
วันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1944 ปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดน (Operation Market Garden) ดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย แม้กองพันพลร่มที่ 2 (2nd Parachute Battalion) ของอังกฤษ ใต้บังคับบัญชาของพันโทจอห์น ฟรอสต์ (John Frost) ในเมืองอาร์นเฮม (Arnhem) จะพ่ายแพ้ไปแล้ว แต่ส่วนที่เหลือของกองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษ (British 1st Airborne Division) ใต้บังคับบัญชาของพลตรีรอย เออร์คูฮาร์ต (Roy Urquhart) ยังรักษาที่มั่นที่หมู่บ้านอูสเตอร์บีค (Oosterbeek) ทางตะวันตกของอาร์นเฮมไว้ได้ ส่วนกองพลน้อยพลร่มอิสระที่ 1 ของโปแลนด์ (1st Independent Parachute Brigade) ใต้บังคับบัญชาของพลจัตวาสตานิสลาฟ โซซาบอฟสกี (Stanisław Sosabowski) ก็วางกำลังอยู่ที่เมืองดรีล (Driel) ทางใต้ของแม่น้ำไรน์ แม้พลร่มโปแลนด์จะไม่สามารถข้ามแม่น้ำไปสมทบกับพลร่มอังกฤษได้ แต่ทหารเยอรมันก็ไม่สามารถขับไล่พลร่มฝ่ายสัมพันธมิตรออกไปได้เช่นกัน
กองทัพน้อยที่ 30 (XXX Corps) ของอังกฤษทำการรุกจากเมืองไนจ์เมเกน (Nijmegen) มาถึงเมืองดรีลในช่วงเย็น และให้การสนับสนุนพลร่มโปแลนด์ข้ามแม่น้ำไรน์ไปสมทบกับพลร่มอังกฤษที่อูสเตอร์บีค แต่เนื่องจากความเชี่ยวของแม่น้ำ ประกอบกับถูกทหารเยอรมันระดมยิงใส่ ส่งผลให้คืนนั้นมีพลร่มโปแลนด์ข้ามแม่น้ำไปได้เพียง 52 นายเท่านั้น และในจำนวนนี้มีเพียง 35 นายที่ไปถึงที่มั่นของพลร่มอังกฤษ
พลร่มโปแลนด์พยายามข้ามแม่น้ำไรน์อีกครั้งในคืนวันที่ 23 กันยายน แต่ไม่สำเร็จเช่นกัน มีกำลังพลที่สามารถข้ามแม่น้ำไปได้เพียง 153 นายเท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกันนี้กองทัพเยอรมันก็ทำการโจมตีตอบโต้ฝ่ายสัมพันธมิตรหลายจุด ส่งผลให้ในวันรุ่งขึ้นฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินใจยกเลิกการรุกข้ามแม่น้ำไรน์ และเตรียมจัดตั้งแนวป้องกันที่เมืองไนจ์เมเกนแทน อย่างไรก็ตามฝ่ายสัมพันธมิตรยังหวังว่ากองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษจะยังรักษาที่มั่นที่หมู่บ้านอูสเตอร์บีคไว้ได้ จึงมีการวางแผนจะส่งกรมทหารราบดอร์เซต (Dorset Regiment) ของอังกฤษและกองพลน้อยพลร่มอิสระที่ 1 ของโปแลนด์ข้ามแม่น้ำไปสมทบกับพลร่มอังกฤษ แม้พลจัตวาโซซาบอฟสกีจะไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการนี้เพราะมีความเสี่ยงมากเกินไป อย่างไรก็ตามเนื่องจากเรือถูกส่งมาถึงช้าและมีจำนวนไม่พอ ส่งผลให้คืนนั้นมีกำลังพลจากกรมทหารราบดอร์เซตเพียง 2 กองร้อยที่พยายามข้ามแม่น้ำไรน์ แต่เกิดความผิดพลาดในการกำหนดจุดที่จะข้ามแม่น้ำ ส่งผลให้ทหารอังกฤษข้ามแม่น้ำไปขึ้นฝั่งบริเวณที่ทหารเยอรมันควบคุมอยู่ จากกำลังพลประมาณ 315 นาย มีเพียง 75 นายที่ไปถึงหมู่บ้านอูสเตอร์บีค ส่วนที่เหลือตกเป็นเชลยของเยอรมัน ถึงตอนนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงยอมรับว่าไม่มีความหวังที่พลร่มอังกฤษจะรักษาที่มั่นที่หมู่บ้านอูสเตอร์บีคไว้ได้แล้ว

