ปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า ตอนที่ 2 กลุ่มกองทัพภาคกลางรุกเข้าสู่เบลารุสและเมืองสโมเลนสค์

ช่วงเช้ามืดวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1941 นาซีเยอรมนีเริ่มปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) บุกสหภาพโซเวียต เครื่องบินรบของเยอรมันหลายพันลำขึ้นบินตั้งแต่ช่วงกลางดึกมุ่งหน้าไปยังเมืองสำคัญๆและสนามบินต่างๆของโซเวียต ซึ่งฝูงบินสอดแนมโรเวลห์ (Rowehl Squadron) ค้นหาไว้ก่อนหน้านี้ การโจมตีทางอากาศของเยอรมันเริ่มขึ้นในเวลาประมาณตี 4 กองทัพอากาศโซเวียตถูกโจมตีอย่างไม่ทันตั้งตัว เครื่องบินรบที่จอดเรียงกันเป็นแถวถูกทำลายไปจำนวนมาก แม้นักบินโซเวียตบางส่วนจะสามารถนำเครื่องบินขับไล่ขึ้นบินได้แล้วยิงเครื่องบินดำทิ้งระเบิด Ju-87 Stuka ของเยอรมันตกได้จำนวนหนึ่ง แต่เมื่อเผชิญหน้ากับเครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf 109 ซึ่งนักบินเยอรมันมีประสบการณ์มากกว่า เครื่องบินขับไล่โซเวียตก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ภายในวันเดียวโซเวียตสูญเสียเครื่องบินรบไปมากกว่า 1,100 ลำ ในขณะที่เยอรมันเสียเครื่องบินรบเพียง 78 ลำ พลอากาศตรีอิวาน โคเป็ตส์ (Ivan Kopets) ผู้บัญชาการกองทัพอากาศโซเวียตในแนวรบด้านตะวันตกยิงตัวตาย ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไป 3 วัน ความสูญเสียเครื่องบินรบโซเวียตก็เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 – 4,000 ลำ กองทัพอากาศโซเวียตแทบจะหมดสภาพไปเลย ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการฟื้นฟูกำลัง กองทัพอากาศเยอรมันสามารถครองน่านฟ้าได้สำเร็จ

กองทัพบกเยอรมันเริ่มการรุกภาคพื้นดินเวลา 4.15 น. วันที่ 22 มิถุนายน กลุ่มกองทัพภาคกลาง (Army Group Center) ใต้บังคับบัญชาของจอมพลเฟดอร์ ฟอน บอค (Fedor von Bock) วางแผนโอบล้อมกองทัพโซเวียตในเบลารุส โดยใช้กลุ่มยานเกราะของพลเอกแฮร์มาน โฮธ (Hermann Hoth) และไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) เป็นหัวหอก กลุ่มยานเกราะของนายพลโฮธสามารถยึดสะพานสามแห่งข้ามแม่น้ำเนมาน (Neman) ได้อย่างรวดเร็วแล้วมุ่งหน้าไปยังเมืองวิลนีอุส (Vilnius) ในลิทัวเนีย ขณะที่กลุ่มยานเกราะของนายพลกูเดเรียนเปิดฉากเข้าตีป้อมปราการเบรสต์ (Brest Fortress) แต่ถูกทหารโซเวียตภายในป้อมปราการต่อต้านอย่างรุนแรง นายพลกูเดเรียนจึงตัดสินใจทิ้งกองพลทหารราบที่ 45 (45th Infantry Division) ไว้โอบล้อมป้อมปราการเบรสต์ แล้วนำกำลังหลักทำการรุกต่อไปทางตะวันออก

ภาพรถถัง Panzer III และ Panzer IV ของเยอรมันในปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า เดือนมิถุนายน ค.ศ.1941
(Bundesarchiv, Bild 101I-265-0040A-22A / Vorpahl / CC-BY-SA 3.0)

