อุบัติการณ์ U-2 เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1960

ภาพเครื่องบินสอดแนม U-2 ของสหรัฐฯ
(Greg Goebel/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

อุบัติการณ์ U-2 (U-2 Incident) เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1960 เมื่อเครื่องบินสอดแนม U-2 ลำหนึ่งของสหรัฐฯถูกยิงตกเหนือน่านฟ้าโซเวียต ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและสหภาพโซเวียตในสงครามเย็น (Cold War) เข้าสู่ภาวะตึงเครียด

ช่วงยุค 1950 สงครามเย็นกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด สหรัฐฯต้องการเครื่องบินสอดแนมรุ่นใหม่ เพื่อใช้ประเมินขีดความสามารถทางทหารของสหภาพโซเวียต บริษัท Lockheed จึงทำการพัฒนาเครื่องบินสอดแนม U-2 เข้าประจำการในปี ค.ศ.1956 เครื่องบินสอดแนมรุ่นนี้สามารถทำการบินที่เพดานบินสูงถึง 21.3 กิโลเมตร สูงกว่าเพดานบินของเครื่องบินขับไล่และจรวดพื้นสู่อากาศของโซเวียตในขณะนั้น (เครื่องบินขับไล่ MiG-17 มีเพดานบินสูงสุดประมาณ 13.7 กิโลเมตร ขณะที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-25 Berkut สามารถทำการยิงจรวด V-300 ขึ้นไปได้สูงที่สุดประมาณ 18 กิโลเมตร) พูดง่ายๆคือแม้เรดาร์ของโซเวียตจะเห็นเครื่องบินสอดแนม U-2 แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

ระหว่างปี ค.ศ.1956 – 1960 ประธานาธิบดีดไวต์ ดี ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ของสหรัฐฯอนุมัติให้ CIA ใช้เครื่องบินสอดแนม U-2 ทำการบินเหนือน่านฟ้าโซเวียตหลายครั้ง รวบรวมข่าวกรองเกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของโซเวียต ปฏิบัติการของเครื่องบินสอดแนม U-2 ทำให้สหรัฐฯค้นพบว่าตนเองยังคงนำหน้าโซเวียตในการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ ช่วยลดความกังวลของสหรัฐฯตอนที่โซเวียตปล่อยดาวเทียมสปุตนิก (Sputnik) ในปี ค.ศ.1957

เมื่อถึงปี ค.ศ.1960 กองทัพโซเวียตได้นำระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75 Dvina หรือ SA-2 Guideline เข้าประจำการอย่างแพร่หลาย จรวด V-750 ของระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้สามารถทำการยิงเป้าหมายที่เพดานบินสูงสุดถึง 23 กิโลเมตร ทางสหรัฐฯก็รู้ข้อมูลนี้ แต่ก็ยังคงส่งเครื่องบินสอดแนม U-2 ทำการบินเหนือน่านฟ้าโซเวียตต่อไป เพราะต้องการข้อมูลขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ของโซเวียต ประกอบกับเที่ยวบิน U-2 ครั้งที่ผ่านๆมาประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ส่งผลให้สหรัฐฯเกิดความมั่นใจมากว่าเที่ยวบินครั้งถัดๆไปก็จะประสบความสำเร็จเช่นกัน ในเดือนเมษายน ค.ศ.1960 เรดาร์ของโซเวียตตรวจพบเครื่องบินสอดแนม U-2 ของสหรัฐฯ แต่ไม่สามารถสอยลงมาได้ เพราะพลประจำระบบป้องกันภัยทางอากาศตอบสนองช้าเกินไป

ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์อนุมัติให้ CIA ส่งเครื่องบินสอดแนม U-2 ทำการบินเหนือน่านฟ้าโซเวียตอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1960 ไม่กี่วันก่อนหน้าการประชุมสี่ประเทศมหาอำนาจ (Big Four Conference) ระหว่างสหรัฐฯ สหภาพโซเวียต อังกฤษ และฝรั่งเศสที่กรุงปารีส นักบินชื่อฟรานซิส แกรี พาวเวอร์ส (Francis Gary Powers) ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทำภารกิจดังกล่าว โดยตามแผนพาวเวอร์สจะทำการบินจากสนามบินในปากีสถาน ผ่านน่านฟ้าโซเวียต ก่อนจะไปลงจอดที่สนามบินในนอร์เวย์

ภาพฟรานซิส แกรี พาวเวอร์ส สวมชุดนักบินพิเศษสำหรับทำการบินในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์
(RIA Novosti archive, image #35172 / Chernov / CC-BY-SA 3.0)

การที่สหรัฐฯเลือกวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันปฏิบัติการถือเป็นความผิดพลาด เนื่องจากเป็นแรงงาน เป็นวันหยุดสำคัญในสหภาพโซเวียต ส่งผลให้การจราจรทางอากาศเบาบาง เรดาร์ของโซเวียตสามารถตรวจจับเครื่องบินสอดแนม U-2 ได้ตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าสู่น่านฟ้าโซเวียต ต่อมาเมื่อพาวเวอร์สทำการบินอยู่เหนือแคว้นสเวียร์ดลอฟสค์ (เยคาเตรินเบิร์ก) ก็มีจรวดจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75 ถูกยิงขึ้นมา 3 ลูก จรวดลูกหนึ่งระเบิดใกล้กับเครื่องบินสอดแนม U-2 ส่งผลให้ระดับเพดานบินลดลง ก่อนจะถูกจรวดอีกลูกหนึ่งยิงเข้าอย่างจังจนตกในที่สุด พาวเวอร์สดีดตัวออกจากเครื่องบิน ก่อนจะถูกทหารโซเวียตจับกุมได้

นิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำโซเวียตแถลงว่าโซเวียตสามารถยิงเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯตก แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียด ทางด้านสหรัฐฯก็เชื่อว่าพาวเวอร์สคงจะเสียชีวิตไปแล้ว เพราะคงไม่มีใครรอดชีวิตจากเครื่องบินที่ตกลงมาจากเพดานบินสูงกว่า 21.3 กิโลเมตรได้ สหรัฐฯสั่งยกเลิกเที่ยวบินสอดแนมเหนือน่านฟ้าโซเวียต ขณะที่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ก็แถลงออกสื่อแก้ตัวไปว่าเครื่องบินที่ถูกโซเวียตยิงตกนั้นเป็นเครื่องบินสำหรับวิจัยสภาพอากาศระดับสูงซึ่งสูญหายไปขณะปฏิบัติภารกิจในตุรกี ไม่ได้เป็นเครื่องบินสอดแนมตามที่โซเวียตระบุ

ภาพเครื่องบินสอดแนม U-2 ติดสัญลักษณ์ NASA ซึ่งสหรัฐฯใช้แต่งเรื่องว่าเป็นเครื่องบินวิจัยสภาพอากาศระดับสูง (NASA photo)

เมื่อปล่อยให้สหรัฐฯแต่งเรื่องจนพอใจแล้ว ในวันที่ 7 พฤษภาคม ครุสชอฟก็ทำการหักหน้าไอเซนฮาวร์ ด้วยการเปิดเผยว่าพาวเวอร์สยังมีชีวิตอยู่ และโซเวียตได้ทำการกู้ซากเครื่องบินสอดแนม U-2 และยึดอุปกรณ์ต่างๆรวมถึงภาพถ่ายทางอากาศที่พาวเวอร์สถ่ายไว้ได้ด้วย ครุสชอฟยื่นคำขาดให้ไอเซนฮาวร์ขอโทษอย่างเป็นทางการ แต่ไอเซนฮาวร์ปฏิเสธ ส่งผลให้การประชุมสี่ประเทศมหาอำนาจที่กรุงปารีสล่มลงในที่สุด หลังครุสชอฟเดินออกจากที่ประชุมตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มการประชุม ครุสชอฟยังยกเลิกคำเชิญไอเซนฮาวร์มาเยือนสหภาพโซเวียต รวมถึงยกเลิกการประชุมลดอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

อุบัติการณ์ U-2 นอกจากจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและสหภาพโซเวียตตึงเครียดแล้ว ยังส่งผลให้ประเทศมหาอำนาจไม่สามารถเจรจาแก้ไขปัญหาเรื่องกรุงเบอร์ลินได้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การสร้างกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ในปี ค.ศ.1961

พาวเวอร์สถูกนำตัวขึ้นศาลโซเวียต และถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในปี ค.ศ.1962 แลกตัวกับสายลับโซเวียตชื่อรูดอล์ฟ เอเบล (Rudolf Abel) ซึ่งถูกสหรัฐฯจับกุมได้ก่อนหน้านั้น เหตุการณ์นี้ถูกนำมาสร้างภาพยนตร์เรื่อง Bridge of Spies เข้าฉายเมื่อปี ค.ศ.2015

สวัสดี

16.07.2021

แสดงความคิดเห็น