พลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ ผู้วางแผนโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์

ภาพพลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ (Public Domain)

วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 กองทัพเรือญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ของสหรัฐฯในหมู่เกาะฮาวาย เป็นการเปิดฉากสงครามแปซิฟิก (Pacific War) ในสงครามโลกครั้งที่สอง กองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯถูกโจมตีอย่างไม่ทันตั้งตัว สูญเสียเรือรบและเครื่องบินรบไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กองทัพบกและกองทัพเรือญี่ปุ่นเปิดฉากการรุกรบทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้อย่างสะดวกเป็นเวลานานถึงหกเดือน ผู้บัญชาการของญี่ปุ่นในการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ก็คือพลเรือเอก อิโซโรกุ ยามาโมโตะ (Isoroku Yamamoto)

อิโซโรกุ ยามาโมโตะ เดิมมีชื่อว่าอิโซโรกุ ทาคาโนะ (Isoroku Takano) เกิดที่เมืองนางาโอกะ (Nagaoka) ในจังหวัดนีงาตะ (Niigata) บนเกาะฮอนชู เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ.1884 พ่อของเขาชื่อซาดาโยชิ ทาคาโนะ (Sadayoshi Takano) เป็นซามูไรซึ่งมีส่วนร่วมในการก่อกบฏต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี ค.ศ.1877 ส่งผลให้หางานทำยากและต้องใช้ชีวิตอย่างยกลำบาก ยามาโมโตะเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว โดยชื่ออิโซโรกุแปลว่า “56” ซึ่งเป็นอายุของพ่อตอนที่เขาเกิด ต่อมาพ่อของยามาโมโตะสามารถหางานทำได้โดยการเป็นครู ส่งผลให้เขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้

ในปี ค.ศ.1901 ยามาโมโตะเข้าเรียนในโรงเรียนนายเรือ และสำเร็จการศึกษาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1904 และได้เข้าร่วมรบในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) ประจำการบนเรือลาดตระเวน นิสชิน (Nisshin) เขาได้รับบาดเจ็บระหว่างยุทธนาวีสึชิมา (Battle of Tsushima) จนเสียนิ้วมือข้างซ้ายไป 2 นิ้ว หลังจากได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว เขาได้ประจำการบนเรือรบต่างๆจำนวน 3 ลำและได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนสหรัฐฯเป็นครั้งแรก ต่อมาในปี ค.ศ.1914 เขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือและได้รับยศนาวาตรีในปี ค.ศ.1916

ในปี ค.ศ.1916 นี้เอง ยามาโมโตะได้เปลี่ยนนามสกุล เนื่องจากพ่อแม่ของเขาเสียชีวิตตั้งแต่ปี ค.ศ.1912 และการที่เขาเป็นลุกคนสุดท้อง มีพี่ชาย ส่งผลให้เขาไม่มีโอกาสได้เป็นผู้นำตระกูลทาคาโนะ ตระกูลยามาโมโตะ (Yamamoto) ซึ่งเป็นครอบครัวซามูไรเช่นกันแต่ไม่มีลูกชาย จึงได้รับเขาเป็นลูกบุญธรรมเพื่อเป็นว่าที่ผู้นำตระกูลในอนาคต เขาจึงใช้นามสกุลยามาโมโตะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาแต่งงานในปี ค.ศ.1918 และในปี ค.ศ.1919 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตทหารเรือญี่ปุ่นในสหรัฐฯ

ยามาโมโตะได้เข้าเรียนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) นอกจากนี้เขายังให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมัน เขายังเริ่มติดนิสัยชอบเล่นการพนันขณะอยู่ในสหรัฐฯด้วย ยามาโมโตะกลับญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1921 และได้รับตำแหน่งเป็นอาจารย์ในโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือเป็นเวลา 5 ปี เขายังคงให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมัน และเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการบิน

ในปี ค.ศ.1926 ยามาโมโตะถูกส่งไปสหรัฐฯอีกครั้งเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะได้เป็นกัปตันเรือลาดตระเวนอีซูซุ (Isuzu) ในปี ค.ศ.1928 และในปีเดียวกันก็ได้เป็นกัปตันเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของญี่ปุ่น อาคากิ (Akagi)

