เครื่องยิงจรวดเพลิง Shmel คืออาวุธที่เหมาะจะมาแทนที่ปืนพ่นไฟสมัยสงครามโลก

ภาพทหารหญิงรัสเซียกับเครื่องยิงจรวดเพลิงประทับบ่า RPO-A Shmel
(Ministry of Defence of the Russian Federation/ Mil.ru)

คนที่ชอบดูหนังเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง น่าจะคุ้นเคยกับภาพทหารอเมริกันร่างใหญ่แบกปืนพ่นไฟ M1A1 บุกเข้าไปเผาบังเกอร์ของทหารญี่ปุ่นในระยะประชิดได้ดี ทหารนายนี้มีประโยชน์ต่อหน่วยมาก เสียดายที่มักจะไม่รอดไปถึงตอนจบของเรื่อง ส่วนใหญ่จะถูกยิงใส่ถังแก๊สระเบิดไฟครอกตายเสียก่อน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันแทบไม่มีการใช้ปืนพ่นไฟในสนามรบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในอิรัก อัฟกานิสถาน ซีเรีย ยูเครน ฯลฯ เราจะไม่ได้เห็นภาพทหารอเมริกัน รัสเซีย หรือกลุ่มติดอาวุธต่างๆแบกปืนพ่นไฟไปเผาที่มั่นฝ่ายตรงข้ามแต่อย่างใด ส่งผลให้หลายคนเกิดคำถามว่าปืนพ่นไฟยังถูกใช้งานหรือมีความจำเป็นในสงครามปัจจุบันหรือไม่ หลายคนถึงกับเข้าใจว่าปืนพ่นไฟรวมถึงระเบิดระเบิดนาปาล์มถูกแบนเพราะโหดร้ายเกินไป ราวกับว่าอาวุธเพลิงชนิดใหม่คืออาวุธเทอร์โมบาริคนั้นโหดร้ายน้อยกว่า (ฮา)

ก่อนอื่นผมขอบอกก่อนว่าปัจจุบันกองทัพประเทศก็ยังมีปืนพ่นไฟแบบสมัยสงครามโลกเก็บไว้ในคลัง กองทัพไทยก็มีปืนพ่นไฟ M2 ที่ได้รับมาจากสหรัฐฯสมัยสงครามเวียดนามอยู่ในคลัง และมีการนำออกมาใช้ในการฝึกอยู่เนืองๆ แม้แต่ประเทศมหาอำนาจเช่นจีนก็มีการใช้ปืนพ่นไฟในการฝึกหรือซ้อมรบเช่นกัน ตามตัวอย่างคลิปด้านล่างซึ่งเป็นคลิปการซ้อมรบของกองทัพจีนในทิเบตเมื่อปี ค.ศ.2017