(Bundesarchiv, Bild 183-J27757 / CC-BY-SA 3.0)
ช่วงเช้ามืดวันที่ 25 กันยายน กองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังออกจากหมู่บ้านอูสเตอร์บีค ข้ามแม่น้ำด้วยแพและเรือที่ทหารช่างเตรียมไว้ให้ และมีปืนใหญ่ช่วยยิงคุ้มกัน แต่ต้องทิ้งกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากเอาไว้ พลร่มอังกฤษที่ได้รับบาดเจ็บแต่ยังพอใช้อาวุธได้บางส่วนอาสาที่จะรักษาแนวป้องกันไว้เพื่อไม่ให้ทหารเยอรมันรู้ว่าพลร่มอังกฤษกำลังถอนกำลัง ระหว่างนี้ทหารเยอรมันก็พยายามเข้าตีที่มั่นของพลร่มอังกฤษหลายครั้งโดยได้รับการสนับสนุนจากรถถัง Tiger I ที่พึ่งมาถึงแต่ก็ถูกผลักดันถอยร่นกลับไป เมื่อถึงช่วงเช้ามืดของวันที่ 26 กันยายน พลร่มอังกฤษประมาณ 2,163 นาย พลร่มโปแลนด์ 160 นาย และทหารจากกรมทหารราบดอร์เซต 75 นายก็ข้ามแม่น้ำไรน์กลับมาได้สำเร็จ ขณะที่ทหารเยอรมันก็สามารถยึดพื้นที่ทางเหนือของแม่น้ำไรน์ได้ในที่สุดและจับพลร่มอังกฤษที่เหลืออยู่เป็นเชลย เป็นการสิ้นสุดปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดน
ระหว่างปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดน กองทัพน้อยที่ 30 ของอังกฤษมีกำลังพลเสียชีวิตไม่ถึง 1,500 นาย ขณะที่กองพลพลร่มที่ 82 (82nd Airborne Division) และกองพลพลร่มที่ 101 (101st Airborne Division) ของสหรัฐฯก็เสียหายไม่มากนักเช่นกัน แต่ทว่ากองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษกลับสูญเสียอย่างหนัก จากกำลังพลประมาณ 10,600 นาย เสียชีวิตไป 1,485 นาย และตกเป็นเชลยอีก 6,414 นาย เรียกว่าละลายเกือบทั้งกองพล ขณะที่ฝ่ายเยอรมันมีทหารได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันประมาณ 6,400 – 8,000 นาย
แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ในฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์) ทางใต้ของแม่น้ำไรน์ไว้ได้ รวมถึงยึดสะพานที่เป็นเป้าหมายในปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดนได้เกือบทั้งหมด จนมีคนกล่าวว่าปฏิบัติการนี้ประสบความสำเร็จ 90% แต่เมื่อไม่สามารถยึดสะพานข้ามแม่น้ำไรน์ที่เมืองอาร์นเฮมซึ่งเป็น “สะพานแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลเกินไป” (A Bridge Too Far) ได้ ส่วนที่เหลือของปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดนก็ไร้ความหมาย กว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะข้ามแม่น้ำไรน์ได้ก็ต้องรอถึงเดือนมีนาคม ค.ศ.1945 ขณะที่ส่วนที่เหลือของฮอลแลนด์ก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพเยอรมันจนสิ้นสุดสงคราม
จบบริบูรณ์
สวัสดี
18.06.2021