
(Guy Martin/ Wikimedia Commons/ CC BY 1.0)
รถถัง Al-Khalid เป็นรถถังหลักที่จีนและปากีสถานพัฒนาร่วมกัน มีพื้นฐานมาจากรถถัง Type-90-II ซึ่งกองทัพจีนปฏิเสธไม่นำเข้าประจำการ แต่นำมาขายให้ลูกค้าต่างประเทศในช่วงปลายยุค 90 ใช้ชื่อว่ารถถัง MBT-2000 แล้วปากีสถานก็ไปซื้อสิทธิบัตรรถถังรุ่นนี้มาผลิตเองภายในประเทศ แล้วพัฒนาต่อยอดเป็นรถถัง Al-Khalid เข้าประจำการในปี ค.ศ.2001
รถถัง Al-Khalid มีน้ำหนัก 45 ตัน มีความยาว 10.06 เมตรเมื่อหันป้อมปืนไปด้านหน้า ตัวรถมีขนาดยาว 6.9 เมตร กว้าง 3.4 เมตร สูง 2.3 เมตร ใช้พลประจำรถ 3 นายได้แก่ ผบ.รถถัง พลขับ และพลยิง อาวุธหลักของรถถัง Al-Khalid คือปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตร สามารถยิงจรวดต่อสู้รถถัง 9K119 Refleks (AT-11 Sniper) จากในลำกล้องได้ มีระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ บรรทุกกระสุน 39 นัด ส่วนอาวุธรองได้แก่ปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 มิลลิเมตร และปืนกลหนักขนาด 12.7 มิลลิเมตร ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซล 6TD ขนาด 1,200 แรงม้าของยูเครน มีความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 430 กิโลเมตร
จุดอ่อนสำคัญของรถถัง Al-Khalid อยู่ที่ระบบป้องกันตัว เนื่องจากเกราะคอมโพสิตของรถถังรุ่นนี้ค่อนข้างบางเมื่อเทียบกับรถถังหลักรุ่นใหม่ๆ กระสุนเจาะเกราะรุ่นใหม่ๆเกือบทุกรุ่นสามารถเจาะเกราะด้านหน้าของรถถัง Al-Khalid ได้ นอกจากนี้รถถัง Al-Khalid ยังติดเกราะ ERA เฉพาะบริเวณด้านหน้าของป้อมปืนเท่านั้น เรียกได้ว่ามีช่องโหว่เยอะมาก ก่อนหน้านี้ปากีสถานเคยทดลองติดระบบป้องกันตัวแบบแอคทีฟ Varta ของยูเครน (หลักการทำงานคล้ายระบบ Shtora-1 ของรัสเซีย) ให้รถถัง Al-Khalid แต่ปรากฏว่าต้องถอดเกราะ ERA ออก ถึงจะติดตั้งระบบ Varta ได้ ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดคำถามถึงความคุ้มค่า เพราะระบบ Varta ใช้ป้องกันได้เฉพาะจรวดต่อสู้รถถังนำวิถีด้วยเลเซอร์เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันจรวด RPG ทั่วไป, จรวดต่อสู้รถถังนำวิถีด้วยเส้นลวด และกระสุนเจาะเกราะรถถังได้
ปัจจุบันกองทัพปากีสถานมีรถถัง Al-Khalid ใช้งานอยู่ประมาณ 600 คัน ในจำนวนนี้ประมาณ 100 คันเป็นรถถัง Al-Khalid I ที่ได้รับการอัพเกรดระบบภายในตัวรถให้ทันสมัยขึ้น และสามารถบรรทุกกระสุนปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตรเพิ่มขึ้นเป็น 49 นัด
สวัสดี
12.07.2021