
(Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
หลังกองทัพสหรัฐฯนำปืนใหญ่อัตตาจร M109 ขนาด 155 มิลลิเมตรเข้าประจำการในปี ค.ศ.1963 สหภาพโซเวียตก็เริ่มพัฒนาปืนใหญ่อัตตาจร 2S3 Akatsiya (ชื่อแปลว่าดอกอาเคเชีย)ขนาด 152 มิลลิเมตรรุ่นใหม่ขึ้นมาตอบโต้ เริ่มโครงการในปี ค.ศ.1967 ก่อนจะเข้าประจำการในปี ค.ศ.1971
ปืนใหญ่อัตตาจร 2S3 Akatsiya ใช้แคร่รถสายพานที่ดัดแปลงมาจากแคร่รถฐานยิงของระบบป้องกันภัยทางอากาศ Krug (SA-4 Ganef) มีน้ำหนัก 27.5 ตัน มีความยาว 7.62 เมตรเมื่อหันป้อมปืนไปด้านหน้า ตัวรถมีขนาดยาว 6.97 เมตร กว้าง 3.25 เมตร สูง 2.62 เมตร ติดอาวุธหลักคือปืนใหญ่ขนาด 152 มิลลิเมตรรุ่น D-22 (ดัดแปลงมาจากปืนใหญ่ลากจูง D-20) ความยาวลำกล้อง 27 คาลิเบอร์ กระสุนปกติมีระยะยิงไกลสุด 17.4 กิโลเมตร แต่ถ้าใช้กระสุนต่อระยะจะมีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 24 กิโลเมตร สามารถทำการยิงวิถีราบได้ มีระยะยิงวิถีราบไกลสุด 4 กิโลเมตร อัตราการยิงสูงสุด 4 นัดต่อนาที บรรทุกกระสุน 40 นัด ส่วนอาวุธรองได้แก่ปืนกล PKT ขนาด 7.62 มิลลิเมตร ติดตั้งบนหลังคาป้อมปืน เกราะของ 2S3 Akatsiya สามารถป้องกันกระสุนปืนเล็กและสะเก็ดระเบิดได้ ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซล V-59 ขนาด 520 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 500 กิโลเมตร
กองทัพโซเวียตใช้ปืนใหญ่อัตตาจร 2S3 Akatsiya ในการรบจริงครั้งแรกในอัฟกานิสถาน หลังจากนั้นปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นนี้ก็ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในสงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามเชชเนีย สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย สงครามลิเบีย สงครามซีเรีย และระหว่างการสู้รบในดอนบาส
ปัจจุบันกองทัพรัสเซียมีปืนใหญ่อัตตาจร 2S3 Akatsiya ประจำการอยู่ประมาณ 850 ระบบและมีสำรองไว้ในคลังประมาณ 1,000 ระบบ นอกจากรัสเซียแล้วปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นนี้ยังมีใช้งานในประเทศอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน แอลจีเรีย อังโกลา เบลารุส จอร์เจีย คาซัคสถาน ซีเรีย อุสเบกิสถาน ยูเครน เอธิโอเปีย ลาว และเวียดนาม
สวัสดี
29.07.2021