ปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดน ตอนที่ 3 การสู้รบวันที่ 18 – 19 กันยายน 1944

ช่วงเช้าตรู่วันที่ 18 กันยายน ค.ศ.1944 วันที่สองของปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดน (Operation Market Garden) ฝ่ายสัมพันธมิตรเตรียมส่งพลร่มระลอกที่สองเข้าสู่ฮอลแลนด์ แต่ทว่าในอังกฤษกลับมีหมอกหนาส่งผลให้กำหนดการโดดร่มถูกเลื่อนออกไปถึงสามชั่วโมง ส่วนที่เมืองอาร์นเฮม (Arnhem) แม้กองพันพลร่มที่ 2 (2nd Parachute Battalion) ของอังกฤษ ใต้บังคับบัญชาของพันโทจอห์น ฟรอสต์ (John Frost) จะสามารถยึดฝั่งเหนือของสะพานอาร์นเฮมไว้ได้ แต่ก็ไม่สามารถข้ามไปยังฝั่งใต้ของสะพานได้ แม้กำลังพลส่วนอื่นๆของกองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษ (British 1st Airborne Division) จะพยายามฝ่าแนวป้องกันของทหารเยอรมันเข้ามาในอาร์นเฮม แต่ก็มาไม่ถึงสะพาน หน่วยพลร่มของพันโทฟรอสต์จำเป็นต้องป้องกันสะพานอาร์นเฮมตามลำพัง

ทางด้านกองพันยานเกราะลาดตระเวนเยอรมันของร้อยเอกวิกเตอร์ เกรบเนอร์ (Viktor Gräbner) หลังจากช่วยทหารเยอรมันในเมืองไนจ์เมเกน (Nijmegen) สกัดพลร่มอเมริกันจากกองพลพลร่มที่ 82 (82nd Airborne Division) ไม่ให้เข้ายึดสะพานข้ามแม่น้ำวาล (Waal) ได้แล้ว ก็วกกลับไปที่อาร์นเฮม แม้ร้อยเอกเกรบเนอร์จะรู้ว่าพลร่มอังกฤษสามารถยึดฝั่งเหนือของสะพานอาร์นเฮมได้แล้ว และหน่วยของเขามีเพียงรถหุ้มเกราะ รถกึ่งสายพาน และรถบรรทุกประมาณ 40 คัน ซึ่งล้วนมีเกราะบางหรือไม่ได้หุ้มเกราะเลย และยังไม่มีรถถังสนับสนุนด้วย แต่เขาก็ออกคำสั่งให้หน่วยของเขาข้ามสะพานเข้าตีที่มั่นของพลร่มอังกฤษอยู่ดี ปรากฏว่าขบวนยานเกราะเยอรมันแล่นไปติดอยู่ที่คอขวดตรงปลายสะพานฝั่งเหนือ แล้วถูกพลร่มอังกฤษระดมยิงใส่จากอาคารสูงสองข้างของสะพาน ยานเกราะเยอรมันถูกทำลายไปครึ่งหนึ่ง ร้อยเอกเกรบเนอร์เสียชีวิตในการรบ

ภาพถ่ายทางอากาศสะพานอาร์นเฮม สังเกตซากยานเกราะเยอรมันบริเวณปลายสะพานด้านเหนือ (© IWM MH 2061)

ถัดมาทางใต้ แม้กองพลพลร่มที่ 82 ของสหรัฐฯจะยังไม่สามารถยึดสะพานที่เมืองไนจ์เมเกนได้ แต่ก็ป้องกันสะพานเกรฟ (Grave) และที่ราบสูงโกรสบีค (Groesbeek Heights) จากการโจมตีตอบโต้ของกองทัพเยอรมันไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ขณะที่กองพลพลร่มที่ 101 (101st Airborne Division) ของสหรัฐฯ หลังจากไม่สามารถยึดสะพานซอน (Son) ได้ทันก่อนที่ทหารเยอรมันจะระเบิดสะพานทิ้ง ก็พยายามเข้ายึดสะพานอีกแห่งหนึ่งที่เบสต์ (Best) แทนแต่ไม่สำเร็จ พลร่มอเมริกันไม่มีทางเลือกนอกจากต้องรอกองทัพน้อยที่ 30 (XXX Corps) ของอังกฤษมาสมทบเท่านั้น

