
แม้ประเทศอัฟกานิสถานจะไม่มีทางออกทะเล ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูงทุรกันดาร แต่ที่ตั้งของอัฟกานิสถาน ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างจีน อินเดีย อิหร่าน และประเทศแถบเอเชียกลาง ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่มหาอำนาจต่างต้องการแผ่อิทธิพลเข้าไปครอบครอง ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างน้อย ที่ทั้งจักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิรัสเซียต่างแข่งขันกันแผ่อิทธิพลเข้าไปในพื้นที่แถบนี้ เรียกว่า The Great Game
จุดเริ่มต้นของ The Great Game สามารถย้อนไปได้อย่างน้อยถึงสมัยสงครามนโปเลียน (Napoleonic War) โดยซาร์ พอลที่ 1 (Paul I) ของรัสเซีย ทรงมีนโยบายเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส วางแผนบุกอินเดียซึ่งขณะนั้นอยู่ในความควบคุมของอังกฤษ แต่ทว่าในปี ค.ศ.1801 ซาร์พอลที่ 1 กลับถูกลอบปลงพระชนม์เสียก่อน ต่อมาในสมัยของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 (Alexander I) ฝรั่งเศสและรัสเซียมีการทำสงครามกันหลายครั้ง แม้ภายหลังจะมีการทำสนธิสัญญาทิลซิท (Treaties of Tilsit) แบ่งเขตอิทธิพลระหว่างฝรั่งเศสและรัสเซีย แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด นโปเลียน (Napoleon) ยกทัพใหญ่บุกรัสเซียในปี ค.ศ.1812 แต่พ่ายแพ้ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเสื่อมอำนาจของนโปเลียน
แม้อังกฤษและรัสเซียจะร่วมมือกันในการโค่นล้มนโปเลียน และต่างก็เป็นสมาชิกสำคัญของคองเกรสแห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ร่วมกับออสเตรียและปรัสเซีย ในการจัดระเบียบดุลอำนาจใหม่ในยุโรป แต่สุดท้ายทั้งสองประเทศก็กลับมาขัดแย้งกันอยู่ดี อังกฤษแผ่อิทธิพลในอินเดีย ค่อยๆรุกขึ้นเหนือจากรัฐชายฝั่งทะเล ผนวกดินแดนอินเดียเป็นอาณานิคมมากขึ้น ขณะที่รัสเซียก็ขยายอำนาจลงใต้ ผนวกพื้นที่แถบเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) แล้วขยับเข้าสู่เอเชียกลาง (Central Asia) เหลือเพียงเปอร์เซีย (อิหร่าน) อัฟกานิสถาน และรัฐต่างๆในเอเชียกลาง อยู่ตรงกลางระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง
ในปี ค.ศ.1830 อังกฤษวางแผนขยายเส้นทางการค้าจากอินเดียไปยังรัฐเอมิเรตบูคารา (Emirate of Bukhara ปัจจุบันอยู่ในประเทศอุสเบกิสถาน) พร้อมกับส่งเสริมให้จักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกี) เปอร์เซีย อัฟกานิสถาน และรัฐอื่นๆในเอเชียกลางเป็นกันชน ในการปกป้องอินเดีย และขัดขวางไม่ให้รัสเซียแผ่อิทธิพลมาถึงอ่าวเปอร์เซียและมหาสมุทรอินเดียได้ เป็นการเริ่มต้น The Great Game อย่างเต็มรูปแบบ