การที่ยามาโมโตะมีความรู้ภาษาอังกฤษ ส่งผลให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะนายทหารเรือของญี่ปุ่นเข้าร่วมการประชุมสนธิสัญญารัฐนาวีกรุงลอนดอน (London Naval Treaty) ในปี ค.ศ.1930 ขณะมียศเป็นพลเรือตรี และได้เข้าร่วมการประชุมอีกครั้งในปี ค.ศ.1935 ขณะมียศเป็นพลเรือโท หลังกลับญี่ปุ่น เขาก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทหารเรือ ดูแลแผนกการบินทหารเรือ มีส่วนร่วมในการพัฒนายุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ๆเช่นเครื่องบินโจมตี Type-96

ในช่วงเวลานี้ความขัดแย้งทางการเมืองในญี่ปุ่นเริ่มรุนแรงมากขึ้น วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1936 มีความพยายามก่อรัฐประหาร ฝ่ายชาตินิยมในญี่ปุ่นมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น แต่ยามาโมโตะกลับคัดค้านนโยบายทำสงครามกับจีนและการเข้าร่วมฝ่ายอักษะ เป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและอิตาลี ในปี ค.ศ.1937 ส่งผลให้เขาถูกขู่ฆ่าหลายครั้ง

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1939 เยอรมนีทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับสหภาพโซเวียต (Molotov–Ribbentrop Pact) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่กองทัพบกญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อโซเวียตในสมรภูมิฮาลฮิน โกล (Khalkhin Gol) เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในญี่ปุ่น วันที่ 23 สิงหาคม รัฐบาลญี่ปุ่นลาออกทั้งคณะ ยามาโมโตะจึงต้องออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทหารเรือไปด้วย แต่เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองเรือผสม (Combined Fleet) แทน ตำแหน่งนี้ช่วยให้เขารอดพ้นจากการถูกลอบสังหารโดยฝ่ายตรงข้ามได้

ภาพพลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ (คนที่สองจากทางซ้าย) บนเรือประจัญบานนางาโตะในปี ค.ศ.1940 (Public Domain)

วันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ.1940 ยามาโมโตะได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเรือเอก ในช่วงเวลานี้ฝ่ายชาตินิยมในกองทัพญี่ปุ่นเริ่มผลักดันให้มีการทำสงครามกับสหรัฐฯ แม้ยามาโมโตะจะคัดค้าน แต่เขาก็เริ่มวางแผนรับสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นต้องทำสงครามกับสหรัฐฯเอาไว้ด้วย เขาเชื่อว่าญี่ปุ่นไม่มีทางชนะสหรัฐฯในสงครามยืดเยื้อได้ เพราะสหรัฐฯมีขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมสูงกว่าญี่ปุ่นมาก ญี่ปุ่นต้องหาทางเอาชนะสหรัฐฯและเข้าสู่โต๊ะเจรจาอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่เกิน 6 เดือน

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1941 สหรัฐฯ อังกฤษ และฮอลแลนด์มีมาตรการคว่ำบาตรญี่ปุ่น ตอบโต้การที่ญี่ปุ่นยังคงรุกรานจีนอย่างต่อเนื่อง มาตรการที่ส่งผลร้ายแรงกับญี่ปุ่นที่สุดคือการที่ประเทศเหล่านี้ระงับการขายน้ำมันให้ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่สามารถหลีกเลี่ยงสงครามกับชาติตะวันตกได้แล้ว

วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1941 พลเอกโตโจ ฮิเดกิ (Tojo Hideki) ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของยามาโมโตะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น หลายฝ่ายเชื่อว่าอาชีพการงานของยามาโมโตะคงจะมาถึงจุดจบแล้ว แต่เขาก็ได้ดำรงตำแหน่งต่อไป เพราะความสามารถและความนิยมจากผู้ใต้บังคับบัญชา

วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 กองทัพเรือญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯในหมู่เกาะฮาวาย เป็นการเปิดฉากสงครามแปซิฟิก เรือรบผิวน้ำของสหรัฐฯจมหรือได้รับความเสียหายจำนวนมาก แต่เรือบรรทุกเครื่องบินกลับรอดไปได้ราวปาฏิหาริย์ ตลอดช่วงเวลาประมาณ 6 เดือนหลังจากนั้นกองทัพบกและกองทัพเรือญี่ปุ่นทำการรุกรบได้รับชัยชนะทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยามาโมโตะกลายเป็นวีรบุรุษของประเทศ แต่เขาก็ยังคงค้างคาใจที่ญี่ปุ่นยังไม่สามารถทำลายกองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯได้

