
(Brian Stansberry/ Wikimedia Commons/ CC BY 3.0)
ในช่วงยุค 70 สหภาพโซเวียตได้พัฒนาจรวดต่อสู้รถถัง 9K114 Shturm (AT-6 Spiral) รุ่นใหม่สำหรับเฮลิคอปเตอร์โจมตี Mil Mi-24 Hind ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อหน่วยยานเกราะของสหรัฐฯ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Chaparral ของสหรัฐฯใช้จรวด AIM-9 Sidewinder เล็งเป้าหมายที่ท่อไอพ่นของอากาศยาน จึงไม่เหมาะสำหรับใช้ปะทะกับเฮลิคอปเตอร์ทางด้านหน้า ขณะที่ปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร M163 VADS ก็มีระยะยิงหวังผลเพียง 1,200 เมตร ในขณะที่จรวดของโซเวียตมีระยะยิง 3 – 5 กิโลเมตร นอกจากนี้แคร่รถสายพานลำเลียงพล M113 ของ M163 ยังมีความเร็วน้อยกว่ารถถังหลัก M1 Abrams และรถรบทหารราบ M2 Bradley รุ่นใหม่ ไม่สามารถติดตามไปคุ้มกันหน่วยยานเกราะสหรัฐฯในแนวหน้าได้ทัน สหรัฐฯจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรรุ่นใหม่มาใช้งาน ชื่อโครงการ DIVAD (Division Air Defense)
แม้โครงการ DIVAD จะมีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ทว่าในขณะนั้นสหรัฐฯมีโครงการพัฒนาอาวุธรุ่นใหม่กำลังดำเนินการอยู่หลายโครงการ ส่งผลให้สามารถแบ่งงบประมาณมาให้โครงการ DIVAD ได้ค่อนข้างจำกัด กองทัพสหรัฐฯจึงกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผลิตอาวุธที่จะเข้าประกวดในโครงการนี้ ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในคลังของกองทัพสหรัฐฯให้มากที่สุด เพื่อประหยัดงบประมาณ สุดท้ายแบบปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร M247 Sergeant York ของบริษัท Ford Aerospace ได้รับการคัดเลือกในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1981
M247 Sergeant York ตั้งชื่อตามจ่าอัลวิน ยอร์ค (Alvin York) วีรบุรุษซึ่งได้รับเหรียญกล้าหาญ Medal of Honor สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ใช้แคร่รถถังหลัก M48A5 มาติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors ขนาด 40 มิลลิเมตร ควบคุมการยิงด้วยเรดาร์จากเครื่องบินขับไล่ F-16 เรียกได้ว่าเป็นการรวมเทคโนโลยีทางทหารที่ล้วนผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในสนามรบมาแล้วเข้าไว้ด้วยกัน ในทางทฤษฎี M247 จึงน่าจะเป็นปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่ง แต่เมื่อทำการทดสอบใช้งานจริง ผลกลับออกมาในทางตรงกันข้าม
เรดาร์ของ F-16 ไม่ได้ออกแบบมาใช้กับยานพาหนะภาคพื้นดิน ส่งผลให้ไม่สามารถแยกแยะสิ่งกีดขวางเช่นต้นไม้กับเฮลิคอปเตอร์ได้ ค้นหาเป้าหมายไม่เจอ แถมเมื่อยกปืนขึ้นมุมสูง ปากกระบอกปืนยังไปบดบังคลื่นเรดาร์ด้วย ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors ที่นำมาจากในคลัง ก็ได้รับการบำรุงรักษาไม่ดีพอ ส่งผลให้ลำกล้องบิดเบี้ยว นอกจากนี้แคร่รถถัง M48A5 ก็ผ่านการใช้งานมานานจนเก่ามากแล้ว ชำรุดเสียหายบ่อย แถมยังมีความเร็วน้อยกว่ายานเกราะรุ่นใหม่ จึงไม่ได้ช่วยแก้ไขจุดอ่อนเรื่องความเร็วของ M163 แต่อย่างใด
