ปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-57-2 ของสหภาพโซเวียต

ภาพปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-57-2
(VargaA/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 4.0)

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เครื่องบินโจมตีเช่น Junkers Ju-87 Stuka ของเยอรมนี, Ilyushin Il-2 Shturmovik ของสหภาพโซเวียต, Republic P-47 Thunderbolt ของสหรัฐฯ ฯลฯ ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อหน่วยยานเกราะและหน่วยส่งกำลังบำรุง โดยปืนต่อสู้อากาศยานแบบลากจูงมีความคล่องตัวไม่มากพอในการรับมือ ส่งผลให้หลายประเทศทำการพัฒนาปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรขึ้นมาเช่น Flakpanzer IV ของเยอรมนีและรถกึ่งสายพาน M16 ของสหรัฐฯ เป็นต้น ในส่วนของสหภาพโซเวียตก็มีความพยายามพัฒนาปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ดัดแปลงจากตัวรถของรถถังเบา T-60 และ T-70 นำมาติดตั้งปืนกลหนัก DShK (ดาชาก้า) ขนาด 12.7 มิลลิเมตรและปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มิลลิเมตรตั้งแต่ปี ค.ศ.1942 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1945 โซเวียตได้นำตัวรถของปืนใหญ่อัตตาจร SU-76M มาดัดแปลงติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน 61-K ขนาด 37 มิลลิเมตรเรียกว่าปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-37 ได้เข้าสู่สายการผลิตระหว่างปี ค.ศ.1945 – 1948 แต่ปรากฏว่าขีดความสามารถไม่ค่อยดีนัก สุดท้ายจึงถูกผลิตออกมาเพียง 75 คันเท่านั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง โซเวียตได้ทำการทดลองติดตั้งปืนกลหนักขนาด 14.5 มิลลิเมตรแบบ 2 และ 4 ลำกล้องบนรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-152A และ BTR-40A แต่ผลที่ได้ยังไม่น่าพึงพอใจ ต่อมาโซเวียตได้ทดลองพัฒนาปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรแบบสายพานอีกครั้ง โดยการติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มิลลิเมตร 4 ลำกล้องบนตัวรถของรถถังกลาง T-34 แม้โซเวียตจะพอใจกับผลลัพธ์ แต่เนื่องจากในช่วงเวลานั้นรถถัง T-34 ไม่ได้เป็นกำลังรบหลักของโซเวียตแล้ว ปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรรุ่นดังกล่าวจึงไม่ได้เข้าสู่สายการผลิต แล้วโซเวียตก็หันไปทำการพัฒนาปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรรุ่นใหม่โดยใช้ตัวรถของรถถังหลัก T-54 รุ่นล่าสุด นำมาติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน S-60 ขนาด 57 มิลลิเมตร เกิดเป็นปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-57-2 รถต้นแบบถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1951 เริ่มทำการทดสอบและพัฒนาต่อยอดระหว่างปี ค.ศ.1952 – 1954 ก่อนจะเข้าประจำการในกองทัพโซเวียตอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1955 เป็นปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรรุ่นแรกของโซเวียตที่ได้เข้าสู่สายการผลิตจำนวนมาก

ปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-57-2 (ชื่อเป็นตัวอักษรย่อหมายถึงปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรขนาด 57 มิลลิเมตร 2 ลำกล้อง) มีน้ำหนัก 28.1 ตัน มีความยาว 8.46 เมตรเมื่อหันป้อมปืนไปด้านหน้า ตัวรถมีขนาดยาว 6.22 เมตร กว้าง 3.27 เมตร สูง 2.71 เมตร มีพลประจำรถ 6 นายได้แก่ ผบ.รถ, พลขับ, พลยิง, พลยิงผู้ช่วย และพลบรรจุ 2 นาย ติดอาวุธปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 57 มิลลิเมตร 2 ลำกล้อง บนตัวรถถัง T-54 ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซล V-54 ขนาด 520 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 420 กิโลเมตร

จุดเด่นของปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-57-2 คือมีอำนาจการยิงรุนแรง กระสุนขนาด 57 มิลลิเมตรเพียงนัดเดียวก็เพียงพอจะทำลายเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินโจมตีได้ถ้ายิงถูกจังๆ นอกจากใช้ยิงเป้าหมายทางอากาศแล้วยังใช้ยิงสนับสนุนภาคพื้นดินได้ด้วย แต่ปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรรุ่นนี้ก็มีจุดอ่อนคืออัตราการยิงค่อนข้างต่ำ ประมาณ 240 นัดต่อนาทีเท่านั้น รวมถึงไม่มีเรดาร์และไม่มีกล้องมองกลางคืนด้วย

ช่วงปลายยุค 50 เครื่องบินรบไอพ่นความเร็วสูงถูกใช้งานอย่างแพร่หลายแทนที่เครื่องบินใบพัดอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ขีดความสามารถของปืนต่อสู้อากาศอัตตาจร ZSU-57-2 ซึ่งอัตราการยิงต่ำและไม่มีเรดาร์ ไม่เพียงพออีกต่อไป สายการผลิตถูกปิดไปในปี ค.ศ.1960 หลังผลิตออกมามากกว่า 2,000 คัน และโซเวียตก็ได้พัฒนาปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-23-4 Shilka ขึ้นมาทดแทนในปี ค.ศ.1962

แม้กองทัพโซเวียตจะทยอยปลดประจำการปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-57-2 จนหมดในช่วงต้นยุค 70 แต่โซเวียตก็ได้ส่งปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรรุ่นนี้ให้ประเทศพันธมิตรใช้งานอย่างแพร่หลาย ทั้งกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกในองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact), กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่นอียิปต์ ซีเรีย อิรัก, ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาเช่นคิวบา และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามเหนือด้วย

ปัจจุบันปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-57-2 ยังคงมีใช้งานในหลายประเทศเช่นคิวบา อียิปต์ ซีเรีย ฯลฯ สำหรับเวียดนามนั้นไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าได้ปลดประจำการปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรรุ่นนี้ไปแล้วหรือยัง

สวัสดี

06.07.2021

แสดงความคิดเห็น