สมรภูมิป้อมปราการเบรสต์ (Brest Fortress) ป้อมปราการวีรชน

ภาพป้อมปราการเบรสต์ในปัจจุบัน
(Szeder László/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 3.0)

วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1941 นาซีเยอรมนีเปิดฉากบุกสหภาพโซเวียตตามปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) กองพลทหารราบที่ 45 (45th Infantry Division) ซึ่งมีกำลังพลมากกว่า 17,000 นาย สนับสนุนโดยปืนใหญ่อัตตาจร Sturmgeschütz III หรือ StuG III อีกจำนวนหนึ่ง เคลื่อนกำลังเข้าตีป้อมปราการเบรสต์ (Brest Fortress) ซึ่งเป็นป้อมปราการเก่าแก่ของจักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire) สร้างขึ้นสมัยศตวรรษที่ 19 ตั้งอยู่บริเวณชายแดนเบลารุส-โปแลนด์

กองทัพเยอรมันเชื่อว่าในป้อมปราการเบรสต์มีทหารโซเวียตวางกำลังอยู่เพียงหนึ่งกองพัน น่าจะสามารถเข้ายึดได้ภายในวันเดียว กองทัพเยอรมันใช้ปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้อง Nebelwerfer ยิงถล่มป้อมปราการเบรสต์อย่างหนัก ควบคู่ไปกับการโจมตีทางอากาศโดยฝูงบินทิ้งระเบิด จากนั้นทหารราบเยอรมันก็เคลื่อนกำลังเข้าตี แต่ทว่าข่าวกรองของกองทัพเยอรมันผิดพลาด เพราะก่อนหน้านั้นกองทัพโซเวียตได้เสริมกำลังเข้ามาในป้อมปราการเบรสต์มากกว่า 9,000 นาย แม้ทหารโซเวียตจะประสบความสูญเสียอย่างหนักจากการถูกยิงถล่มด้วยปืนใหญ่และระเบิดเพลิงจากเครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมันโดยไม่ทันตั้งตัว แต่ทหารที่รอดชีวิตร่วมกับพลเรือนในพื้นที่ต่างก็สู้ยิบตา ปกป้องแผ่นดินทุกตารางนิ้ว โดยแบ่งกำลังออกเป็นกลุ่มย่อยๆแยกกันไปตั้งรับตามพื้นที่สำคัญๆภายในป้อมปราการเบรสต์ กว่ากองทัพเยอรมันจะยึดกำแพงชั้นนอกของป้อมปราการเบรสต์ได้ต้องใช้เวลาถึงวันที่ 24 มิถุนายน ถึงตอนนี้ฝ่ายโซเวียตเริ่มขาดแคลนน้ำดื่ม ทหารโซเวียตนำโดยร้อยเอกอิวาน ซูบาชอฟ (Ivan Zubachyov) พยายามตีฝ่าวงล้อมกองทัพเยอรมันออกไป โดยใช้ปืนกลหนัก Maxim ช่วยยิงสนับสนุน แต่ทหารเยอรมันเตรียมตั้งรังปืนกลและปืน ค. เตรียมพร้อมรออยู่แล้ว ส่งผลให้การเข้าตีของฝ่ายโซเวียตล้มเหลวและประสบความสูญเสียอย่างหนัก มีทหารโซเวียตถูกจับเป็นเชลยมากกว่า 4,000 นาย

ทหารโซเวียตประมาณ 400 นายใต้บังคับบัญชาของพันตรีปีเตอร์ กาฟริลอฟ (Pyotr Gavrilov) ถอยร่นเข้าไปในป้อมปราการชั้นใน แล้วทำการรบกับกองทัพเยอรมันต่อไปอีกหลายวัน จนกระทั่งวันที่ 29 มิถุนายน กองทัพเยอรมันก็ทุ่มกำลังเข้าตีส่วนที่เหลือของป้อมปราการเบรสต์และสามารถยึดพื้นที่ได้ในที่สุด แต่ทหารโซเวียตที่เหลืออยู่จำนวนหนึ่งก็ยังไม่ยอมแพ้ ถอยร่นลงไปอยู่ในชั้นใต้ดิน แล้วทำการรบแบบกองโจรกับกองทัพเยอรมันต่อไปทั้งที่ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม กว่าทหารเยอรมันจะกวาดล้างทหารโซเวียตที่เหลืออยู่ได้หมดและจับตัวพันตรีกาฟริลอฟได้ก็ต้องใช้เวลาถึงหนึ่งเดือน บนกำแพงชั้นใต้ดินของป้อมปราการเบรสต์มีข้อความของทหารโซเวียตสลักไว้ว่า …

“ผมกำลังจะตาย แต่ผมจะไม่ยอมแพ้ ลาก่อนแผ่นดินแม่ วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1941” (I’m dying but I won’t surrender. Farewell, Motherland. 20.VII.41.)

ในสมรภูมิป้อมปราการเบรสต์ มีทหารโซเวียตเสียชีวิตมากกว่า 2,000 นายและถูกจับเป็นเชลยประมาณ 6,800 นาย ในขณะที่ฝ่ายเยอรมันมีทหารเสียชีวิต 429 นาย บาดเจ็บ 668 นาย แม้กองทัพเยอรมันจะเสียทหารไม่มากเมื่อเทียบกับฝ่ายโซเวียต แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับจำนวนทหารเยอรมันที่เสียชีวิตในแนวรบด้านตะวันออกระหว่างวันที่ 22 – 30 มิถุนายน ค.ศ.1941 จำนวน 8,886 นาย ความสูญเสียที่ป้อมปราการเบรสต์แห่งเดียวคิดเป็นสัดส่วนถึง 5%

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงมีการยกย่องเมืองในสหภาพโซเวียตจำนวน 12 แห่งซึ่งเป็นสมรภูมิสำคัญให้เป็นเมืองวีรชน (Hero City) ในขณะที่ป้อมปราการเบรสต์ก็ได้รับยกย่องเป็นป้อมปราการวีรชน (Hero Fortress) ในปี ค.ศ.1965

สวัสดี

24.06.2021

แสดงความคิดเห็น