แม้อังกฤษต้องการรวมกลุ่มประเทศและรัฐต่างๆให้มาร่วมกันต่อต้านรัสเซีย แต่สถานการณ์จริงๆกลับซับซ้อนกว่านั้นมาก แม้เปอร์เซียจะพึ่งพ่ายแพ้ในสงครามรัสเซีย-เปอร์เซีย (Russo-Persian War) ระหว่างปี ค.ศ.1826 – 1828 และต้องเสียดินแดนซึ่งปัจจุบันคือประเทศอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานให้รัสเซีย แต่แทนที่เปอร์เซียจะร่วมมือกับอังกฤษ เปอร์เซียกลับพยายามยึดแคว้นเฮราต (Herat) จากอัฟกานิสถานเพื่อมาทดแทนดินแดนที่เสียไปแทนในปี ค.ศ.1838 โดยรัสเซียให้การสนับสนุน แต่อังกฤษเข้าแทรกแซง ส่งผลให้เปอร์เซียต้องถอนทหารออกไปในที่สุด
แม้อิทธิพลของอังกฤษจะมีส่วนช่วยให้เปอร์เซียต้องถอนทหารออกไปจากอัฟกานิสถาน แต่อัฟกานิสถานก็ยังไม่ยอมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ โดยตั้งเงื่อนไขว่าอังกฤษต้องสนับสนุนอัฟกานิสถานยึดดินแดนที่เคยสูญเสียให้จักรวรรดิสิกข์ (Sikh Empire) กลับคืนมาก่อน เมื่ออังกฤษไม่ยอม อัฟกานิสถานก็แสดงท่าทีว่าจะไปเข้าข้างรัสเซียแทน อังกฤษจึงตัดสินใจบุกอัฟกานิสถานเสียเอง เกิดสงครามอังกฤษ-อัฟกันครั้งที่ 1 (First Anglo-Afghan War) ระหว่างปี ค.ศ.1839 – 1842 แม้อังกฤษจะสามารถยึดครองพื้นที่สำคัญๆในอัฟกานิสถานได้ แต่ก็ต้องเผชิญสภาพอากาศที่เลวร้ายและสงครามกองโจร จนต้องถอนทหารออกไปในที่สุด ระหว่างที่สงครามในอัฟกานิสถานดำเนินไปอยู่นั้น อังกฤษก็เข้าไปมีบทบาทในการเจรจาให้ข่านแห่งคิวา (Khanate of Khiva) ปลดปล่อยทาสชาวรัสเซีย เพื่อไม่ให้รัสเซียใช้เป็นข้ออ้างเข้ามารุกราน

(Victor Surridge, Illustrations by A.D. Macromick)
สถานการณ์ในเอเชียกลางสงบลงไปพักหนึ่ง เพราะมหาอำนาจต่างหันไปให้ความสนใจสถานการณ์ภายในจักรวรรดิออตโตมันที่กำลังเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่สงครามไครเมีย (Crimean War) ระหว่างปี ค.ศ.1853 – 1856 รัสเซียประสบความสูญเสียอย่างหนัก ประกอบกับเกิดกบฏในแถบเทือกเขาคอเคซัสและคาซัคสถาน จึงไม่สามารถแผ่อิทธิพลในเอเชียกลางได้ระยะหนึ่ง ขณะที่อังกฤษก็เข้าไปปกป้องอัฟกานิสถานจากการรุกรานของเปอร์เซียอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้อัฟกานิสถานอ่อนแอลงไปมาก จึงยอมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษในที่สุด แต่ทว่าก่อนที่อังกฤษจะมีโอกาสแผ่อิทธิพลในเอเชียกลางเพิ่มเติม ในปี ค.ศ.1857 ก็เกิดกบฏซีปอย (Sepoy Mutiny) ในอินเดียเสียก่อน หลังจากทั้งรัสเซียและอังกฤษปราบกบฏภายในพื้นที่ของตนได้แล้ว ทั้งสองประเทศก็หันความสนใจไปร่วมมือกับมหาอำนาจอื่นๆแบ่งผลประโยชน์ในจีนช่วงหลังสงครามฝิ่น (Opium War) เป็นหลัก จึงไม่มีความเปลี่ยนแปลงในเอเชียกลางมากนัก จนกระทั่งรัสเซียกลับมายึดพื้นที่ได้มากขึ้นในปี ค.ศ.1868 สุดท้ายอังกฤษและรัสเซียจึงทำการแบ่งเขตอิทธิพลกันในปี ค.ศ.1873 ให้อัฟกานิสถานอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของอังกฤษ ส่วนรัฐในเอเชียกลางถัดขึ้นไปทางเหนือให้อยู่ในเขตอิทธิพลของรัสเซีย
