ย้อนรอยปฏิบัติการทางทหารของโซเวียตในอัฟกานิสถาน

ภาพทหารโซเวียตยืนรักษาการณ์บริเวณถนนในอัฟกานิสถาน วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1988
(RIA Novosti archive, image #21225 / A. Solomonov / CC-BY-SA 3.0)

ขณะที่สหรัฐฯและพันธมิตร NATO เร่งถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบันก็ทำการรุกคืบยึดพื้นที่ได้มมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนวิจารณ์ว่าสหรัฐฯกำลังเผชิญสถานการณ์ซ้ำรอยเดิมในสงครามเวียดนาม และซ้ำรอยกองทัพโซเวียตที่เคยติดหล่มในอัฟกานิสถานมาก่อน ในบทความนี้ผมจะมาเล่าถึงปฏิบัติการทางทหารของโซเวียตในอัฟกานิสถานอย่างคร่าวๆว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร

ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯในสงครามเวียดนาม จริงๆแล้วนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียตต้องการให้อัฟกานิสถานเป็นกลางในสงครามเย็น เพื่อที่โซเวียตจะใช้อัฟกานิสถานเป็นพื้นที่กันชนระหว่างพื้นที่ทางใต้ของสหภาพโซเวียตกับจีน อิหร่าน และปากีสถาน ซึ่งขณะนั้นอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับโซเวียต แต่ทว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ในอัฟกานิสถาน (People’s Democratic Party of Afghanistan – PDPA) ยึดอำนาจในเดือนเมษายน ค.ศ.1978 ผู้นำกลุ่มคือนายนูร์ มูฮัมหมัด ตารากี (Nur Muhammad Taraki) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ส่วนนายฮะฟีซอลลาห์ อะมีน (Hafizullah Amin) ขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ประเทศต่างๆรวมถึงชาติตะวันตกมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการแผ่ขยายอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์ลงมาทางใต้เข้าประชิดตะวันออกกลาง ถือเป็นภัยคุกคาม ประเทศเหล่านี้จึงเริ่มให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัฟกานิสถาน รวมถึงกองกำลังมูจาฮีดีน (Mujahideen) ด้วย สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถาน ไม่สนใจวิถีชีวิตและคติความเชื่อของประชาชน มุ่งแต่จะเร่งปฏิรุปประเทศตามแนวลัทธิคอมมิวนิสต์ เช่น ตัดแบ่งที่ดินของคนรวยไปให้ชาวนาที่ยากจน ยกเลิกกฎหมายชารีอะห์ จัดให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา ฯลฯ ส่งผลให้คนรวยและคนที่ยึดมั่นในศาสนาอิสลามแบบสุดโต่งจำนวนมากไม่พอใจ

เมื่อรัฐบาลอัฟกันไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศได้ จึงพยายามขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตหลายครั้งตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.1978 แต่รัฐบาลโซเวียตยังคงลังเล นายยูริ อันโดรปอฟ (Yuri Andropov) หัวหน้าหน่วย KGB และว่าที่ผู้นำคนต่อไปของสหภาพโซเวียต ยอมรับว่าถ้าโซเวียตไม่ช่วยรัฐบาลอัฟกัน ๆ ก็คงจะถูกโค่นล้ม แต่ปฏิบัติการดังกล่าวมีความเสี่ยงมากเกินไป เบื้องต้นโซเวียตจึงให้การสนับสนุนรัฐบาลอัฟกันอย่างจำกัด โดยการส่งยุทโธปกรณ์เช่นเฮลิคอปเตอร์โจมตี Mil Mi-24 ให้ รวมถึงส่งทหารโซเวียตจำนวนหนึ่งเข้าไปวางกำลังในกรุงคาบูล (Kabul) และฐานทัพอากาศบาแกรม (Bagram) อย่างลับๆ เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี ค.ศ.1979 ต่อมาในวันที่ 14 กันยายน ปีเดียวกัน นายอะมีนก็ได้ยึดอำนาจจากนายตารากี แล้วขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน ระหว่างนี้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานก็ค่อยๆเลวร้ายลง กองกำลังมูจาฮีดีนสามารถยึดพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ นายเลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) ผู้นำโซเวียตมองว่าถ้ากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงหรือกองกำลังที่โปรตะวันตกสามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้ ก็จะเป็นภัยคุกคามต่อสหภาพโซเวียต จึงตัดสินใจให้กองทัพโซเวียตเข้าแทรกแซงในอัฟกานิสถาน ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1979

แม้กองทัพโซเวียตจะเข้ามาในอัฟกานิสถานตามคำเชิญของรัฐบาลอัฟกัน แต่โซเวียตมองว่ารัฐบาลของนายอะมีนนั้นไปไม่รอดแล้ว ประกอบกับนายอะมีนเองก็มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ มีความเป็นไปได้ว่าถ้าสถานการณ์คับขัน นายอะมีนก็อาจย้ายข้างไปอยู่ฝ่ายสหรัฐฯ กองทัพโซเวียตจึงจัดการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลอัฟกันในวันที่ 27 ธันวาคมปีเดียวกัน นายอะมีนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการ ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเขาฆ่าตัวตายเองหรือถูกทหารโซเวียตยิง หลังจากนั้นโซเวียตก็จัดตั้งรัฐบาลอัฟกันใหม่ มีนายบาบรัค คาร์มาล (Babrak Karmal) เป็นประธานาธิบดี

ระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ.1979 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1980 กองทัพโซเวียตสามารถควบคุมพื้นที่สำคัญๆในอัฟกานิสถานได้อย่างรวดเร็ว สาเหตุสำคัญเกิดจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัฟกัน กองกำลังชนเผ่าต่างๆ รวมถึงทหารอัฟกันที่ก่อกบฏเปิดหน้าออกมารบกับกองทัพโซเวียตในที่โล่ง จึงถูกกองทัพโซเวียตที่มียุทโธปกรณ์เหนือกว่าแบบเทียบกันไม่ได้ถล่มย่อยยับ แต่ทว่าหลังจากนั้นกองทัพโซเวียตก็ต้องเผชิญกับกองกำลังมูจาฮีดีนที่ทำการรบแบบกองโจร โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ เช่นสหรัฐฯได้ส่งเครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า (MANPADS) แบบ FIM-92 Stinger ให้กองกำลังมูจาฮีดีน สามารถยิงเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ของโซเวียตตกเป็นจำนวนมาก กองทัพโซเวียตพยายามกวาดล้างกองกำลังมูจาฮีดีนหลายครั้ง ตลอดช่วงเวลาหลายปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในช่วงเวลาหนึ่งกองทัพโซเวียตได้วางกำลังทหารในอัฟกานิสถานมากที่สุดกว่า 108,800 นาย กองทัพโซเวียตไม่สามารถหาชัยชนะเด็ดขาดไปใช้โฆษณาชวนเชื่อได้ ขวัญกำลังใจของกำลังพลค่อยๆตกต่ำลง ขณะที่ความสูญเสียก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดกระแสความไม่พอใจขึ้นในหมู่ชาวโซเวียต

ในปี ค.ศ.1987 สหภาพโซเวียตสมัยมิฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ใช้นโยบายใหม่ เปลี่ยนตัวผู้นำอัฟกานิสถานจากนายคาร์มาล เป็นนายโมฮัมหมัด นาญิบุลลอฮ์ (Mohammad Najibullah) และทำการฟื้นฟูกองทัพอัฟกันขึ้นใหม่ ให้ทำการรบในแนวหน้าแทนทหารโซเวียต จากนั้นในปี ค.ศ.1988 โซเวียตก็ลงนามในข้อตกลงเจนีวา (Geneva Accords) และเริ่มถอนทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน จนหมดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1989 ตลอดช่วงเวลาเกือบ 10 ปีของปฏิบัติการทางทหารของโซเวียตในอัฟกานิสถาน มีทหารโซเวียตเสียชีวิตประมาณ 15,000 นาย บาดเจ็บประมาณ 50,000 นาย ขณะที่กองกำลังมูจาฮีดีนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันประมาณ 90,000 – 180,000 คน มีพลเรือนอัฟกันเสียชีวิตมากกว่า 640,000 คน อีกหลายล้านคนกลายเป็นผู้อพยพ

ภาพทหารโซเวียตชุดสุดท้ายข้ามชายแดนกลับมาจากอัฟกานิสถาน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1989
(RIA Novosti archive, image #58833 / A. Solomonov / CC-BY-SA 3.0)

แม้โซเวียตจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานไปแล้ว แต่โซเวียตก็ยังให้การสนับสนุนรัฐบาลนายนาญิบุลลอฮ์ ต่อสู้กับกองกำลังมูจาฮีดีนต่อไปจนถึงปี ค.ศ.1991 หลังจากนั้นสหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ของรัสเซีย เลิกให้การสนับสนุนนายนาญิบุลลอฮ์ ส่งผลให้รัฐบาลอัฟกันล่มสลายลงในที่สุด แต่ทว่าหลังจากนั้นขุนศึกในกลุ่มมูจาฮีดีนกลับไม่สามารถตกลงแนวทางบริหารประเทศร่วมกันได้ แล้วหันมาสู้รบกันเองแทน หนึ่งในกองกำลังที่ใหญ่ที่สุดที่แยกมาจากมูจาฮีดีนก็คือกลุ่มตาลีบัน (Taliban) ได้รับการสนับสนุนจากปากีสถาน

ในปี ค.ศ.1996 กลุ่มตาลีบันสามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้เกือบทั้งหมด เหลือเพียงพื้นที่ทางเหนือที่อยู่ในความควบคุมของแนวร่วมอิสลามเพื่อการปลดปล่อยอัฟกานิสถาน หรือ พันธมิตรฝ่ายเหนือ (Northern Alliance) เท่านั้น โดยพันธมิตรฝ่ายเหนือได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน รัสเซีย ทาจิกิสถาน และอินเดีย

วันที่ 9 กันยายน ค.ศ.2001 นายอาหมัด ชาห์ มาซูด (Ahmad Shah Massoud) ผู้นำคนสำคัญของพันธมิตรฝ่ายเหนือถูกลอบสังหาร ส่งผลให้สถานการณ์ของพันธมิตรฝ่ายเหนือย่ำแย่ลง จวนเจียนจะแตกพ่ายอยู่แล้ว แต่ทว่าสองวันต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ 9/11 ขึ้น ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) เรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันส่งตัวนายอุซามะฮ์ บิน ลาดิน (Osama bin Laden) ให้สหรัฐฯ แต่กลุ่มตาลีบันปฏิเสธ สหรัฐฯจึงบุกอัฟกานิสถานในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน แล้วพันธมิตรที่สหรัฐฯเคยส่งอาวุธให้ใช้รบกับโซเวียต ก็กลายเป็นศัตรูตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สวัสดี

10.07.2021

แสดงความคิดเห็น