กองทัพบกโซเวียตพยายามส่งยานเกราะเข้าตีโต้กองทัพเยอรมันหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ แม้โซเวียตจะมีรถถังมากกว่า 10,000 คันในแนวรบด้านตะวันตก มากกว่าเยอรมันถึง 3 เท่า แต่รถถังโซเวียตเกือบทั้งหมดเป็นรถถังเบา T-26 และ BT-7 ซึ่งล้าสมัยแล้วและมีเกราะบาง ไม่สามารถป้องกันปืนใหญ่และอาวุธต่อสู้รถถังของเยอรมันได้ แม้รถถังของกองทัพเยอรมันประมาณครึ่งหนึ่งจะเป็นรถถังเบา Panzer I และ Panzer II ซึ่งล้าสมัยแล้วเช่นกันและมีอำนาจการยิงด้อยกว่ารถถังโซเวียต แต่พลรถถังเยอรมันมีประสบการณ์มากกว่าและรถถังเยอรมันทุกคันมีวิทยุ สามารถติดต่อประสานงานกันได้เป็นอย่างดี ในขณะที่พลรถถังโซเวียตได้รับการฝึกไม่ดีพอ นอกจากนี้โซเวียตยังมีวิทยุไม่เพียงพอ ส่งผลให้โซเวียตเลือกติดวิทยุให้เฉพาะรถถังบัญชาการเท่านั้น ส่วนการประสานงานรถถังภายในหน่วยต้องใช้สัญญาณธง ซึ่งทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ ส่งผลให้รถถังโซเวียตทำการรบแบบตัวใครตัวมัน ไม่สามารถประสานงานกันได้เลย ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือกองพลรถถังโซเวียตมีรถบรรทุกน้อยกว่ากองพลยานเกราะเยอรมัน ส่งผลให้บรรทุกอะไหล่และเชื้อเพลิงติดไปในแนวหน้าได้น้อยกว่า เมื่อเกิดเหตุชำรุดเสียหายขึ้น ทหารโซเวียตก็ต้องทิ้งรถถังจำนวนมากไว้ระหว่างทาง

เมื่อกองทัพอากาศเยอรมันสามารถครองน่านฟ้าได้อย่างเด็ดขาด กองบัญชาการโซเวียตจึงไม่สามารถส่งเครื่องบินลาดตระเวณขึ้นบินตรวจการณ์ทางอากาศได้ ส่งผลให้กองทัพโซเวียตทำการรบเหมือนคนตาบอด ขณะที่กลุ่มยานเกราะของนายพลโฮธมุ่งหน้าไปยังเมืองวิลนีอุส พลเอกดมิตรี พาฟลอฟ (Dmitry Pavlov) กลับส่งหน่วยยานเกราะโซเวียตเข้าโจมตีตอบโต้กองทัพเยอรมันที่เมืองกรอดโน (Grodno) แทน การเข้าตีของโซเวียตประสบความล้มเหลวและหน่วยยานเกราะโซเวียตสูญเสียอย่างหนัก ในช่วงเวลาเดียวกันนี้กลุ่มยานเกราะของนายพลกูเดเรียนก็ทำการรุกมาจากทางใต้มุ่งหน้าไปยังเมืองมินสค์ (Minsk) และเมืองโบบรูสค์ (Bobruysk) ทางด้านหลังกองทัพโซเวียต เมื่อนายพลพาฟลอฟรู้ตัวว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น เขาก็ออกคำสั่งให้กองทัพโซเวียตในเบลารุสถอยทัพไปทางตะวันออกให้เร็วที่สุด แต่ก็สายเกินไป กองทัพเยอรมันยึดถนนสายหลักไปยังเมืองมินสค์ได้ ตัดทางถอยของกองทัพโซเวียต ทหารโซเวียตมากกว่า 300,000 นายตกอยู่ในวงล้อมของเยอรมัน นายพลโฮธและกูเดเรียนต้องการนำกำลังรุกต่อไปยังเมืองสโมเลนสค์ (Smolensk) และกรุงมอสโก (Moscow) ในทันที แต่หน่วยยานเกราะเยอรมันกลับได้รับคำสั่งให้อยู่สนับสนุนทหารราบกวาดล้อมทหารโซเวียตที่ตกอยู่ในวงล้อมและยึดเมืองมินสค์ให้ได้ก่อน การสู้รบบริเวณเมืองมินสค์เป็นไปอย่างดุเดือดจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม กองทัพเยอรมันก็สามารถยึดพื้นที่บริเวณเมืองมินสค์ได้อย่างเด็ดขาด ทหารโซเวียตมากกว่า 290,000 นายตกเป็นเชลยของเยอรมัน ผู้นำโซเวียต อิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) ต้องการหาแพะรับบาป จึงสั่งจับกุมนายพลพาฟลอฟและนายทหารที่เกี่ยวข้องนำตัวไปยิงเป้า ข้อหาขี้ขลาดและไร้ความสามารถ

