เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังพันเซอร์เชร็ค (Panzerschreck) บาซูก้าเวอร์ชันเยอรมัน

ภาพทหารเยอรมันใช้งานเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง Panzerschreck ในปี ค.ศ.1944
(Bundesarchiv, Bild 101I-671-7483-29 / Lysiak / CC-BY-SA 3.0)

ช่วงปลายปี ค.ศ.1942 ถึงต้นปี ค.ศ.1943 ทหารอเมริกันในทวีปแอฟริกาเหนือได้นำเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังบาซูก้า (Bazooka) มาใช้งานเป็นครั้งแรก แต่ทว่าเนื่องจากทหารอเมริกันพึ่งเข้าร่วมสมรภูมิกลางทะเลทรายแอฟริกาเหนือได้ไม่นาน ยังขาดประสบการณ์ในการรบประกอบกับได้รับการฝึกไม่ดีพอ ส่งผลให้การใช้งานบาซูก้าไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทหารอังกฤษเคยทดสอบแล้วว่าบาซูก้ามีขีดความสามารถพอจะเจาะเกราะด้านหน้าของรถถัง Panzer III ของเยอรมันได้ ทหารเยอรมันสามารถยึดบาซูก้าได้ในตูนิเซียแล้วนำไปศึกษา ปรากฏว่าเยอรมันประทับใจบาซูก้ามาก เนื่องจากเป็นเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบประทับบ่า มีความคล่องตัวสูงกว่าเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังที่เยอรมันกำลังพัฒนาอยู่ซึ่งติดตั้งบนแคร่ปืนใหญ่ เยอรมันจึงใช้บาซูก้าเป็นต้นแบบในการพัฒนาเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังเวอร์ชันของตนเองขึ้นมาเรียกว่าพันเซอร์เชร็ค (Panzerschreck) โดยเพิ่มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางท่อยิงจาก 60 มิลลิเมตรเป็นขนาด 88 มิลลิเมตร เพื่อให้สามารถนำจรวดต่อสู้รถถังที่เยอรมันกำลังพัฒนาอยู่เดิมมาดัดแปลงใช้ร่วมกันได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาออกแบบใหม่

การที่จรวดของพันเซอร์เชร็คมีขนาดใหญ่กว่าบาซูก้า ช่วยให้สามารถเจาะเกราะรถถังได้หนามากขึ้น แต่ก็ส่งผลให้ปล่อยควันและความร้อนออกมามากเช่นกัน ในช่วงแรกๆ ทหารเยอรมันที่ใช้งานพันเซอร์เชร็คจึงต้องสวมหน้ากากป้องกันแก๊สพิษและถุงมือซึ่งไม่สะดวก ภายหลังจึงมีการติดโล่กันความร้อนให้พันเซอร์เชร็ค เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังรุ่นนี้

กองทัพเยอรมันเริ่มนำพันเซอร์เชร็คมาใช้งานอย่างแพร่หลายในช่วงปลายปี ค.ศ.1943 ถึงต้นปี ค.ศ.1944 สามารถเจาะเกราะรถถัง M4 Sherman ของสหรัฐฯและ T-34 ของสหภาพโซเวียตได้อย่างไม่ยากเย็น และยังมีขีดความสามารถพอจะเจาะเกราะรถถังที่หุ้มเกราะหนาอย่างรถถัง IS-2 ได้ด้วย จุดอ่อนของพันเซอร์เชร็คคือมีระยะยิงหวังผลค่อนข้างสั้น ประมาณ 150 เมตร และเมื่อยิงจรวดออกไปแล้วจะปล่อยควันออกมามาก ส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ตำแหน่งได้ง่าย รวมถึงไม่สามารถทำการยิงจากภายในอาคารหรือบังเกอร์ได้

ระหว่างปี ค.ศ.1943 – 1945 เยอรมันได้ทำการผลิตเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังพันเซอร์เชร็คออกมามากกว่า 300,000 กระบอกและจรวดมากกว่า 2,000,000 ลูก แม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่แพร่หลายเท่าพันเซอร์เฟาส์ (Panzerfaust) สาเหตุหนึ่งเพราะการจะใช้งานพันเซอร์เชร็คให้ได้ประสิทธิภาพนั้นต้องใช้กำลังพลที่มีประสบการณ์และได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี ในขณะที่พันเซอร์เฟาส์นั้นเป็นอาวุธต่อสู้รถถังแบบใช้แล้วทิ้ง ไม่มีความซับซ้อน สามารถผลิตและแจกจ่ายให้เยาวชนจากหน่วยยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth) และกองกำลัง Volkssturm ใช้งานได้ง่าย

สวัสดี

18.06.2021

แสดงความคิดเห็น