
(Wilson44691/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
ในปี ค.ศ.1946 กองทัพบกสหรัฐฯเริ่มโครงการพัฒนารถถังเบารุ่นใหม่สำหรับทดแทนรถถังเบา M24 Chaffee สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ชื่อโครงการ T37 อย่างไรก็ตามเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองพึ่งสิ้นสุดลงไม่นาน ผู้คนต่างเบื่อหน่ายสงครามเต็มที ส่งผลให้โครงการไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอและขาดแคลนงบประมาณ ส่งผลให้กว่าโครงการ T37 จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างก็ต้องรอถึงปี ค.ศ.1949 มีการสร้างรถถังต้นแบบออกมาทดสอบจำนวน 3 คัน รถถังต้นแบบคันที่สองคือ T37 Phase Two ได้รับการคัดเลือกไปพัฒนาต่อ และเปลี่ยนชื่อเป็น T41
วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1950 กองทัพเกาหลีเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนรถถังกลาง T-34/85 และปืนใหญ่อัตตาจร SU-76 จำนวนหลายร้อยคันจากสหภาพโซเวียตบุกเกาหลีใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเกาหลี กองทัพเกาหลีใต้ไม่มีรถถังแม้แต่คันเดียว ขณะที่ทหารอเมริกันที่ถูกส่งมาจากญี่ปุ่นก็มีเพียงรถถังเบา M24 Chaffee ซึ่งมีขีดความสามารถด้อยกว่ายานเกราะโซเวียตมาก เป็นกำลังรบหลักเท่านั้น เนื่องจากรถถังกลาง M4 Sherman และรถถังเบา M26 Pershing มีน้ำหนักมากเกินไปสำหรับถนนและสะพานในญี่ปุ่น ส่งผลให้ในช่วงแรกๆของสงครามเกาหลี ทั้งกองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐฯจึงถูกตีแตกถอยร่นไม่เป็นขบวน ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันกองทัพบกสหรัฐฯจึงตัดสินใจจัดหารถถัง T41 อย่างเร่งด่วนในชื่อ M41 Walker Bulldog ตั้งชื่อตามนายพลวอลตัน วอล์กเกอร์ (Walton Walker) ผู้บัญชาการกองทัพที่ 8 ของสหรัฐฯในสงครามเกาหลี ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจี๊ปก่อนที่รถถังรุ่นนี้จะเข้าประจำการ
รถถังเบา M41 เข้าประจำการในปี ค.ศ.1951 มีน้ำหนัก 23.5 ตัน มีความยาว 8.21 เมตรเมื่อหันป้อมปืนไปด้านหน้า ตัวรถมีขนาดยาว 5.81 เมตร กว้าง 3.13 เมตร สูง 3.07 เมตร ใช้พลประจำรถ 4 นาย ได้แก่พลขับ พลยิง พลบรรจุ และ ผบ.รถถัง ติดอาวุธปืนใหญ่ M32 ขนาด 76 มิลลิเมตร, ปืนกลร่วมแกน Browning M1919A4 ขนาด 7.62 มิลลิเมตร และปืนกลหนัก M2 ขนาด 12.7 มิลลิเมตร ใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาด 500 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 161 กิโลเมตร
แม้กองทัพบกสหรัฐฯจะต้องการให้รถถังเบา M41 เข้าประจำการอย่างเร่งด่วนเพื่อนำไปใช้ในสงครามเกาหลี แต่เนื่องจากการพัฒนายังไม่เสร็จสมบูรณ์ ประกอบกับกองทัพบกสหรัฐฯต้องการเพิ่มเทคโนโลยีใหม่หลายอย่างให้รถถัง M41 ส่งผลให้การผลิตล่าช้าและรถถังชุดแรกๆที่ผลิตออกมามีปัญหาขัดข้องมาก เมื่อกองทัพบกสหรัฐฯได้รับมอบรถถังเบา M41 เข้าประจำการจำนวน 900 คันในปี ค.ศ.1952 สงครามเกาหลีก็ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว ส่งผลให้รถถังส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เข้าสนามรบจริงในคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างนี้สหรัฐฯก็พยายามแก้ไขข้อบกพร่องของรถถังเบา M41 กลายเป็นรุ่น M41A1 และต่อมาก็มีการพัฒนาต่อยอดเป็นรุ่น M41A2 และ M41A3 ตามลำดับ
