ขีดความสามารถระบบป้องกันภัยทางอากาศ 2K22 Tunguska ของสหภาพโซเวียต / รัสเซีย

ภาพระบบป้องกันภัยทางอากาศ Tunguska ระหว่างการซ้อมสวนสนามวันแห่งชัยชนะ ค.ศ.2008
(Leonid Dzhepko/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 3.0)

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ 2K22 Tunguska หรือ SA-19 Grison เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้ เข้าประจำการในกองทัพสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1982 ทดแทนปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-23-4 Shilka ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ยุค 60 รับมือเครื่องบินโจมตี A-10 Thunderbolt II รุ่นใหม่ของสหรัฐฯ ได้รับอิทธิพลในการออกแบบมาจากปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร Gepard ของเยอรมนี

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Tunguska ใช้แคร่รถสายพาน GM-352 ผลิตในเบลารุส มีน้ำหนัก 34.8 ตัน มีขนาดยาว 7.93 เมตร กว้าง 3.24 เมตร สูง 3.36 เมตร (เมื่อยกเรดาร์ขึ้นจะมีความสูง 4.02 เมตร) ติดอาวุธปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 30 มิลลิเมตร 2 กระบอก และจรวดพื้นสู่อากาศ 9M311 จำนวน 8 ลูก ระยะยิง 8 กิโลเมตร ออกแบบมาใช้กับเฮลิคอปเตอร์และอากาศยานที่เพดานบินต่ำ เรดาร์มีระยะตรวจจับเป้าหมายไกลสุด 18 กิโลเมตร เกราะของระบบป้องกันภัยทางอากาศ Tunguska สามารถป้องกันกระสุนขนาด 7.62 มิลลิเมตรและสะเก็ดระเบิดได้ รถฐานยิงใช้เครื่องยนต์ดีเซล V-46 ขนาด 780 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 580 กิโลเมตร

ในปี ค.ศ.1990 กองทัพโซเวียตได้รับมอบระบบป้องกันภัยทางอากาศ Tunguska-M รุ่นอัพเกรดเข้าประจำการ ใช้แคร่รถสายพาน GM-352M และจรวด 9M311M

หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย รัสเซียได้ทำการอัพเกรดระบบป้องกันภัยทางอากาศ Tunguska อีกครั้ง มีชื่อรุ่นว่า Tunguska-M1 เข้าประจำการในปี ค.ศ.2003 เปลี่ยนไปใช้แคร่รถสายพาน GM-5975 ผลิตในรัสเซีย รวมถึงใช้จรวด 9M311-M1 ซึ่งมีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 10 กิโลเมตร และมีขีดความสามารถในการรับมือจรวดร่อนและโดรนได้ดีมากขึ้น ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Tunguska ที่ส่งออกให้ลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นนี้

ปัจจุบันกองทัพรัสเซียมีระบบป้องกันภัยทางอากาศตระกูล Tunguska ใช้งานอยู่ประมาณ 250 ระบบ นอกจากรัสเซียแล้วระบบป้องกันภัยทางอากาศ Tunguska ยังมีประจำการในประเทศเบลารุส อินเดีย โมร็อกโก เมียนมาร์ ซีเรีย ยูเครน และเยเมน

สวัสดี

27.06.2021

คลิประบบป้องกันภัยทางอากาศ Tunguska-M1 ของรัสเซีย

แสดงความคิดเห็น