ระหว่างการทดสอบครั้งสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1982 ซึ่งมีนายทหารและบุคคลสำคัญจากทั้งสหรัฐฯและอังกฤษ รวมถึงสมาชิกสภาคองเกรสมาเยี่ยมชมด้วย ปรากฏว่า M247 ค้นหาเป้าหมายไม่เจอ แต่กลับหันป้อมปืนไปทางอัฒจันทร์ ส่งผลให้ผู้ชมต้องกระโดดหาที่กำบัง จนได้รับบาดเจ็บไปหลายราย เมื่อทีมช่างได้ทำการแก้ไขแล้ว ครั้งนี้ M247 สามารถหันป้อมปืนไปหาเป้าหมายได้สำเร็จ แต่กลับยิงกระสุนตกลงพื้นห่างจากตัวรถไป 300 เมตรแทน ไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้ผลิตอ้างว่าความผิดพลาดนี้เกิดจากการล้างทำความสะอาดส่งผลให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในตัวรถขัดข้อง
เวลาผ่านไปอีกสองปี M247 ก็ยังพัฒนาไม่เสร็จสมบูรณ์ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจึงส่งจดหมายเตือนถึงผู้ผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1984 ว่าโครงการนี้ล่าช้าจนไม่อาจรับได้แล้ว ทางผู้ผลิตจึงส่งมอบ M247 จำนวนหนึ่งให้กองทัพสหรัฐฯไปทดลองใช้งาน แม้ผลการทดสอบโดยรวมจะออกมาค่อนข้างดี แต่ก็ยังมีปัญหาเดิมๆที่แก้ไขไม่ได้ เช่นมี M247 คันหนึ่งล็อกเป้าหมายไปยังพัดลมห้องน้ำ
ปัญหาโครงการ M247 ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เมื่อโซเวียตพัฒนาจรวดต่อสู้รถถังรุ่นใหม่สำหรับเฮลิคอปเตอร์โจมตีซึ่งมีระยะยิงไกลขึ้นเป็น 6 กิโลเมตร แต่กองทัพสหรัฐฯยังคงผลักดันโครงการนี้ต่อไป เพราะไม่มีตัวเลือกอื่น สหรัฐฯมีแนวคิดจะติดตั้งจรวด FIM-92 Stinger ให้ M247 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องระยะยิง แต่กลับยิ่งส่งผลให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ M247 มากขึ้น สุดท้ายกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจึงขออนุมัติงบประมาณ 54 ล้านเหรียญจัดการทดสอบ M247 อย่างขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ผลการทดสอบออกมาเลวร้ายมาก M247 ไม่สามารถยิงโดรนเป้าหมายที่เคลื่อนที่เป็นเส้นตรงได้ เมื่อเปลี่ยนเป้าหมายเป็นโดรนที่ลอยนิ่งอยู่กับที่ เรดาร์ก็ไม่สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ จนต้องติดตัวสะท้อนเรดาร์ไว้ที่โดรน M247 จึงจะหาเป้าหมายพบแล้วยิงกระสุนออกไปหลายชุดจนโดนเป้าหมายในที่สุด แต่สุดท้ายโดรนเป้าหมายดังกล่าวกลับถูกทำลายโดยการกดรีโมท ส่งผลให้นักข่าวมองว่าผลการทดสอบ M247 ครั้งที่ผ่านๆมาล้วนเป็นการจัดฉาก
เมื่อถึงปี ค.ศ.1985 แม้สหรัฐฯจะยังไม่มีปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรหรือระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่สำหรับคุ้มกันหน่วยยานเกราะจากเฮลิคอปเตอร์โจมตีของโซเวียต แต่ทั้งกระทรวงกลาโหมและสภาคองเกรสต่างเห็นตรงกันว่าการทุ่มงบประมาณให้โครงการ M247 มีแต่จะทำให้เงินจมไปเปล่าๆ จึงตัดสินใจยกเลิกโครงการไปในที่สุด หลังจากมี M247 ถูกผลิตออกมาประมาณ 50 คัน สหรัฐฯสูญเสียงบประมาณไปมากกว่า 1,800 ล้านเหรียญ (เทียบกับค่าเงินปัจจุบันคิดเป็นประมาณ 4,800 ล้านเหรียญหรือมากกว่า 150,000 ล้านบาท) กับโครงการนี้
สวัสดี
11.07.2021