ไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่สหรัฐฯเสนอขายรถหุ้มเกราะล้อยางสไตรเกอร์ (Stryker) ให้

ภาพรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker ขณะลาดตระเวณใกล้เมืองโมซุล ประเทศอิรัก 31 มีนาคม 2005
(TSGT MIKE BUYTAS, USAF)

เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2019 กองทัพบกไทยสมัยพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งซื้อรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker M1126 ICV จำนวน 37 คันในราคามิตรภาพ และสหรัฐฯช่วยสนับสนุนให้อีก 23 คัน รวมเป็น 60 คัน โดยสหรัฐฯเริ่มทยอยส่งมอบให้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ส่งผลให้ไทยเป็นลูกค้าต่างประเทศชาติแรกของรถหุ้มเกราะล้อยางรุ่นนี้ มีสื่อหลายสำนักนำเสนอข่าวไปในทำนองว่าสหรัฐฯขายรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker ให้ไทยเป็นประเทศแรก แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างไทยและสหรัฐฯ แม้ไทยและสหรัฐฯจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันจริง แต่ความจริงแล้วสหรัฐฯไม่ได้เสนอขายรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker ให้ไทยเป็นประเทศแรกแต่อย่างใด ก่อนหน้านั้นสหรัฐฯเคยเสนอขายรถหุ้มเกราะล้อยางรุ่นนี้ให้ประเทศต่างๆมาแล้วอย่างน้อย 3 ประเทศคือแคนาดา อิสราเอล และลิทัวเนียแต่ไม่สำเร็จ

แคนาดา

เมื่อปี ค.ศ.2003 แคนาดาได้สั่งซื้อรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker รุ่นติดปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตร M1128 Mobile Gun System (MGS) จำนวน 66 คันจากสหรัฐฯ เพื่อทดแทนรถถัง Leopard C2 (รุ่นอัพเกรดของรถถัง Leopard 1 ที่แคนาดาจัดหาจากเยอรมนี) มีกำหนดส่งมอบภายในปี ค.ศ.2010 แต่แล้วในปี ค.ศ.2006 แคนาดาก็ยกเลิกโครงการนี้ เนื่องจากประสบการณ์ในสงครามอิรักและอัฟกานิสถานแสดงให้เห็นว่ารถถังยังคงมีประโยชน์ในสงครามสมัยใหม่ ซึ่งรถหุ้มเกราะล้อยางติดปืนใหญ่ไม่สามารถทดแทนได้ หลังจากแคนาดายกเลิกโครงการ MGS ไปแล้ว ก็หันไปจัดหารถถัง Leopard 2A4 จำนวน 80 คันจากเนเธอร์แลนด์แทน และต่อมาก็เช่ารถถัง Leopard 2A6 จากเยอรมนีเพิ่มอีก 20 คัน ความล้มเหลวของโครงการ MGS ของแคนาดาเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ารถหุ้มเกราะล้อยางติดปืนใหญ่ไม่สามารถทดแทนรถถังได้

ภาพ M1128 Mobile Gun System ของสหรัฐฯระหว่างการฝึกในปี ค.ศ.2015 (Sgt. William Tanner)

อิสราเอล

หลังรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker เข้าประจำการในกองทัพบกสหรัฐฯไม่นาน สหรัฐฯก็มอบรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker รุ่นต่างๆ 3 รุ่นให้อิสราเอลไปทดลองใช้งาน แต่สุดท้ายโครงการก็ล้มไปในปี ค.ศ.2004 โดยอิสราเอลระบุว่ารถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker มีข้อด้อยหลายอย่าง ไม่เหมาะสมกับความต้องการของอิสราเอล ต่อมาในปี ค.ศ.2008 อิสราเอลก็จัดหารถสายพานลำเลียงพล Namer ซึ่งดัดแปลงมาจากตัวรถถัง Merkava แทน

การที่อิสราเอลไม่จัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker แต่หันไปจัดหารถสายพานลำเลียงพล Namer แทนในเวลาต่อมา แสดงให้เห็นว่าความต้องการรถลำเลียงพลของอิสราเอลเน้นคุณสมบัติด้านการป้องกันตัวเป็นหลัก ซึ่งรถหุ้มเกราะล้อยางทุกรุ่นไม่สามารถตอบสนองตรงจุดนี้ได้

ลิทัวเนีย

ในปี ค.ศ.2015 สหรัฐฯเสนอขายรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker รุ่นติดปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรให้ลิทัวเนีย แต่สุดท้ายลิทัวเนียกลับเลือกจัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง Boxer จากเยอรมนีติดป้อมปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตร ผลิตโดยอิสราเอลแทน หนึ่งในเหตุผลที่ลิทัวเนียไม่เลือกจัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker ของสหรัฐฯเป็นเพราะป้อมปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรของรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker ผ่านการทดสอบมาน้อยเกินไป

เรื่องป้อมปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรของรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker น่าสนใจมาก เนื่องจากตามหลักนิยมของกองทัพบกสหรัฐฯจะใช้รถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker เป็นรถลำเลียงพล (ICV) เป็นหลัก ทำหน้าที่รับส่งทหารเข้าออกสนามรบเท่านั้น ไม่ได้เข้าปะทะในแนวหน้าโดยตรง จึงติดอาวุธเพียงปืนกลหนัก M2 ขนาด 12.7 มิลลิเมตรก็เพียงพอแล้ว สหรัฐฯพึ่งจะเริ่มทดลองติดตั้งป้อมปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรให้รถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker เมื่อปี ค.ศ.2014 ส่งผลให้ไม่ทันกำหนดการของลิทัวเนีย และจนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการทหารของสหรัฐฯว่าการติดตั้งป้อมปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรให้รถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker นั้นมีความจำเป็นจริงๆหรือไม่

ภาพรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker Dragoon ติดป้อมปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตร
(Mr. Tad Browning, Lead Audiovisual Production Specialist, Test Documentation Team, U.S. Army Operational Test Command Public Affairs)

กล่าวโดยสรุป ก่อนหน้าที่ไทยจะจัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker จากสหรัฐฯ สหรัฐฯเคยเสนอขายรถหุ้มเกราะล้อยางรุ่นนี้ให้แคนาดา อิสราเอล และลิทัวเนียมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จด้วยเหตุผลต่างๆกัน ไทยจึงไม่ใช่ประเทศแรกที่สหรัฐฯเสนอขายรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker ให้แต่อย่างใด เป็นเพียงลูกค้าต่างประเทศชาติแรกเท่านั้น

สวัสดี

20.06.2021

แสดงความคิดเห็น