แม้รถถังเบา M41 จะมีความเร็วและอำนาจการยิงสูง แต่กองทัพบกสหรัฐฯกลับไม่ประทับใจรถถังรุ่นนี้นัก เนื่องจากพื้นที่ภายในรถคับแคบ รวมถึงมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากเกินไปสำหรับหน่วยพลร่ม ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวสหภาพโซเวียตมีการพัฒนารถถังหลักรุ่นใหม่เช่นรถถัง T-54 เข้าประจำการแล้ว ส่งผลให้สหรัฐฯตัดสินใจปิดสายการผลิตรถถังเบา M41 ในปี ค.ศ.1954 หลังผลิตออกมาประมาณ 5,500 คัน แล้วหันไปพัฒนารถถังเบา M551 Sheridan สำหรับทหารพลร่มและรถถังหลักตระกูล Patton แทน กองทัพบกสหรัฐฯค่อยๆทยอยปลดประจำการรถถังเบา M41 จนหมดในปี ค.ศ.1969
เมื่อกองทัพบกสหรัฐฯทยอยปลดประจำการรถถังเบา M41 เก็บเข้าคลัง สหรัฐฯก็เริ่มส่งรถถังรุ่นนี้ให้ประเทศพันธมิตรใช้งาน ทั้งประเทศในกลุ่ม NATO เช่น ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก สเปน เยอรมนีตะวันตก ฯลฯ และประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนามใต้ ไต้หวัน ฯลฯ นอกจากนี้ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาหลายประเทศเช่นชิลี บราซิล สาธารณรัฐโดมินิกัน กัวเตมาลา และอุรุกวัยก็จัดหารถถังเบา M41 มาใช้งานเช่นกัน
ในเดือนเมษายน ค.ศ.1961 สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency – CIA) จัดหารถถังเบา M41 จากคลังของกองทัพบกสหรัฐฯจำนวนหนึ่งส่งให้กลุ่มกบฏคิวบาใช้ยกพลขึ้นบกที่อ่าวหมู (Bay of Pigs) เพื่อโค่นล้มฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) แต่ไม่สำเร็จ ปฏิบัติการนี้ของ CIA เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้คิวบาขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต นำไปสู่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) ในปี ค.ศ.1962
รถถังเบา M41A3 เข้าประจำการในกองทัพบกไทยในปี ค.ศ.1962 จำนวน 200 คัน และยังคงใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 60 ปี ถือว่าเก่ามากแล้วจนหลายคนเรียกรถถังรุ่นนี้ว่าปู่ ขีดความสามารถของปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตร ไม่เพียงพอเจาะเกราะรถถังรุ่นใหม่แล้ว ทำได้เพียงภารกิจยิงสนับสนุนทหารราบเท่านั้น อะไหล่ก็ขาดแคลน เป็นสาเหตุที่กองทัพบกไทยมีความจำเป็นต้องจัดหารถถังหลักรุ่นใหม่ได้แก่รถถังหลัก Oplot-M จากยูเครนและรถถังหลัก VT-4 จากจีนนั่นเอง
นอกจากไทยแล้ว ประเทศที่ยังคงใช้งานรถถังเบา M41 อยู่ในปัจจุบันก็มีไต้หวัน สาธารณรัฐโดมินิกัน กัวเตมาลา และอุรุกวัย นอกจากนี้เวียดนามก็อาจจะยังมีรถถังเบา M41 ที่ยึดได้จากเวียดนามใต้ใช้งานอยู่จำนวนหนึ่งเช่นกัน ขณะที่ประเทศอื่นๆได้ปลดประจำการรถถังเบา M41 และจัดหารถถังรุ่นใหม่มาทดแทนหมดแล้ว
สวัสดี
03.07.2021
