
(DoD photo by Staff Sgt. Shane A. Cuomo, U.S. Air Force)
รถสายพานลำเลียงพล M113 ของสหรัฐฯ พัฒนาโดยบริษัท Food Machinery and Chemical Corporation (FMC Corporation) เข้าประจำการในปี ค.ศ.1960 เป็นหนึ่งในยานเกราะที่ถูกใช้งานแพร่หลายที่สุดในโลก ถูกผลิตออกมามากกว่า 80,000 คัน มีประจำการในกองทัพประเทศต่างๆมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
M113 มีน้ำหนัก 12.3 ตัน มีขนาดยาว 4.86 เมตร กว้าง 2.68 เมตร สูง 2.50 เมตร ใช้พลประจำรถ 2 นายและสามารถบรรทุกทหารได้ 11 นาย ติดอาวุธปืนกลหนัก M2 Browning ขนาด 12.7 มิลลิเมตร 1 กระบอก ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซล Detroit 6V53T ขนาด 275 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 68 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 480 กิโลเมตร
ตัวรถ M113 ใช้วัสดุจากอลูมิเนียมอัลลอย มีน้ำหนักเบา แต่ก็ส่งผลให้เกราะบาง สามารถป้องกันได้เพียงกระสุนขนาด 7.62 มิลลิเมตรและสะเก็ดระเบิดเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันกระสุนปืนกลหนักขนาด 12.7 มิลลิเมตรในระยะใกล้ได้ อย่างไรก็ตาม M113 ถูกออกแบบมาใช้ในภารกิจลำเลียงทหารเข้าออกสนามรบเป็นหลัก เปรียบเสมือนเป็นรถแท็กซี่ในสนามรบ (battlefield taxi) ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับรบแบบประจัญบานในแนวหน้า ความหนาของเกราะจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับ M113
นอกจากใช้ลำเลียงทหารแล้ว M113 ยังสามารถนำไปดัดแปลงใช้ในภารกิจหลากหลาย เช่น ติดตั้งปืน ค. ขนาด 120 มิลลิเมตร (ชื่อรุ่น M1064), ติดตั้งจรวดต่อสู้รถถัง TOW (ชื่อรุ่น M901 ITV), ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Vulcan (ชื่อรุ่น M163 VADS) เป็นต้น
ปัจจุบันกองทัพบกสหรัฐฯยังมี M113 ใช้งานอยู่ประมาณ 5,000 คัน และมีสำรองไว้ในคลังประมาณ 8,000 คัน ก่อนหน้านี้สหรัฐฯมีโครงการพัฒนายานเกราะรุ่นใหม่สำหรับทดแทน M113 หลายโครงการ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และกำหนดการปลดประจำการ M113 ก็ถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯจะยังคงใช้งาน M113 ไปอีกนาน
สำหรับกองทัพบกไทยเริ่มรับมอบ M113 เข้าประจำการในปี ค.ศ.1962 และยังคงใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีประจำการประมาณ 450 คัน
สวัสดี
13.07.2021