หน่วยลาดตระเวนของกองทัพน้อยที่ 30 มาพบกับกองพลพลร่มที่ 101 เวลาประมาณเที่ยงวัน ส่วนกำลังหลักก็มาถึงเมืองไอนด์โฮเวน (Eindhoven) ในช่วงเย็น แต่กว่าทหารช่างจะนำสะพานทุ่น Bailey bridge มาถึงก็ต้องรอถึงช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากปัญหาการจราจรติดขัดจากการที่ยานพาหนะทั้งหมดของกองทัพน้อยที่ 30 ต้องแล่นเป็นแถวตอนเรียงหนึ่งมาตามความยาวของทางหลวงหมายเลข 69 (High Way 69) ทหารช่างอังกฤษใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงสร้างสะพานทุ่นข้ามคลองวิลเฮลมินาทดแทนสะพานซอนที่ถูกทำลาย เปิดทางให้กองทัพน้อยที่ 30 สามารถทำการรุกต่อไปได้ ถึงตอนนี้ปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดนได้ล่าช้ากว่ากำหนดการไปแล้วถึง 36 ชั่วโมง

วันที่ 19 กันยายน กองทัพน้อยที่ 30 เคลื่อนกำลังต่อไปสมทบกับกองพลพลร่มที่ 82 ที่สะพานเกรฟ จากนั้นก็สมทบกำลังกันเข้าตีที่มั่นของทหารเยอรมันทางใต้ของเมืองไนจ์เมเกน แต่ไม่สามารถเข้าถึงตัวสะพานได้ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงต้องวางแผนใหม่ โดยจะเข้าตีสะพานไนจ์เมเกนจากสองด้านพร้อมกัน โดยพลร่มอเมริกันจะใช้เรือข้ามแม่น้ำวาลห่างจากตัวสะพานประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วอ้อมมาโจมตีที่มั่นทหารเยอรมันฟากเหนือของสะพานอีกทางหนึ่ง กำหนดเริ่มปฏิบัติการในช่วงบ่าย แต่สุดท้ายก็ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากเรือถูกส่งมาไม่ถึง น่าสนใจมากว่าทั้งที่ในฮอลแลนด์มีแม่น้ำลำคลองจำนวนมาก แต่กองทัพน้อยที่ 30 กลับนำเรือมาด้วยน้อยมาก และรถบรรทุกเรือก็อยู่เกือบท้ายขบวน ต้องเสียเวลาแล่นผ่านการจราจรติดขัดบนถนนเส้นเดียวยาวหลายกิโลเมตรท่ามกลางการซุ่มโจมตีของทหารเยอรมันจากสองข้างถนน

ถัดขึ้นไปทางเหนือ กองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษยังคงพยายามตีฝ่าเข้าไปในเมืองอาร์นเฮมเพื่อเสริมกำลังให้กองพันพลร่มที่ 2 ของพันโทฟรอสต์ที่ป้องกันสะพานอยู่ แต่ไม่สำเร็จ พลร่มอังกฤษสูญเสียอย่างหนักต้องถอยร่นกลับไปที่หมู่บ้านอูสเตอร์บีค (Oosterbeek) ส่วนกองพลน้อยพลร่มอิสระที่ 1 ของโปแลนด์ ใต้บังคับบัญชาของพลจัตวาสตานิสลาฟ โซซาบอฟสกี (Stanisław Sosabowski) ก็ยังคงมาไม่ถึงฮอลแลนด์ เนื่องจากในอังกฤษมีหมอกหนา ส่งผลให้ไม่สามารถนำเครื่องร่อนขึ้นบินได้

