ขีดความสามารถระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของรัสเซีย

ภาพระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของรัสเซีย ระหว่างซ้อมสวนสนามวันแห่งชัยชนะปี 2016 (Igor Dolgov/ 123RF)

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 Triumph (ชื่อในระบบ NATO คือ SA-21 Growler) พัฒนาต่อยอดมาจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300PMU2 Favorit โดยบริษัท Almaz-Antey เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกล เข้าประจำการในกองทัพรัสเซียเมื่อปี ค.ศ.2007 ปัจจุบันมีลูกค้าต่างประเทศได้แก่จีน ตุรกี และอินเดีย

S-400 ระบบหนึ่งประกอบด้วยรถบัญชาการ รถเรดาร์ 92N6 Gravestone และ 91N6 Big Bird รวม 2 คัน ระยะตรวจจับไกลสุด 600 กิโลเมตร และรถฐานยิงสูงสุด 12 คัน (ปกติจะมี 4 – 8คัน) รถฐานยิงคันหนึ่งบรรทุกจรวด 4 ลูก มีจรวดให้เลือกใช้หลายรุ่น เช่นจรวด 9M96E ระยะยิง 40 กิโลเมตร, จรวด 9M96 ระยะยิง 120 กิโลเมตร, จรวด 48N6E2 ระยะยิง 200 กิโลเมตร, 48N6DM (48N6E3) ระยะยิง 250 กิโลเมตร และจรวด 40N6 ระยะยิง 400 กิโลเมตร

จุดเด่นของ S-400 อยู่ที่ระยะตรวจจับเรดาร์ที่ไกลถึง 600 กิโลเมตรและระยะยิงจรวดไกลสุด 400 กิโลเมตร สามารถใช้ป้องปรามอากาศยานฝ่ายตรงข้าม ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ที่อยู่ในรัศมีทำการของ S-400 ได้เป็นอย่างดี เรียกว่าเป็น Anti Access/Area Denial (A2/AD) หรือ Area denial weapon

จุดอ่อนของ S-400 คือจรวดมีจำนวนน้อยและมีราคาแพง จึงเหมาะสำหรับใช้จัดการกับเป้าหมายที่มีความสำคัญเช่นเครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิด และเครื่องบินแจ้งเตือนทางอากาศ (AWACS) เป็นต้น ไม่เหมาะสำหรับนำมาใช้จัดการกับเป้าหมายขนาดเล็กราคาถูกเช่นโดรน แม้ S-400 จะสามารถเลือกติดจรวดพิสัยกลางอย่าง 9M96E ระยะยิง 40 กิโลเมตรได้ แต่เนื่องจากรถฐานยิงคันหนึ่งสามารถบรรทุกจรวดได้เพียง 4 ลูก จึงมักเลือกติดจรวดพิสัยไกลเป็นหลัก นอกจากนี้แม้เรดาร์ของ S-400 จะสามารถตรวจจับเป้าหมายได้ไกลสุด 600 กิโลเมตร แต่ไม่ได้หมายความว่าจะตรวจจับอากาศยานทุกประเภทได้ที่ระยะดังกล่าว ถ้าอากาศยานมีขนาดเล็ก หรือมีหน้าตัดเรดาร์น้อย เช่นในกรณีของเครื่องบินสเตลท์ ก็จะตรวจจับได้ยาก ระยะที่เรดาร์ของ S-400 จะตรวจจับอากาศยานเหล่านี้ได้ก็จะขยับใกล้เข้ามา สภาพภูมิประเทศและความโค้งของผิวโลกก็มีผลต่อระยะตรวจจับเรดาร์ของ S-400 เช่นกัน

เพื่อเป็นการลดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งของ S-400 จึงควรวางกำลัง S-400 ร่วมกับระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยกลางและพิสัยใกล้หลายๆระบบ รวมกันเป็นเครือข่าย เช่นรัสเซียวางกำลัง S-400 คู่กับระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 และ Tor-M2 ที่ฐานทัพอากาศ Hmeymim ในซีเรีย เป็นต้น

สวัสดี

19.07.2021

คลิประบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของรัสเซีย

แสดงความคิดเห็น