วันที่ 18 เมษายน ค.ศ.1942 สหรัฐฯเปิดปฏิบัติการดูลิตเติล (Doolittle Raid) ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 Mitchell จำนวน 16 ลำขึ้นบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินฮอร์เน็ต (USS Hornet) ไปทิ้งระเบิดกรุงโตเกียว แม้ปฏิบัติการนี้จะสร้างความเสียหายทางทหารต่อญี่ปุ่นได้น้อย แต่กลับส่งผลด้านจิตใจมาก เพราะเป้าหมายอยู่ใกล้ตัวพระจักรพรรดิมาก ยามาโมโตะจึงวางแผนโจมตีเกาะมิดเวย์ (Midway) เพื่อล่อกองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯออกมาทำลาย แต่ทว่าสหรัฐฯกลับถอดรหัสของญี่ปุ่นและรู้แผนการของยามาโมโตะล่วงหน้า ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในยุทธนาวีมิดเวย์ (Battle of Midway) ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1942 สูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินไป 4 ลำ

หลังยุทธนาวีมิดเวย์ สหรัฐฯก็เริ่มทำการรุกตอบโต้ญี่ปุ่น โดยยกพลขึ้นบกที่เกาะกัวดาลคานาล (Guadalcanal) ในหมู่เกาะโซโลมอน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1942 หลังการสู้รบยืดเยื้อนาน 6 เดือน ญี่ปุ่นก็จำใจต้องถอยทัพ ยามาโมโตะจึงตัดสินใจเดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยทหารในหมู่เกาะต่างๆ ทางใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อฟื้นฟูขวัญกำลังใจของทหารญี่ปุ่นในแนวหน้า

วันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1943 หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯถอดรหัสข้อความกำหนดการเดินทางของยามาโมโตะได้ ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) และพลเรือเอกเชสเตอร์ ดับเบิลยู. นิมิตซ์ (Chester W. Nimitz) ของสหรัฐฯออกคำสั่งให้สังหารยามาโมโตะ

ภาพสุดท้ายของพลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ บนเกาะราบวล วันที่ 18 เมษายน ค.ศ.1943 (Public Domain)

วันที่ 18 เมษายน ค.ศ.1943 ขณะที่ยามาโมโตะโดยสารเครื่องบินทิ้งระเบิด Mitsubishi G4M หรือ Betty คุ้มกันโดยเครื่องบินขับไล่ Mitsubishi A6M Zero จำนวน 6 ลำ เดินทางจากเกาะราบวล (Rabaul) ไปยังเกาะบาลาเล่ (Balalae) ขบวนของเขาก็ถูกสกัดโดยฝูงเครื่องบินขับไล่ Lockheed P-38 Lightning ของสหรัฐฯ ระหว่างการสู้รบ เครื่องบินทิ้งระเบิด Betty ที่ยามาโมโตะโดยสารมาถูกยิงตกลงไปในป่าบนเกาะบูเกนวิลล์ (Bougainville)

ทหารญี่ปุ่นพบซากเครื่องบินของยามาโมโตะในวันรุ่งขึ้น ร่างของยามาโมโตะยังคงอยู่ในท่านั่งหลังตรง มือกำด้ามดาบคาตานะ (Katana) ไว้แน่น ผลชันสูตรพบว่ายามาโมโตะถูกกระสุนปืนกลหนักขนาด 12.7 มิลลิเมตร 2 นัดเสียชีวิต กองทัพญี่ปุ่นทำการฌาปนกิจร่างของเขาที่ปาปัวนิวกินี ก่อนจะนำอัฐิขึ้นเรือประจัญบานมูซาชิ (Musashi) กลับไปทำพิธีฝังที่กรุงโตเกียวอย่างสมเกียรติในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ.1943 เป็นการปิดฉากเรื่องราวของยอดนายทหารเรือของญี่ปุ่น สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

สวัสดี

21.07.2021

แสดงความคิดเห็น