY-SA 3.0)
กองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษ (British 1st Airborne Division) โดดร่มลงทางตะวันตกของหมู่บ้านอูสเตอร์บีค การที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมีอากาศยานไม่พอ ส่งผลให้มีกำลังพลของกองพลพลร่มที่ 1 เพียงครึ่งเดียวที่มาถึงในระลอกแรก แถมจุดโดดทางตะวันตกของหมู่บ้านอูสเตอร์บีคก็อยู่ห่างจากเมืองอาร์นเฮมถึง 13 กิโลเมตร เนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าใจผิดว่ากองทัพเยอรมันมีปืนต่อสู้อากาศยานในเมืองอาร์นเฮมจำนวนมาก ส่งผลให้พลร่มอังกฤษต้องแบ่งกำลังพลที่พึ่งมาถึงเพียงครึ่งเดียวออกเป็น 2 ส่วน กำลังพลส่วนหนึ่งต้องอยู่ป้องกันจุดโดด ขณะที่กองพลน้อยพลร่มที่ 1 (1st Parachute Brigade) เดินเท้าไปยังเมืองอาร์นเฮม แต่กำลังพลส่วนใหญ่ของหน่วยนี้ก็ถูกทหารเยอรมันยิงสกัดเสียก่อน มีเพียงกองพันพลร่มที่ 2 (2nd Parachute Battalion) ของพันโทจอห์น ฟรอสต์ (John Frost) ที่ลัดเลาะผ่านพื้นที่ทางใต้ของหมู่บ้านอูสเตอร์บีคไปได้ ตอนแรกพันโทฟรอสต์วางแผนจะข้ามสะพานรถไฟที่หมู่บ้านอูสเตอร์บีคแล้วอ้อมไปบุกยึดสะพานอาร์นเฮล์มจากทางใต้ แต่สะพานรถไฟอูสเตอร์บีคกลับถูกทหารเยอรมันระเบิดทำลายเสียก่อน ส่งผลให้พันโทฟรอสต์ต้องนำกำลังพลลัดเลาะเข้าไปในเมืองอาร์นเฮมโดยตรง แล้วเข้ายึดอาคารทางเหนือของสะพานอาร์นเฮมเป็นที่มั่น แต่ทว่าก่อนที่พลร่มอังกฤษจะมาถึงเมืองอาร์นเฮม กองพันยานเกราะลาดตระเวนของร้อยเอกเกรบเนอร์ก็แล่นข้ามสะพานอาร์นเฮมไปที่เมืองไนจ์เมเกนแล้ว พลร่มอังกฤษบุกเข้ายึดพื้นที่ทางเหนือของสะพานอาร์นเฮมได้ในช่วงเวลากลางคืน แต่ระหว่างการเข้าตี คลังแสงของเยอรมันถูกปืนพ่นไฟของอังกฤษเกิดการระเบิดขึ้นและมีไฟไหม้รุนแรงบนสะพาน ส่งผลให้พลร่มอังกฤษไม่สามารถข้ามไปยังฝั่งใต้ของสะพานอาร์นเฮมได้
ถัดมาทางใต้ กองพลพลร่มที่ 82 (82nd Airborne Division) ของสหรัฐฯ โดดร่มลงใกล้เมืองเกรฟ (Grave) สามารถยึดสะพานเกรฟและที่ราบสูงโกรสบีค (Groesbeek Heights) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเอาไว้ได้ ทั้งพลตรีเจมส์ เอ็ม เกวิน (James M. Gavin) ผู้บัญชาการกองพลพลร่มที่ 82 และพลโทเฟรเดอริก บราวนิ่ง (Frederick Browning) ของอังกฤษต่างก็ให้ความสำคัญกับการยึดที่ราบสูงโกรสบีคมาก เพื่อไม่ให้ทหารเยอรมันใช้เป็นฐานในการตีโต้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ แต่การที่กองพลพลร่มที่ 82 มัวแต่มุ่งเข้ายึดที่ราบสูงโกรสบีคอยู่ ส่งผลให้มีพลร่มเพียงกองพันเดียวที่ถูกส่งไปยึดเมืองและสะพานไนจ์เมเกน ทั้งที่สะพานดังกล่าวควรจะมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อพลร่มอเมริกันกองพันนี้ไปถึงที่หมายก็ถูกทหารเยอรมันหน่วยเอสเอสที่มาจากอาร์นเฮมสกัดเอาไว้ ไม่สามารถยึดสะพานไนจ์เมเกนได้

