ขีดความสามารถจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า FIM-92 Stinger ของสหรัฐฯ

ภาพนาวิกโยธินสหรัฐฯฝึกยิงจรวด FIM-92 Stinger วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.2009
(Christopher O’Quin, U.S. Marine Corps)

จรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า FIM-92 Stinger ของสหรัฐฯ ออกแบบโดยบริษัท General Dynamics และผลิตโดยบริษัท Raytheon เข้าประจำการในปี ค.ศ.1981 พัฒนาต่อยอดมาจากจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า FIM-43 Redeye ออกแบบมารับมือเครื่องบินโจมตีที่มีเพดานบินต่ำและเฮลิคอปเตอร์

จรวด Stinger สามารถใช้งานได้ด้วยทหารนายเดียว แต่ปกติจะจัดทีม 2 นายโดยให้อีกนายหนึ่งเป็นพลชี้เป้า เพื่อให้สามารถค้นหาเป้าหมายได้เร็วมากขึ้น จรวดนำวิถีด้วยอินฟราเรด มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 70 มิลลิเมตร ยาว 1.52 เมตร ตัวจรวดมีน้ำหนัก 10.1 กิโลกรัม (ส่วนหัวรบหนัก 3 กิโลกรัม) แต่เมื่อรวมน้ำหนักท่อยิงจรวดด้วยจะหนัก 15 กิโลกรัม มีระยะยิง 4 – 8 กิโลเมตร ขึ้นกับรุ่น

ระหว่างปฏิบัติการทางทหารของโซเวียตในอัฟกานิสถาน สหรัฐฯได้ส่งจรวด Stinger ให้กลุ่มมูจาฮิดีน (Mujahideen) สามารถยิงเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ของโซเวียตตกมากกว่า 250 ลำ หลังจากนั้นจรวด Stinger ก็ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในหลายสมรภูมิทั่วโลก เช่นสงครามกลางเมืองอังโกลา สงครามกลางเมืองทาจิกิสถาน ฯลฯ และล่าสุดระหว่างสงครามในซีเรีย ตุรกีก็ได้ส่งจรวด Stinger ให้กลุ่มกบฏซีเรียที่ตุรกีสนับสนุนเช่นกัน

ปัจจุบันกองทัพบกและนาวิกโยธินสหรัฐฯก็ยังคงใช้งานจรวด Stinger อยู่ นอกจากสหรัฐฯแล้ว จรวด Stinger ยังมีใช้งานในอีก 29 ประเทศทั่วโลกเช่น เยอรมนี อิตาลี อิรัก อิสราเอล ปากีสถาน ตุรกี อังกฤษ ฯลฯ

สวัสดี

20.07.2021

ภาพนาวิกโยธินสหรัฐฯทำการยิงจรวด FIM-92 Stinger ระหว่างการซ้อมรบในประเทศนอร์เวย์

แสดงความคิดเห็น