ภาพเชลยศึกโซเวียตที่ทหารเยอรมันจับได้ที่เมืองมินสค์ วันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1941
(Bundesarchiv, Bild 146-1982-077-11 / CC-BY-SA 3.0)

กลุ่มยานเกราะของนายพลโฮธและกูเดเรียนมุ่งหน้าต่อไปยังเมืองสโมเลนสค์ หน้าด่านของกรุงมอสโก การรุกของกองทัพเยอรมันล่าช้าลงไปมาก เนื่องจากกำลังเสริมของโซเวียตเริ่มทอยเดินทางมาถึงแนวหน้า ขณะที่หน่วยยานเกราะเยอรมันก็ต้องทำการรุกลึกเข้าไปในดินแดนโซเวียตมากขึ้นเรื่อยๆจนหน่วยทหารราบและหน่วยส่งกำลังบำรุงเริ่มตามไม่ทัน กว่ากองทัพเยอรมันจะยึดเมืองสโมเลนสค์ได้ก็วันที่ 31 กรกฎาคม

ถึงตอนนี้กองทัพเยอรมันอยู่ห่างจากกรุงมอสโกไม่ถึง 400 กิโลเมตร สายตาของนายทหารเยอรมันต่างจับจ้องไปที่เมืองหลวงของโซเวียต แต่แล้วอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) กลับออกคำสั่งใหม่ ให้กลุ่มกองทัพภาคกลางหยุดการรุกไว้ชั่วคราว แล้วส่งกลุ่มยานเกราะของนายพลโฮธขึ้นเหนือไปสนับสนุนกลุ่มกองทัพภาคเหนือ (Army Group North) ยึดเมืองเลนินกราด (Leningrad) และให้กลุ่มยานเกราะของนายพลกูเดเรียนลงใต้ไปสนับสนุนกลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) ยึดเมืองเคียฟ (Kiev) และยูเครน อู่ข้าวอู่น้ำของโซเวียต นายพลกูเดเรียนรีบบินกลับไปกรุงเบอร์ลิน (Berlin) เข้าพบฮิตเลอร์ เพื่อขอให้เปลี่ยนคำสั่งใหม่ โดยนายพลกูเดเรียนระบุว่าถ้ากองทัพเยอรมันเสียเวลาทางใต้มากเกินไป อาจจะไม่สามารถเข้ายึดกรุงมอสโกได้ทันภายในปี ค.ศ.1941 ได้ แต่ฮิตเลอร์ไม่สนใจ นายพลกูเดเรียนไม่มีทางเลือก ต้องนำกำลังมุ่งลงใต้ตามคำสั่งของฮิตเลอร์

ในยูเครน กองทัพโซเวียตถูกกลุ่มกองทัพภาคใต้ของเยอรมันผลักดันถอยร่นมาถึงแม่น้ำนีเปอร์ (Dnieper) กองทัพโซเวียตตั้งใจจะใช้แม่น้ำนีเปอร์เป็นปราการธรรมชาติสกัดการรุกของกองทัพเยอรมันซึ่งมีกลุ่มยานเกราะของพลเอกเอวัลท์ ฟอน ไคลสท์ (Ewald von Kleist) เป็นหัวหอก โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากลุ่มยานเกราะเยอรมันอีกกองหนึ่งกำลังวกลงมาจากทางเหนือ จุดพลิกผันของการสู้รบในยูเครนกำลังจะมาถึงแล้ว

จบบริบูรณ์

สวัสดี

28.06.2021

แสดงความคิดเห็น