คลิปการซ้อมรบของกองทัพจีนในทิเบตเมื่อปี ค.ศ.2017 มีการใช้ปืนพ่นไฟ

เมื่อกองทัพประเทสต่างๆยังคงมีปืนพ่นไฟเก็บไว้ในคลัง แล้วทำไมจึงไม่มีการนำออกมาใช้ในสมรภูมิจริง คำตอบคือไม่มีความจำเป็น เทคโนโลยีพื้นฐานของปืนพ่นไฟแทบไม่ได้พัฒนาขึ้นเลยตั้งแต่ตอนที่กองทัพเยอรมันนำปืนพ่นไฟออกมาใช้งานเป็นครั้งแรกสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปืนพ่นไฟมีน้ำหนักมาก ระยะยิงสั้น และยิงต่อเนื่องได้ไม่นาน ยกตัวอย่างปืนพ่นไฟ M2 ที่สหรัฐฯใช้สมัยสงครามโลกครั้งที่สองถึงช่วงสงครามเวียดนามนั้น เมื่อเติมเชื้อเพลิงเต็มถังจะมีน้ำหนักมากถึง 30 กิโลกรัม แต่มีระยะยิงเพียง 20 – 40 เมตร สามารถทำการยิงต่อเนื่องได้เพียง 7 วินาทีเท่านั้น หลังทำการยิงจนเชื้อเพลิงหมดแล้ว พลปืนไฟก็ยังต้องแบกถังเชื้อเพลิงเปล่าและอุปกรณ์ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัมติดตัวไปด้วย แม้ปืนพ่นไฟจะสามารถข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามได้ แต่เมื่อพิจารณาประสิทธิภาพและความเสี่ยงต่อตัวผู้ใช้เองแล้วถือว่าไม่คุ้มค่า ประเทศต่างๆจึงทยอยเก็บปืนพ่นไฟเข้ากรุไปตั้งแต่ช่วงปลายสงครามเวียดนาม และประเทศมหาอำนาจก็ได้พัฒนาเครื่องยิงจรวดเพลิงแบบประทับบ่าขึ้นมาแทนที่ ได้แก่ RPO “Rys” ของสหภาพโซเวียตเข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1975 และ M202 FLASH (FLame Assault SHoulder) ของสหรัฐฯเข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1978 อย่างไรก็ตาม M202 ของสหรัฐฯนั้นมีข้อบกพร่องมาก หลังจากเข้าประจำการได้ไม่นานก็ถูกเก็บเข้าคลังไปตั้งแต่ช่วงยุค 80 และสหรัฐฯก็ไม่ได้พัฒนาเครื่องยิงจรวดเพลิงประทับบ่ารุ่นใหม่ออกมาอีก ในขณะที่ฝั่งโซเวียตนั้นแม้ Rys จะมีข้อบกพร่องมากเช่นกัน แต่โซเวียตก็ได้พัฒนาเครื่องยิงจรวดเพลิงรุ่นใหม่คือ RPO-A “Shmel” ออกมาทดแทน เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1988 และยังคงถูกใช้งานอย่างแพร่หลายต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้รัสเซียยังได้พัฒนารุ่นอัพเกรดคือ RPO-M “Shmel-M” ขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.2006 ด้วย

เครื่องยิงจรวดเพลิง Shmel ใช้หัวรบเทอร์โมบาริค มีน้ำหนักเพียง 11 กิโลกรัม ใกล้เคียงกับปืนกลและเครื่องยิงจรวดประทับบ่าส่วนใหญ่ มีระยะยิงไกลสุดถึง 1 กิโลเมตร (ระยะยิงหวังผลประมาณ 300 เมตร) ส่วนรุ่นอัพเกรดคือ Shmel-M ก็มีระยะยิงไกลสุดเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 กิโลเมตร ถือว่ามีขีดความสามารถเหนือกว่าปืนพ่นไฟมาก

คลิปแนะนำขีดความสามารถของ PRO-A Shmel จากสื่อ Zvezda

แม้ปัจจุบันจะแทบไม่มีการใช้งานปืนพ่นไฟในสนามรบแล้ว แต่ทหารราบก็ยังต้องปฏิบัติภารกิจเข้าตีที่มั่นของข้าศึก ยึดพื้นที่ เคลียร์อาคารและสิ่งก่อสร้างอยู่เหมือนเดิม แถมสงครามปัจจุบันยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดการรบในเมืองมากขึ้น อาวุธสำหรับให้ทหารราบพกพาไปใช้ทำลายบังเกอร์ เคลียร์อาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ จึงมีความจำเป็น เครื่องยิงจรวดเพลิง Shmel สามารถตอบสนองภารกิจดังกล่าวได้เป็นอย่างดี สามารถใช้งานได้ด้วยกำลังพลเพียงนายเดียว มีระยะยิงหวังผลใกล้เคียงกับอาวุธประจำกาย มีน้ำหนักอยู่ในระดับเดียวกับปืนกลและเครื่องยิงจรวดประทับบ่าส่วนใหญ่ และเบากว่าปืนพ่นไฟแบบเดิมมาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องยิงจรวดแบบใช้แล้วทิ้ง เมื่อทำการยิงแล้วสามารถทิ้งท่อยิงไปได้เลย ลดน้ำหนักของสัมภาระที่ทหารจะต้องแบก

เครื่องยิงจรวดเพลิง RPO-A “Shmel” จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้แทนที่ปืนพ่นไฟแบบเดิมจากยุคสงครามโลก ในภารกิจทำลายบังเกอร์ เคลียร์อาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ

สวัสดี

28.07.2021

แสดงความคิดเห็น