
(Bundesarchiv, Bild 101I-209-0090-28 / Zoll / CC-BY-SA 3.0)
ช่วงปลายปี ค.ศ.1940 นาซีเยอรมนีครอบครองยุโรป โปแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศสตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพเยอรมัน เหลือเพียงอังกฤษที่ยังยืนหยัดต่อสู้กับเยอรมนีต่อไป อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เริ่มหันความสนใจไปทางทิศตะวันออก จ้องมองไปยังสหภาพโซเวียต ซึ่งฮิตเลอร์เคยประกาศตั้งแต่ตอนที่เขียนหนังสืออัตชีวประวัติ “การต่อสู้ของข้าพเจ้า” (Mein Kampf) ในปี ค.ศ.1925 แล้วว่าจะเข้ายึดครองเพื่อใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งทรัพยากรของคนเยอรมัน (Lebensraum) แม้เยอรมนีและสหภาพโซเวียตจะมีการทำสัญญาไม่รุกรานกัน เรียกว่าสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ (Molotov-Ribbentrop Pact) ในวันที่ 23 สิงหาคม ปี ค.ศ.1939 มีข้อตกลงลับในการตัดแบ่งโปแลนด์และเขตอิทธิพลในยุโรปตะวันออก แต่ความจริงทั้งเยอรมนีและสหภาพโซเวียตไม่ได้ต้องการเป็นพันธมิตรกันจริงๆแต่อย่างใด เนื่องจากลัทธิการเมืองที่ต่างกันสุดขั้ว ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ไว้ใจกัน เพียงแต่ต้องการยืดระยะเวลาที่จะต้องทำสงครามกันออกไปเท่านั้น เยอรมนีไม่ต้องการทำศึกสองด้านพร้อมกัน ขณะที่สหภาพโซเวียตก็ต้องการเวลาฟื้นฟูและปฏิรูปกองทัพ เนื่องจากนายทหารที่มีฝีมือจำนวนมากถูกอิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) กวาดล้างไปในการกวาดล้างครั้งใหญ่ (The Great Purge) ระหว่างปี ค.ศ.1936 – 1938
เดือนธันวาคม ค.ศ.1940 ฮิตเลอร์ออกคำสั่งหมายเลข 21 (Fuehrer Directive No.21) ให้กองทัพเยอรมันเตรียมบุกสหภาพโซเวียต ชื่อปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) ตามชื่อจักรพรรดิเยอรมันในยุคกลาง กองทัพเยอรมันเริ่มเคลื่อนย้ายกำลังพลจำนวนมากจากยุโรปตะวันตกเข้าประชิดชายแดนโซเวียต เมื่อถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1941 เฉพาะที่โรมาเนียแห่งเดียวก็มีทหารเยอรมันวางกำลังอยู่มากกว่า 680,000 นาย อย่างไรก็ตามกำลังพลส่วนใหญ่ที่เยอรมนีเคลื่อนเข้าประชิดชายแดนโซเวียตในช่วงแรกๆจะมีเพียงทหารราบและปืนใหญ่ ส่วนยานเกราะยังวางกำลังอยู่ในยุโรปตะวันตก ขณะเดียวกันกองทัพเรือเยอรมันก็รวบรวมเรือลำเลียงจำนวนมากมาที่นอร์เวย์และบริเวณช่องแคบอังกฤษ มีการจัดเที่ยวบินสอดแนมและการฝึกยกพลขึ้นบกในบริเวณดังกล่าว เพื่อลวงว่ากองทัพเยอรมันกำลังเตรียมบุกอังกฤษ ส่วนด้านตะวันออกกองทัพเยอรมันเพียงแต่กำลังเตรียมสร้างแนวป้องกันเท่านั้น เดิมเยอรมนีมีกำหนดเริ่มปฏิบัติการบาร์บารอสซ่าในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1941 แต่อิตาลีกลับพ่ายแพ้ในการบุกกรีซ ส่งผลให้กองทัพเยอรมันต้องเข้าแทรกแซงในคาบสมุทรบอลข่าน ปฏิบัติการบาร์บารอสซ่าจึงถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 22 มิถุนายน
ตามแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า กองทัพเยอรมันทุ่มกำลังพลมากกว่า 3,000,000 นาย รถถังประมาณ 3,350 คัน ยานเกราะชนิดอื่นๆประมาณ 3,000 คัน ปืนใหญ่ประมาณ 7,800 กระบอก เครื่องบินรบประมาณ 2,500 ลำ ยานยนต์ชนิดต่างๆประมาณ 600,000 คัน และม้ามากกว่า 600,000 ตัว นอกจากนี้ยังมีกำลังพลจากประเทศกลุ่มอักษะ (Axis) ได้แก่อิตาลี ฟินแลนด์ ฮังการี โรมาเนีย และสโลวาเกียเข้ามาสมทบอีกหลายแสนนาย แบ่งกำลังออกเป็น 3 กลุ่มกองทัพได้แก่
กลุ่มกองทัพภาคเหนือ (Army Group North) อยู่ใต้บังคับบัญชาของจอมพลวิลเฮล์ม ฟอน ลีบ (Wilhelm Von Leeb) จะทำการรุกจากโปแลนด์ ผ่านไปทางรัฐบอลติก มุ่งหน้าไปยังเมืองเลนินกราด (Leningrad) สมทบกับกองทัพฟินแลนด์
กลุ่มกองทัพภาคกลาง (Army Group Center) อยู่ใต้บังคับบัญชาของจอมพลเฟดอร์ ฟอน บอค (Fedor von Bock) จะทำการรุกจากโปแลนด์ เข้าไปในเบลารุส มุ่งหน้าไปยังกรุงมอสโก (Moscow)
กลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) อยู่ใต้บังคับบัญชาของจอมพลเกิร์ด ฟอน รุนด์ชเต็ดต์ (Gerd von Rundstedt) มีเป้าหมายอยู่ที่เมืองเคียฟ (Kiev) และยูเครนซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของสหภาพโซเวียต
ทางด้านกองทัพโซเวียตช่วงต้นปี ค.ศ.1941 ยังคงอยู่ระหว่างการปฏิรูปกองทัพ แม้สหภาพโซเวียตจะพยายามเกณฑ์ทหารและจัดหายุทโธปกรณ์เข้าประจำการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนจำนวนทหารเพิ่มขึ้นจาก 1,500,000 นายเป็น 5,000,000 นาย มีปืนใหญ่มากกว่า 33,000 กระบอก รถถังมากกว่า 23,000 คัน และเครื่องบินรบมากกว่า 18,000 ลำ แม้กองทัพโซเวียตจะมีกำลังพลและยุทโธปกรณ์มากกว่าฝ่ายเยอรมันหลายเท่า แต่ยุทโธปกรณ์จำนวนมากนั้นล้าสมัยและไม่อยู่ในสภาพพร้อมรบ ยกตัวอย่างเช่นกองทัพโซเวียตมีรถถังรุ่นใหม่ได้แก่รถถังกลาง T-34/76 ประมาณ 1,000 คันและรถถังหนัก KV-1 กับ KV-2 ประมาณ 500 คันเท่านั้น ในขณะที่รถถังส่วนใหญ่ยังคงเป็นรถถังเบาตระกูล BT และ T-26 ซึ่งกว่าครึ่งไม่อยู่ในสภาพพร้อมรบ เป็นต้น กำลังพลก็ได้รับการฝึกไม่ดีพอ พลประจำรถถังโซเวียตบางส่วนยิงปืนใหญ่รถถังไม่เป็น ทำได้เพียงแค่ขับรถถังไล่ทับข้าศึกเท่านั้น นายทหารส่วนใหญ่ก็ยังอายุน้อย ขาดประสบการณ์ แต่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อทดแทนนายทหารที่ถูกสตาลินกวาดล้างไป นอกจากนี้สนามบินและที่ตั้งทางทหารหลายแห่งก็ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เรียกได้ว่ากองทัพโซเวียตยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมสงคราม ในช่วงเวลานี้สตาลินจึงทำทุกวิถีทางที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับเยอรมนี
แม้สหภาพโซเวียตจะพยายามหลีกเลี่ยงสงครามกับเยอรมนี แต่ช่วงต้นปี ค.ศ.1941 ก็เริ่มมีรายงานจากหน่วยข่าวกรองโซเวียตว่าเยอรมนีกำลังเตรียมทำสงครามกับสหภาพโซเวียต แต่รายงานเหล่านี้เต็มไปด้วยความสับสน ไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่กองทัพเยอรมันจะโจมตีแน่นอนได้ และหลายครั้งข้อมูลก็ขัดแย้งกันเอง ลางบอกเหตุอีกอย่างหนึ่งคือฝูงบินสอดแนมโรเวลห์ (Rowehl Squadron) ของเยอรมนีเริ่มทำการบินสอดแนมเหนือน่านฟ้าโซเวียตอย่างต่อเนื่อง ค้นหาสนามบินและที่ตั้งทางทหารของโซเวียต โดยที่ฝ่ายโซเวียตไม่สามารถขัดขวางได้ เนื่องจากเครื่องบินสอดแนมของเยอรมันทำการบินในเพดานบินสูงมากจนเครื่องบินขับไล่โซเวียตไต่ระดับขึ้นไปไม่ถึง