ขณะเดียวกันสถานการณ์ของกองพันพลร่มที่ 2 ของพันโทฟรอสต์ก็กำลังย่ำแย่ พลร่มอังกฤษในเมืองอาร์นเฮมถูกทหารเยอรมันโอบล้อมโจมตีจากสามทิศทาง แถมตอนนี้กำลังเสริมยานเกราะจากเยอรมนีก็ทยอยมาถึงฮอลแลนด์แล้ว เริ่มจากกองพลน้อยปืนใหญ่อัตตาจร Sturmgeschütz III หรือ StuG III ถูกส่งมาจากเดนมาร์ก จากนั้นก็มีรถถัง Tiger I มาสมทบอีก 2 คัน ทหารเยอรมันใช้ยานเกราะ สนับสนุนด้วยปืนใหญ่และปืน ค. ยิงทำลายอาคารในเมืองอาร์นเฮมที่พลร่มอังกฤษยึดครองอยู่ลงทีละหลังเพื่อเปิดทางให้ทหารราบ อย่างไรก็ตามหน่วยยานเกราะเยอรมันก็ประสบความสูญเสียอย่างหนัก ปืนใหญ่อัตตาจร StuG III แม้จะมีอำนาจการยิงสูง และมีรูปร่างเตี้ยเหมาะสำหรับใช้ซุ่มยิงรถถังข้าศึก แต่ StuG III ไม่มีป้อมปืน ส่งผลให้เวลาเปลี่ยนเป้าหมายก็ต้องหันตัวรถทั้งคัน ขาดความคล่องตัว ไม่เหมาะสำหรับการรบในเมือง พลร่มอังกฤษจะซุ่มรอให้ StuG III แล่นผ่านไปก่อนแล้วโผล่ออกมายิงใส่จากด้านหลังซึ่งมีเกราะบาง ส่งผลให้กองทัพเยอรมันเสีย StuG III ไปจำนวนมาก ส่วนรถถัง Tiger I ทั้ง 2 คันก็หมดสภาพการรบในวันเดียวกัน คันหนึ่งถูกทำลายโดยปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของอังกฤษ ขณะที่อีกคันหนึ่งชำรุดเสียหาย ต้องถอนตัวกลับไปซ่อมแซม พลร่มอังกฤษยังคงรักษาสะพานอาร์นเฮมไว้ได้

ภาพปืนใหญ่อัตตาจร StuG III ของเยอรมันในเมืองอาร์นเฮม (Public Domain)

ในวันเดียวกันนี้ก็เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญขึ้นบนอากาศ ปฏิบัติการของเครื่องบินรบฝ่ายสัมพันธมิตรได้ลดลงเป็นอย่างมาก เปิดโอกาสให้กองทัพอากาศเยอรมันออกปฏิบัติการได้ เครื่องบินขับไล่เยอรมันกราดยิงใส่พลร่มอังกฤษในเมืองอาร์นเฮม ขณะที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันจำนวน 78 ลำก็ขึ้นบินไปทิ้งระเบิดเมืองไอนด์โฮเวนในช่วงเวลากลางคืน ปรากฏว่าฝ่ายสัมพันธมิตรประมาท ไม่ได้นำปืนต่อสู้อากาศยานมาวางกำลังในเมืองไอนด์โฮเวนเลย เพราะคิดว่าตนเองสามารถครองน่านฟ้าได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้เครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมันปฏิบัติการได้อย่างเสรี อาคารในเมืองไอนด์โฮเวนจำนวนมากถูกทำลายหรือได้รับความเสียหาย มีพลเรือนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน รถบรรทุกกระสุนและน้ำมันของฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวนมากถูกทำลาย เกิดเพลิงไหม้ไปทั่วบริเวณ โชคดีที่ กองพลพลร่มที่ 101 ถอนตัวออกจากเมืองได้ทัน จึงไม่ได้รับความเสียหายมากนัก

สถานการณ์ของฝ่ายสัมพันธมิตรคับขันขึ้นทุกที และความสำเร็จของปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดนก็แขวนอยู่บนเส้นด้าย

โปรดติดตามตอนต่อไป

สวัสดี

14.06.2021

แสดงความคิดเห็น