ปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดน ตอนที่ 4 สะพานไนจ์เมเกนและอาร์นเฮม 20 – 21 กันยายน 1944

วันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1944 กองพันพลร่มที่ 2 (2nd Parachute Battalion) ของอังกฤษ ใต้บังคับบัญชาของพันโทจอห์น ฟรอสต์ (John Frost) ได้รักษาพื้นที่ฟากเหนือของสะพานอาร์นเฮม (Arnhem) อย่างโดดเดี่ยวย่างเข้าวันที่ 4 แล้ว ทหารจำนวนมากรวมถึงพันโทฟรอสต์ด้วยได้รับบาดเจ็บ เสบียงอาหารและเวชภัณฑ์ร่อยหรอ กระสุนก็ใกล้จะหมด ขณะที่กำลังหลักของกองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษ (British 1st Airborne Division) ที่หมู่บ้านอูสเตอร์บีค (Oosterbeek) ทางตะวันตกของเมืองอาร์นเฮมก็สูญเสียอย่างหนักจากการบช่วงที่ผ่านมา มีกำลังพลเพียงกองพันเดียวจากทั้งหมด 9 กองพันที่ยังอยู่ในสภาพพอจะทำการรบได้ ส่งผลให้ผู้บังคับบัญชาคือพลตรีรอย เออร์คูฮาร์ต (Roy Urquhart) ต้องตัดสินใจทิ้งกองพันพลร่มที่ 2 ของพันโทฟรอสต์ให้เผชิญชะตากรรม

เมื่อสถานการณ์ในเมืองอาร์นเฮมเลวร้ายถึงขีดสุด พลร่มอังกฤษจึงขอเจรจาพักรบกับทหารเยอรมันเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพื่ออพยพทหารที่บาดเจ็บรวมถึงพันโทฟรอสต์ให้ทหารเยอรมันรับตัวไป จากนั้นพลร่มอังกฤษที่เหลืออยู่ก็ทำการรบต่อไปตามซากอาคารในเมืองอาร์นเฮม ทหารเยอรมันใช้เวลาจนถึงช่วงเช้าวันรุ่งขึ้นก็สามารถกวาดล้างพลร่มอังกฤษในเมืองอาร์นเฮมได้หมด ข้อความวิทยุสุดท้ายที่พลร่มอังกฤษส่งมาจากอาร์นเฮมคือ “กระสุนหมดแล้ว ขอพระเจ้าคุ้มครองพระราชา” (Out of ammunition, God save the King.)

ภาพพลร่มอังกฤษในเมืองอาร์นเฮมตกเป็นเชลยของทหารเยอรมัน
(Bundesarchiv, Bild 183-S73820 / CC-BY-SA 3.0)

ในช่วงเวลาเดียวกับที่การสู้รบในเมืองอาร์นเฮมดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย กองพลพลร่มที่ 82 (82nd Airborne Division) ของสหรัฐฯและกองทัพน้อยที่ 30 (XXX Corps) ของอังกฤษก็เริ่มปฏิบัติการบุกยึดสะพานไนจ์เมเกน (Nijmegen) พร้อมกันจากสองด้าน พลร่มอเมริกันใช้เรือที่พึ่งถูกส่งมาถึงแนวหน้าในช่วงบ่ายวันที่ 20 กันยายนข้ามแม่น้ำวาล (Waal) อ้อมไปโจมตีฝั่งเหนือของสะพานไนจ์เมเกน ขณะที่รถถังอังกฤษทำการรุกจากฝั่งใต้ พลร่มอเมริกันบางส่วนต้องใช้พานท้ายปืนในการพายเรือ เนื่องจากไม้พายมีไม่พอ การข้ามแม่น้ำในเวลากลางวัน ส่งผลให้พลร่มอเมริกันจำนวนมากที่อยู่กลางแม่น้ำตกเป็นเป้านิ่งของทหารเยอรมันจนปฏิบัติการดังกล่าวถูกตั้งฉายาว่าโอมาฮาน้อย (Little Omaha) ตามชื่อชายหาดในวัน D-Day แม้จะมีพลร่มอเมริกันเสียชีวิตกว่า 200 นาย แต่สุดท้ายฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยึดสะพานไนจ์เมเกนได้ในช่วงพลบค่ำ ทหารเยอรมันที่เหลืออยู่พยายามระเบิดสะพานทิ้งแต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามกองทัพน้อยที่ 30 ไม่ได้มุ่งหน้าต่อไปยังเมืองอาร์นเฮมทันที เนื่องจากกำลังพลส่วนใหญ่ยังสู้รบติดพันอยู่ในเมืองไนจ์เมเกน มีรถถังที่พึ่งข้ามสะพานไนจ์เมเกนไปได้ไม่กี่คันเท่านั้น ถ้าให้รถถังเหล่านี้ทำการรุกต่อไปโดยไม่มีทหารราบคุ้มกันก็จะตกเป็นเป้าของทหารเยอรมันได้ง่าย และมีความเสี่ยงที่ทหารเยอรมันจะบุกมายึดฝั่งเหนือของสะพานกลับไปได้

กองทัพน้อยที่ 30 เริ่มการรุกต่อในช่วงเช้าวันที่ 21 กันยายน แต่ปฏิบัติการเป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากทหารเยอรมันได้ทำการโจมตีตอบโต้ฝ่ายสัมพันธมิตรหลายจุดตามทางหลวงหมายเลข 69 (High Way 69) ซึ่งเป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงเพียงเส้นเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตรในฮอลแลนด์ ส่งผลให้การลำเลียงเสบียงและยุทโธปกรณ์มาที่แนวหน้าเป็นไปอย่างยากลำบาก

ภาพรถถังของกองทัพน้อยที่ 30 ของอังกฤษข้ามสะพานไนจ์เมเกน (© IWM EA 44531)

ทางด้านกองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษที่หมู่บ้านอูสเตอร์บีคก็กำลังตกที่นั่งลำบาก ถูกทหารเยอรมันโอบล้อมเข้ามาจากหลายด้าน การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดถึงขั้นตะลุมบอนด้วยดาบปลายปืน แต่แล้วในช่วงบ่ายพลร่มโปแลนด์ก็มาถึง และสถานการณ์ของพลร่มอังกฤษก็ดีขึ้น

หลังจากกำหนดการถูกเลื่อนมาหลายวัน ในที่สุดกองพลน้อยพลร่มอิสระที่ 1 ของโปแลนด์ (1st Independent Parachute Brigade) ใต้บังคับบัญชาของพลจัตวาสตานิสลาฟ โซซาบอฟสกี (Stanisław Sosabowski) ก็มาถึงฮอลแลนด์ พลร่มโปแลนด์โดดร่มลงทางใต้ของแม่น้ำไรน์ ท่ามกลางการระดมยิงของทหารเยอรมัน แม้พลร่มโปแลนด์จะประสบความสูญเสียอย่างหนักและไม่สามารถข้ามแม่น้ำไปสมทบกับพลร่มอังกฤษได้ แต่ก็ทำให้กองทัพเยอรมันต้องแบ่งกำลังพลส่วนหนึ่งมารับมือ ไม่สามารถทุ่มกำลังไปบดขยี้หน่วยพลร่มอังกฤษที่หมู่บ้านอูสเตอร์บีคได้เต็มที่

ปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดน (Operation Market Garden) ดำเนินมาถึงช่วงสุดท้ายแล้ว

โปรดติดตามตอนต่อไป

สวัสดี

15.06.2021

แสดงความคิดเห็น