แต่ในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1941 เครื่องบินสอดแนม Junkers Ju-86P ลำหนึ่งมีปัญหาเครื่องยนต์จนต้องลดระดับเพดานบินลง และถูกเครื่องบินขับไล่โซเวียตยิงตก นักบินเยอรมันซึ่งถูกทหารโซเวียตจับตัวได้อ้างว่าหลงทางมาจากโปแลนด์ แม้ทหารโซเวียตจะยึดหลักฐานภาพถ่ายที่ตั้งทางทหารซึ่งถูกเผาทำลายไปบางส่วนได้ แต่ก็ยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่กองทัพเยอรมันจะโจมตีได้อยู่ดี และฝ่ายโซเวียตก็ไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาโวยกับเยอรมนี เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการยั่วยุ

ช่วงต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ.1941 กองทัพเยอรมันเริ่มเคลื่อนกำลังยานเกราะเข้าประชิดชายแดนโซเวียต สตาลินซึ่งยังคงพยายามหลีกเลี่ยงสงครามเสนอขอเจรจากับฮิตเลอร์ แต่ไม่ได้รับคำตอบ สุดท้ายสตาลินจึงออกคำสั่งให้กองทัพโซเวียตเสริมกำลังที่ชายแดน แต่สตาลินออกคำสั่งช้าเกินไป เพราะตอนที่กำลังเสริมของโซเวียตพึ่งจะเริ่มต้นออกเดินทางจากที่ตั้งไปที่ชายแดนนั้น กองทัพเยอรมันก็เตรียมพร้อมอยู่ที่ชายแดนแบบเต็มอัตราแล้ว ส่งผลให้ในช่วงแรกๆของการรบ กองทัพโซเวียตบริเวณชายแดนมีกำลังพลน้อยกว่าฝ่ายเยอรมันมาก ในรัฐบอลติก ทหารโซเวียต 21 กองพลต้องเผชิญหน้ากับทหารเยอรมัน 34 กองพล ในเบลารุส ทหารโซเวียต 26 กองพลต้องเผชิญหน้ากับทหารเยอรมัน 36 กองพล ขณะที่ในยูเครน ทหารโซเวียต 45 กองพลต้องเผชิญหน้ากับทหารเยอรมัน 57 กองพล
วันที่ 21 มิถุนายน กองบัญชาการเยอรมันส่งรหัสสัญญาณ “ดอร์ทมุนด์” (Dortmund) ให้กองทัพเยอรมันเตรียมเริ่มปฏิบัติการบาร์บารอสซ่าในช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่ฮิตเลอร์ก็ออกประกาศว่าเขาได้ฝากโชคชะตาของเยอรมนีไว้ในมือของกองทัพแล้ว
หลังจากฮิตเลอร์ออกคำสั่งมาไม่นาน ทหารช่างเยอรมันนายหนึ่งชื่ออัลเฟรด ลิสคอฟ (Alfred Liskow) ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์แบบลับๆได้แปรพักตร์ไปแจ้งข่าวให้ฝ่ายโซเวียตรู้ ในช่วงเวลาเดียวกันสายลับโซเวียตในสถานทูตเยอรมันชื่อแกร์ฮาร์ด เคเกล (Gerhard Kegel) ก็ส่งข่าวว่ากองทัพเยอรมันจะบุกสหภาพโซเวียตภายใน 48 ชั่วโมง นายทหารโซเวียตคือนายพลเกออร์กี ชูคอฟ (Georgy Zhukov), จอมพลเซมยอน ทิโมเชงโก (Semyon Timoshenko) และนายพลนิโคไล วาตูติน (Nikolai Vatutin) ตบเท้าเข้าพบสตาลินขอให้มีคำสั่งบางอย่างออกมา สุดท้ายสตาลินจึงออกคำสั่งให้กองทัพโซเวียตเตรียมพร้อม แต่คำสั่งพึ่งจะส่งไปถึงหน่วยทหารในแนวหน้าเวลาประมาณตีหนึ่งวันรุ่งขึ้น
ช่วงเช้ามืดวันที่ 22 มิถุนายน หน่วยรบพิเศษบรานเดนเบิร์ก (Brandenburgers) ของเยอรมันบุกเข้ายึดสะพานสำคัญบริเวณชายแดนโซเวียต ขณะที่กองทัพอากาศเยอรมันก็ส่งเครื่องบินรบขึ้นบินมุ่งหน้าไปยังเมืองสำคัญและสนามบินต่างๆของโซเวียต ส่วนกองทัพบกเยอรมันก็เริ่มการรุกภาคพื้นดินแบบเต็มอัตราในเวลา 4.15 น. เปิดฉากปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า และมหาสงครามรักชาติ (The Great Patriotic War) ในประวัติศาสตร์รัสเซีย
โปรดติดตามตอนต่อไป
สวัสดี
22.06.2021