ขณะที่ทางใต้สุด กองพลพลร่มที่ 101 (101st Airborne Division) ของสหรัฐฯโดดร่มลงบริเวณรอบๆเมืองไอนด์โฮเวน (Eindhoven) และสามารถยึดสะพานส่วนใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว มีเพียงสะพานซอน (Son bridge) ทอดข้ามคลองวิลเฮลมินาเท่านั้นที่ปฏิบัติการของพลร่มอเมริกันประสบความล่าช้า เนื่องจากถูกทหารเยอรมันยิงสกัดด้วยปืนกลและปืนใหญ่ขนาด 88 มิลลิเมตร ส่งผลให้สะพานถูกทหารเยอรมันระเบิดทิ้งก่อนที่พลร่มอเมริกันจะเข้ายึดได้ พลร่มอเมริกันไม่มีทางเลือกนอกจากต้องยึดพื้นที่ไว้รอให้ทหารช่างอังกฤษจากกองทัพน้อยที่ 30 (XXX Corps) มาถึงเท่านั้น
ทางด้านกองทัพน้อยที่ 30 ก็เริ่มการรุกภาคพื้นดินเวลาประมาณ 14.35 น. โดยมีปืนใหญ่กว่า 300 กระบอกและเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด Hawker Typhoon ยิงเปิดทางให้ จากนั้นกำลังพลส่วนหน้าของกองทัพน้อยที่ 30 ก็ข้ามชายแดนเบลเยียม-ฮอลแลนด์ไปตามทางหลวงหมายเลข 69 (Highway 69) มุ่งหน้าไปยังเมืองวาลเคนสวาร์ด (Valkenswaard) การที่รถถังและยานพาหนะจำนวนมากของกองทัพน้อยที่ 30 ต้องเคลื่อนกำลังเรียงแถวกันไปบนถนนสายเดียว กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญ ส่งผลให้ถูกทหารเยอรมันจากหน่วยพลร่ม (Fallschirmjäger) จำนวน 2 กองพันและพันเซอร์เกรนาเดียร์ของกองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 9 โฮเฮนชเตาเฟนอีก 2 กองพันยิงสกัดได้ง่ายจากสองด้านของถนน กว่าทหารอังกฤษจะยึดเมืองวาลเคนสวาร์ดได้ก็เสียเวลาไปทั้งวัน จากที่พลโทไบรอัน ฮอร์รอคส์ (Brian Horrocks) ผู้บัญชาการกองทัพน้อยที่ 30 ต้องการให้หน่วยนี้เคลื่อนกำลังผ่านเมืองวาลเคนสวาร์ดไปยังเมืองไอนด์โฮเวน ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร สมทบกับกองพลพลร่มที่ 1 ของสหรัฐฯภายในเวลา 2 – 3 ชั่วโมง ปรากฏว่าวันนั้นกองทัพน้อยที่ 30 สามารถเคลื่อนกำลังได้เป็นระยะทางเพียง 11 กิโลเมตรเท่านั้น

ปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดนเริ่มล่าช้ากว่ากำหนด สะพานซอนและอูสเตอร์บีคถูกทำลายก่อนที่พลร่มฝ่ายสัมพันธมิตรจะเข้ายึดได้ ขณะที่สะพานไนจ์เมเกนและฟากหนึ่งของสะพานอาร์นเฮมก็ยังอยู่ในมือของทหารเยอรมัน เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป
โปรดติดตามตอนต่อไป
สวัสดี
12.06.2021