ในปี ค.ศ.1878 รัสเซียส่งคณะทูตมายังอัฟกานิสถานโดยไม่ได้รับเชิญ อัฟกานิสถานพยายามขัดขวางแล้วแต่ไม่สำเร็จ อังกฤษจึงกดดันอัฟกานิสถานให้ต้อนรับคณะทูตของอังกฤษบ้าง แต่อัฟกานิสถานปฏิเสธ อังกฤษจึงใช้ประเด็นนี้เป็นข้ออ้างทำสงครามอังกฤษ-อัฟกันครั้งที่ 2 (Second Anglo-Afghan War) คราวนี้อังกฤษเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ อัฟกานิสถานต้องเสียดินแดนบางส่วนให้อังกฤษและต้องยอมดำเนินนโยบายต่างประเทศตามที่อังกฤษกำหนด
ช่วงทศวรรษ 1880 รัสเซียผนวกดินแดนในเอเชียกลางมากขึ้น และในปี ค.ศ.1885 ก็เกิดการปะทะกับอัฟกานิสถานที่แคว้นปานจ์เดห์ (Panjdeh incident) เนื่องจากรัสเซียอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรัฐในเอเชียกลางที่รัสเซียผนวกดินแดนไปก่อนหน้านี้ ขณะที่อัฟกานิสถานอ้างว่าในอดีตคนในพื้นที่คอยส่งบรรณาการให้อัฟกานิสถานมาตลอด สุดท้ายอัฟกานิสถานต้องยอมเสียดินแดนดังกล่าวให้รัสเซีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเติร์กเมนิสถาน)
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศขึ้น สันนิบาตสามจักรพรรดิ (The League of the Three Emperors) ระหว่างเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และรัสเซียได้ล่มสลายลง รัสเซียหันไปพัฒนาความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสแทน ขณะที่อังกฤษก็หันไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1902
ระหว่างปี ค.ศ.1904 – 1905 เกิดสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย (Russo-Japanese War) ซึ่งสุดท้ายญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะ ส่งผลให้รัสเซียอ่อนแอลงไปมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1905 (Russian Revolution of 1905) ซาร์นิโคลัสที่ 2 (Nicholas II) ต้องทรงยอมปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ไม่มีเวลาสนใจการแผ่อิทธิพลภายนอกประเทศ The Great Game จึงผ่อนคลายความเข้มข้นลงไปมาก ระหว่างนี้อังกฤษก็เริ่มมองเยอรมนีเป็นภัยคุกคามหลักแทนที่รัสเซีย อังกฤษจึงทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัสเซียด้วย เปิดทางให้อังกฤษสามารถเจรจากับรัสเซียได้ใกล้ชิดมากขึ้น
ในปี ค.ศ.1907 อังกฤษและรัสเซียทำข้อตกลงตัดแบ่งเปอร์เซียเป็น 3 ส่วน โดยรัสเซียยึดครองพื้นที่ทางเหนือ อังกฤษยึดครองพื้นที่ทางใต้ และมีพื้นที่อิสระตรงไว้เป็นกันชน รัสเซียและอังกฤษยังตกลงให้อัฟกานิสถานเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ เป็นพื้นที่กันชนระหว่างรัฐในเอเชียกลางที่ถูกรัสเซียผนวกดินแดนกับอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อมหาอำนาจทั้งสองสามารถแบ่งเขตอิทธิพลในเอเชียกลางได้อย่างสมบูรณ์ The Great Game ก็สิ้นสุดลง
สวัสดี
31.07.2021